“แชตคอมเมิร์ซ” ฝ่าพายุเศรษฐกิจ “ไลน์” เติมฟีเจอร์ติดปีก SME

ไลน์

LINE ประเทศไทย จัดงาน LINE THAILAND BUSINESS 2022 ในรูปแบบไฮบริดอีเวนต์ ภายใต้แนวคิด Navigating through the Turbulence with Customer-Centricity โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ มาอัพเดตสถานการณ์โลก เมกะเทรนด์ใหม่ ๆ รวมถึงแนะนำแนวทางในการปรับตัวให้อยู่รอด และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยง ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล”

“นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร” รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตโควิดผ่านไปแล้ว ที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยมีการปรับตัวมากมายให้สามารถอยู่รอดและเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง แต่ความท้าทายยังไม่หมด โดยเฉพาะจากวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัว ดังจะเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดหลายตัว สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังโตต่อเนื่อง และกำลังเดินเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดัชนีการพัฒนามนุษย์ (human development index-HDI) โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ให้ไทยเป็นประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูง (สูงกว่า 0.8) เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ขณะที่รายได้ต่อหัวเพิ่มต่อเนื่อง ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (income per capita) ใกล้แตะ 22,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 8 แสนบาท ทั้งยังกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในปีที่แล้ว แม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ติดอาวุธ SMEs ฝ่าแข่งดุ

“เลอทัด ศุภดิลก” ผู้อำนวยการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้บริโภคปัจจุบันซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันจนเป็นสิ่งปกติ โดยอีคอมเมิร์ซเติบโตก้าวกระโดดอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด จากที่ก่อนโควิดเคยโตเฉลี่ย 9% ต่อปี เพิ่มเป็น 63% และคาดว่าจะยังโตกว่า 86% ในอนาคต ซึ่งถ้าเจาะลงมาในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพบว่า ในปี 2020-2021 ประเทศไทยเติบโตเกือบ 2 เท่า มากกว่าประเทศอื่น ๆ และยังโตต่อในปี 2021-2022 แม้จะช้าลงบ้างก็ตาม

“สิ่งที่เราต้องการคือ การเอ็มพาวเวอร์ผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถแข่งขันได้ เพราะการแข่งขันบนอีมาร์เก็ตเพลซเป็นเกมของแพลตฟอร์มรายใหญ่ การไปขายบนนั้นผู้บริโภคไม่เห็นแบรนด์ของสินค้า ไลน์จึงน่าจะเป็นทางออก ทำให้ร้านค้าหรือเจ้าของแบรนด์มี own brand channel ของตนเอง”

การมี own brand channel จะ 1.เป็นช่องทางที่คนเลือกเมื่อต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ 2.ทำให้ร้านค้าสร้างฐาน fan base ของตนเองได้ และ 3.ทำให้เกิดการซื้อซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ดีกว่า เราจะทำให้เห็นมากขึ้นว่าจะเปลี่ยน fan base เป็นยอดขายได้อย่างไร

เพิ่ม 3 ฟีเจอร์ใหม่ปั๊มยอด

“แชตเป็นคีย์สำคัญที่ทำให้เกิดการซื้อขายได้ เราพบว่าคนเข้าเว็บ 10 คน อัตราการขายได้อยู่ที่ 3% แต่ถ้าแชตเข้ามาจะขายได้ถึง 45% และเมื่อลูกค้าได้ลองซื้อสินค้าแล้วโอเค ต่อไปเขาก็จะซื้อซ้ำในมูลค่าที่สูงขึ้นด้วย เรายังพบด้วยว่า ถ้ายิงโฆษณาออกไปในกลุ่มที่เป็น fan base อยู่แล้ว จะมีโอกาสซื้อมากถึง 20 เท่า ซึ่งที่ผ่านมา ร้านค้ามักใช้เงินไปกับการหาลูกค้าใหม่ แต่จากข้อมูลนี้ถามว่าจะดีกว่าไหมที่จะทำระบบให้เกิดการซื้อซ้ำได้ทาง own brand channel”

นายเลอทัดกล่าวด้วยว่า ปีหน้าไลน์จะเน้นการเพิ่มโอกาสในการซื้อซ้ำจากกลุ่มแฟนเบส และมี 3 ฟีเจอร์ใหม่ ได้แก่ 1.live commerce 2.gifting และ 3.share & earn ออกมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาดให้กับร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งแต่ละฟีเจอร์ได้ออกแบบ และพัฒนาขึ้นมาจากอินไซต์ของผู้บริโภค

“เราพบว่าสินค้าที่คนซื้อให้คนอื่นจะมีมูลค่า 2.4 เท่าของของที่ซื้อให้ตัวเอง จึงมองว่าการทำให้กลุ่มแฟนเบสที่รักในแบรนด์นั้น ๆ อยู่แล้ว ซื้อให้คนอื่นด้วยก็จะเพิ่มยอดขายได้มาก ส่วนฟีเจอร์แชร์แอนด์เอิร์น เกิดจากที่เราพบว่าคนที่เข้ามาที่เว็บเอง เทียบกับเพื่อนส่งลิงก์มามีอัตราการซื้อต่างกัน การแชร์ มีแนวโน้มซื้อมากกว่า 3 เท่า จึงคิดว่าจะดีกว่าไหมถ้ากระตุ้นพฤติกรรมเหล่านี้ เป็นการบูสต์ยอดขายผ่านการแชร์ บูสต์พฤติกรรมการบอกต่อสินค้าหมายความว่าสินค้าที่ขายบนไลน์แอด มีโอกาสซื้อขายได้มากขึ้น ขอแค่ดูแลลูกค้าให้ดีแล้วเราจะดูแลคุณเองให้เติบโต กลับมาซื้อซ้ำได้ง่าย ซื้อได้เร็ว และบอกต่อ”

รู้ทันเทรนด์โลกเปลี่ยนเร็ว

ภายในงานยังเชิญผู้บริหารจากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก “แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี” มาแชร์มุมมองเกี่ยวกับเมกะเทรนด์ที่ธุรกิจต้องจับตามอง และปรับตัวให้ทันว่ามีตั้งแต่การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การดูแลสุขภาพกับการกินอยู่ที่ดี โดยผู้บริโภคยินดีและยอมจ่ายเพิ่ม เช่น ซื้อถุงเพิ่มในร้านสะดวกซื้อ ขณะที่ช่องทางออนไลน์ได้กลายเป็นช่องทางหลักในการช็อปปิ้ง แม้คนจะยังช็อปปิ้งในศูนย์การค้า แต่เมื่อต้องตัดสินใจซื้อ หลายครั้งหันกลับไปหาข้อมูลเพิ่มในออนไลน์ ทั้งยังเปลี่ยนแบรนด์ง่ายขึ้น หากแบรนด์นำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจกว่า

“ดาลัด ตันติประสงค์ชัย” พาร์ตเนอร์แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี กล่าวว่า ผู้บริโภคยุคนี้คาดหวังที่จะได้รับการบริการ หรือการสื่อสารแบบ hyper personalization รับข้อมูลหรือพิจารณาสิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือตรงกับตนเองเท่านั้น และการใช้ social commerce ซื้อขายสินค้าเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงมากในเอเชีย เห็นได้จากมูลค่าในตลาดประเทศจีนที่สูงถึง 360 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนถึง 13.1% ของอีคอมเมิร์ซ ทั้งมองว่าสิ่งที่เห็นว่าจะเกิดในอนาคตอันใกล้ คือ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ การเกิดขึ้นของเมตาเวิร์ส และอาชีพใหม่ ๆ ที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เช่น อาชีพครีเอเตอร์ เป็นต้น

“แม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วและมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคที่ยังต้องการสินค้าและบริการพื้นฐาน ที่เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต แต่ธุรกิจจะต้องเพิ่มความรวดเร็ว ความสะดวกง่ายดายในการเข้าถึง และการนำเสนอที่ตรงใจ ซึ่งทำได้ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอด สร้างระบบนิเวศของธุรกิจให้เติบโตต่อ”

ใช้เทคโนโลยีเสริมเขี้ยวเล็บ

ผู้บริหาร “แมคคินซี่ฯ” ระบุด้วยว่า “เรากำลังอยู่ในยุคแห่งความไม่แน่นอน ทั้งทางเศรษฐกิจ เงินทุนสำรอง การใช้จ่าย และสภาพอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทาย โดยเฉพาะประเทศในเอเชียกำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูงของโลก ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมา ได้เห็นการเติบโตเชิงเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศเอเชีย ทั้งในเชิงรายได้ของบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยี การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงสินทรัพย์ทางปัญญาในโลกเทคโนโลยี ที่โตกว่า 87% นำไปสู่รายได้ประชากร และกำลังซื้อในการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

สำหรับประเทศไทย มีกำลังซื้อกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้น และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่าการบริโภคจะสูงถึง 4 แสนล้านเหรียญต่อปี และเอเชียจะเป็นภูมิภาคแห่งการเติบโต ทั้งด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด ดังนั้น ธุรกิจไทยจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม ใช้เทคโนโลยีให้เป็น เพื่อผลักดันธุรกิจ พร้อมรับการเติบโตที่กำลังเกิดขึ้น