คมนาคม แจง 3 แนวคิด MR-Map ชูใช้ประโยชน์ตามภูมิศาสตร์ของประเทศ

กระทรวงคมนาคมชี้แจงข้อเท็จจริงการพัฒนาแผนพัฒนาโครงข่ายตามแผนแม่บท MR–Map โดยมี 3 แนวทาง 1.แก้ปัญหาระบบคมนาคมในอดีต 2.สร้างอนาคตการขนส่ง 3.วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาในอดีตและป้องกันปัญหาในอนาคต

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ตามที่ได้มีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น กระทรวงคมนาคมขอชี้แจงกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนแม่บท MR-Map ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีการวางกรอบไว้ 3 แนวทาง

(1) แก้ปัญหาของประเทศในระบบคมนาคมขนส่งที่มีมาในอดีต ที่มีการพัฒนาถนนเข้าไปสู่ชุมชน ทำให้เกิดการปะปนกันของรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อการขนส่ง และรถส่วนบุคคลที่สัญจรในเมือง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเกิดการพังเสียหายของถนนที่รัฐจะต้องเสียงบประมาณซ่อมบำรุงเป็นจำนวนมาก

(2) สร้างโอกาสสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบเชื่อมภูมิภาคในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

(3) เป็นการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกต้องแก่ประเทศไทยอย่างเป็นระบบ เป็นทั้งการแก้ปัญหาอดีต และป้องกันปัญหาในอนาคต

โดยแผนแม่บท MR-Map นั้นเป็นการวางแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของประเทศ จะพัฒนาตามดีมานด์ที่เกิดขึ้น โดยจะต้องวางแผนพร้อมกัน เพื่อจะได้ลดความซ้ำซ้อนของโครงการ แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน ซึ่งจะเน้นให้ลดการลงทุนของภาครัฐให้เหลือแต่เฉพาะค่าเวนคืนที่ดิน และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาเส้นทางถนนมอเตอร์เวย์ พัฒนาเส้นทางรถไฟ และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบ ๆ โครงการ MR-Map

ตัวอย่างโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตามกรอบแผนแม่บท MR-Map ได้แก่ โครงการ Landbridge ที่รัฐบาลจะไม่ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินภาษีของประชาชน แต่จะทำการศึกษาเชิง Concept ทางธุรกิจและการออกแบบในกรอบที่เรียกว่า Definitive Design ให้มีข้อมูลเพียงพอก่อนที่จะออกเชิญชวน Roadshow ให้กลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนผู้ประกอบการ ด้าน Logistics ทั้งในและต่างประเทศระดับโลก ให้เห็นถึงโอกาส เพื่อเชิญชวนมาเป็นผู้ลงทุนทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารธุรกิจการขนส่งโลจิสติกส์ของโครงการ

ซึ่งรวมถึงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่หลังท่าเรือ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านอื่น ๆ รวมไปถึงศึกษาวางรูปแบบการพัฒนาเชิงธุรกิจ เช่น ศูนย์กลางการบริการธุรกิจ ศูนย์กลางการค้า และศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนและนักธุรกิจ รวมถึงสายเดินเรือต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ มาประกอบกิจการในประเทศไทย โดยรูปแบบการลงทุนโครงการจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ที่เปิดโอกาสให้ทั้งนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมกันพัฒนาโครงการ

รูปแบบการลงทุนในลักษณะนี้ จะใช้เป็นหลักการในการพัฒนา MR-Map ในเส้นทางอื่น ๆ โดยใช้กลไกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเหนียวนำการพัฒนาเมืองควบคู่กันไป ซึ่งรูปแบบการใช้เขตทางของรูปแบบการขนส่งทางรางและถนนนั้นมีการดำเนินการทั่วไปในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งก็ได้มีการวางโครงข่ายทางรถไฟและมอเตอร์เวย์อยู่ด้วยกันเป็นเรื่องปกติ