นักวิชาการจุฬาฯ โชว์ผลวิจัย โพรไบโอติกจุลินทรีย์ทางเลือกเพิ่มความปลอดภัยอาหาร

“โพรไบโอติก” และ “พรีไบโอติก” กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เราจะเห็นว่ามีโพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์นม โยเกิร์ต อาหารเสริมต่างๆ ซึ่งโพรไบโอติกช่วยเสริมสร้างระบบการทำงานที่ดีในลำไส้ให้มีความสมดุล เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีแข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีการนำโพรไบโอติกมาใช้ในวงการปศุสัตว์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์

โพรไบโอติกและพรีไบโอติก มีคำที่เหมือนกันคือ ไบโอติก จึงมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต หากอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น “โพรไบโอติก” เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เราเรียกว่าแบคทีเรีย โดยจะทำหน้าที่ในการปรับสภาพ ให้มีความสมดุล ส่งผลให้ร่างกายมีความแข็งแรง หรือเป็นการเติมเชื้อที่มีประโยชน์ให้กับร่างกายนั่นเอง ส่วน “พรีไบโอติก” คือ สารอาหารของกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยาก มักจะผสมอยู่ในอาหารอยู่แล้ว แต่บางกรณีอาจมีการเพิ่มเติมพรีไบโอติกสำหรับเป็นอาหารของโพรไบโอติก เพื่อช่วยสนับสนุนในการสร้างสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ได้มีการประยุกต์ใช้ทั้งกับคนและสัตว์ เป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างแพร่หลายเกือบทุกวงการ รวมทั้งภาคปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก หรือสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จนถึงช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะและลดอัตราเชื้อดื้อยา เพิ่มความปลอดภัยอาหาร ส่งผลให้แนวโน้มของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่นำโพรไบโอติกมาใช้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัย “Use of Lactobacillus plantarum (strains 22F and 25F) and Pediococcus acidilactici (strain 72N) as replacements for antibiotic-growth promotants in pigs” โดยทีมนักวิชาการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Scientific Report โดยงานวิจัยค้นพบโพรไบโอติกที่มีคุณลักษณะที่ดี มีความทนทาน และไม่ส่งต่อยีนดื้อยา เมื่อนำมาทดลองใช้กับฟาร์มเลี้ยงสุกร พบว่าโพรไบโอติกช่วยเพิ่มน้ำหนักสุกร มีสุขภาพแข็งแรง ลดอัตราการเจ็บป่วย ช่วยลดหรือทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะได้ ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต แต่ยังทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ลดลงอีกด้วย

ข้อดีของการนำโพรไบโอติกมาใช้ในการเลี้ยงปศุสัตว์มีหลายด้านด้วยกัน ประการแรก โพรไบโอติกจะเข้าไปสร้างสารที่มีประโยชน์กับเซลล์ลำไส้ ช่วยเสริมให้มีการดูดซึมแร่ธาตุได้ดีขึ้น และมีการสร้างกรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acids) ได้ดีขึ้น เราเรียกสารเหล่านี้ว่า โพสไบโอติก ซึ่งเป็นสารมหัศจรรย์ช่วยให้ร่างกายสามารถสื่อสารกับอวัยวะต่างๆ ประสานได้อย่างสอดคล้องสมดุลกันภายใน ดังนั้น การที่มีเชื้อที่สมดุลอยู่ในลำไส้ หรือมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มากกว่าหรือสามารถควบคุมจุลินทรีย์ที่เป็นโทษได้ จะช่วยให้คนหรือสัตว์มีสุขภาพที่ดีกว่ากลุ่มคนที่มีเชื้อไม่สมดุล ประการต่อมา การที่สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง  สามารถต้านทานโรคได้ ไม่ป่วยง่าย ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ จึงช่วยลดการเกิดเชื้อดื้อยาได้ เนื่องจากโพรไบโอติกจะช่วยลดการส่งผ่านยีนดื้อยาของแบคทีเรีย สามารถลดปริมาณเชื้อที่ไม่ดีในร่างกายของสัตว์ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปลอดภัย และลดการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อม จึงกล่าวได้ว่าการใช้โพรไบโอติกมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร. ณุวีร์ ประภัสระกูล
รองคณบดีวิจัย นวัตกรรม และสื่อสารองค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย