ฟังเสียงประชาชน การรถไฟฯชี้แจงปรับแบบรถไฟทางคู่-ไฮสปีดโคราช

สถานีรถไฟ

เมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐพาดผ่านไปที่ไหน นำมาซึ่งความเจริญควบคู่ไปกับผลกระทบต่อวิถีชีวิตพื้นถิ่น

ก่อนหน้านี้ มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ตำบลโคกกรวด และตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ได้แสดงความเห็นและข้อเสนอให้มีการปรับแบบแปลนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น

งานนี้ “เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์” ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของการรถไฟฯให้ความสำคัญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนมาโดยตลอด

จุดโฟกัสอยู่ที่โครงการก่อสร้างทางรถไฟที่พาดผ่าน “ตำบลโคกกรวด-ตำบลบ้านใหม่” อำเภอเมืองนครราชสีมา มีการปรับปรุงรายละเอียดโครงการตามที่ได้หารือกับเทศบาลตำบลบ้านใหม่และจังหวัดนครราชสีมา

รถไฟรวมถึงผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนจะนำมาสู่รูปแบบการก่อสร้าง

ปัจจุบันพื้นที่ 2 ตำบล “โคกกรวด-บ้านใหม่” อยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งโครงการเต็มเส้นทางคือ กรุงเทพฯ-หนองคาย โดยตัดเฟส 1 มาทำก่อนช่วงกรุงเทพฯ-โคราช

กับอีกโครงการที่อยู่ในแผนเตรียมก่อสร้างคือ รถไฟทางคู่ เฟส 1 มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยจุดเกิดเหตุอยู่ที่ “สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ” ซึ่งการรถไฟฯได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านใหม่ ที่ต้องการให้ปรับรูปแบบโครงสร้างทางรถไฟแล้ว

เสียงประชาชน 2 ตำบลได้ยินมาถึง “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ซึ่งจัดทริปลงพื้นที่โคราชเรียบร้อยแล้ว โดยมีข้อสรุปเบื้องต้นว่า สามารถปรับเพิ่มขนาดความสูงของทางลอดให้มากขึ้นได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

จากเดิมความสูงของทางลอด 3.5 เมตร ปรับเพิ่มความสูงเป็น 4-5 เมตร เพื่อให้ยานพาหนะขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านใช้งานได้

ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างจากการยกระดับแบบคันดินเป็นการยกระดับแบบตอม่อนั้น การรถไฟฯรับเรื่องไว้พิจารณา

ทั้งนี้ เหตุผลหลักสำหรับข้อเสนอปรับเปลี่ยนทางเทคนิคทำให้การพิจารณารูปแบบของโครงสร้างทางรถไฟที่เหมาะสมจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมอย่างน้อย 3 ด้าน คือ “ด้านวิศวกรรม ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การเงิน”

รถไฟ

ยังมีด้านที่ 4 คือ “ความเหมาะสมในการลดผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ในระยะยาว”

ด้านที่ 5 “ผลกระทบในภาพรวมอันจะเกิดต่อผู้ใช้บริการรถไฟ” เช่น ไทม์ไลน์เปิดให้บริการที่อาจล่าช้าออกไปถ้ามีการปรับแบบ

และด้านที่ 6 “กรอบงบประมาณของโครงการก่อสร้างที่ต้องเพิ่มเติมขึ้น” โดยรถไฟความเร็วสูงได้ลงนามสัญญาแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นต้น

บรรทัดสุดท้าย ร.ฟ.ท.ย้ำว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพิจารณาในมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่นักการเมืองที่ต้องฟัง ข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจยิ่งต้องรับฟัง

เพราะเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย