NT โชว์เคส พัทยา นำร่องท่อร้อยสายใต้ดิน ปรับภูมิทัศน์เมือง

เอ็นที พาทัวร์โครงการท่อร้อยสายลงดินโชว์เคสเมืองพัทยา นำร่อง 16.3 กิโลเมตร เผยเบื้องหลังงานสำเร็จที่ทุกฝ่าย รัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่พร้อมให้ความร่วมมือ จากการเจรจาต่อเนื่อง และความแน่วแน่ของเมืองในการปรับภูมิทัศน์

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่โครงการเดินท่อร้อยสายไฟของเมืองพัทยา ที่ดำเนินการโดย บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 3 เส้นทาง และกำลังแล้วเสร็จในปี 2566 อีก 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 16.3 กิโลเมตร ได้แก่

1.ถนนพัทยาเหนือ ระยะทาง 2 กิโลเมตร

2.ถนนสุขุมวิท ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร

3.ถนนพัทยากลาง ระยะทาง 2.20 กิโลเมตร

4.ถนนพัทยาสาย 1 ระยะทาง1.80 กิโลเมตร

5.ถนนพัทยาสาย 2 ระยะทาง 1.70 กิโลเมตร

6.ถนนพัทยาสาย 3 ระยะทาง 4.10  กิโลเมตร

7.ถนนพัทยาใต้ ระยะทาง 2.70 กิโลเมตร และมีเส้นทางเพิ่มเติมของ กฟภ. อีก 2 เส้นทาง พัทยาสาย 3 เส้นทาง พัทยา เหนือ – พัทยากลาง ระยะทาง 3.31 กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่างลงนามในสัญญา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2566

ภาพลักษณ์-สวยงาม-ปลอดภัย

นายพงศกร  เหราบัตย์ รักษาการผู้จัดการฝ่ายขายและปฎิบัติการลูกค้าภาคตะวันออกตอนล่าง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยว่า เมื่อรวมเส้นทางเดินท่อที่ทำร่วมกันแล้วมีทั้งสิ้น 9 เส้นทาง หากทำแล้วเสร็จ “พัทยาจะไม่มีเสาไฟ” 

นายพงศกรกล่าวด้วยว่า ท่อร้อยสายในเมืองพัทยาเกิดจากความต้องการของ “เมืองพัทยา” ที่ต้องการปรับภูมิทัศน์รอบเมืองตั้งแต่ปี 2561 และเริ่มร่างกรอบกฎหมายให้โอเปอเรเตอร์ที่เป็นเจ้าของสายสื่อสาร และการไฟฟ้าที่เป็นเจ้าของสายไฟฟ้าต้องหาวิธีดำเนินการร่วมกัน 

“มีอยู่ 3 เรื่องที่เราได้ประโยชน์จากการทำโครงการนี้ คือ 1.ภาพลักษณ์ของเมือง 2.ความสวยงามของเมือง และ 3.ความปลอดภัยของเมือง ประเด็นที่สามนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเมืองพัทยาเป็นเมืองที่เกิดปัญหาไฟไหม้บ่อยครั้งหลังฝนตก ส่วนใหญ่เเล้วเกิดจากการระบายความร้อนของสายสื่อสารที่มีปัญหาหลังฝนตก ในระยะยยาวการนำสายไฟทั้งหมดลงดินย่อมทำให้เกิดความคุ้มค่าด้านความปลอดภัย รวมถึงรักษาอายุการใช้งานสายให้นานขึ้นด้วย”

บทเรียนการเจรจา

นายพงศกร กล่าวว่่า ความยากของการทำงานนี้คือการแสวงหารูปแบบที่เหมาะสมกับเมือง จากนั้นจะเป็นการเจรจาให้การออกแบบที่เหมาะสมนั้นเป็นธรรมกับทุกฝ่าย กระบวนการนี้ใช้เวลาจนถึงปี 2563 จึงได้รูปแบบ และทำให้เรารู้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป

“เมืองพัทยา มีโครงการตั้งแต่ปี 2561 ยังไม่ได้รูปแบบที่ชัดเจน ที่สำคัญคือ ค่าเช่าท่อ จึงมีการหารือกันต่อเนื่องจนได้ข้อสรุป โดยมี สมาคมโทรคม กสทช. โอเปอเรเตอร์ และเมืองพัทยา จนปี 2563 เริ่มดำเนินการ

“ส่วนต่อมาคือการ เจรจาสร้างความชัดเจนกับประชาชน อย่างเช่น ความกังวลของประชาชนที่เป็นลูกค้าของสายสื่อสารมีความกังวลเรื่องการใช้งานที่ไม่ต่อเนื่อง สะดุด กระทบกับธุรกิจในช่วงการนำสายลงดิน ก็มีการออกแบบวิธีการทำงานและเจรจาอย่างต่อเนื่องว่าประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะมีการเดินท่อใต้ดินและวางเทคโนโลยีสายและจุดเชื่อมต่อให้เสร็จก่อน แล้วจึงตัดสายที่แขวนบนอากาศลงดิน จึงแทบไม่มีปัญหาในการใช้งาน”

หลังจากการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ บมจ.โทรคมนาคม รวมถึงโอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมต่าง ๆ ที่สำคัญคือการพูดคุยอย่างต่อเนื่องกับประชาชน ร้านค้า ธุรกิจในเมืองพัทยาในการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้เกิดกรอบการดำเนินงานร่วมกัน ที่ทำให้เหล่าโอเปอเรเตอร์มีความยินดีร่วมนำสายสื่อสารลงดินโดยใช้ท่อร้อยสายของเอ็นที เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง

บมจ. เอ็นที ถือเป็นแม่งานในการจัดการท่อร้อยสาย เพราะท่อเดิมของมีมาตั้งแต่ก่อนการควบรวมกิจการ เป็นท่อของทั้ง CAT และ TOT ต่างก็ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการปรับปรุงท่อร้อยสายของตน ปัจจุบันในเส้นพัทยาเหนือ-ใต้ เดินท่อร้อยสายเสร็จแล้ว ส่วนที่เหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์คืองานสายไฟฟ้าของ กฟภ. และการนำเสาไฟออกเท่านั้น 

ดังนั้นในปี 2566 โครงข่ายท่อร้อยสายจะมีความสมบูรณ์ และทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถเลือกใช้ท่อหลักในการเดินสายสู่ลูกค้าได้ภายในปี 2567 ตามความต้องการของเมืองพัทยา

นายขจรพัฒน์  วรรณศิริ โทรคมนาคมเมืองพัทยา กล่าวว่า ค่าบริการเช่าท่อ ถือเป็น “กรอบของเมือง” ที่วางไว้ให้เท่ากันทุกโครงการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยผู้ใช้บริการหรือลูกค้าทั่วไปจะมีค่าบริการสาย 100 บาท/เดือน 

ในขณะที่โอเปอเรเตอร์ผู้เช่าท่อเดินสายหลัก (Main) จะมีค่าบริการ 965.5 บาท/เมตร/เดือน ซึ่งมีความยืดหยุ่น เพราะไม่จำเป็นต้องเดินสายตลอดแนวท่อ ใช้แค่บางจุดที่เชื่อมไปหาลูกค้าเท่านั้น ดังนั้นโอเปอเรเตอร์จึงออกแบบการเช่าได้ตามความคุ้มค่า และรูปแบบการเช่าจึงเปลี่ยนจากการเช่าเป็น “กิโลเมตร” เป็น “เมตร” และลดจากเกณฑ์มาตรฐานของ กสทช. ที่เดือนละ 12,000 บาท มาเหลือที่ 9,655 บาทต่อเดือน 

นอกจากนี้ยังมีระบบเช่า “จุดเชื่อมต่อ” หรือ Core 800 บาท/จุด/เดือน ยิ่งสร้างความยืดหยุ่นให้โอเปอเรเตอร์ เพราะบางจุดเเค่ลากสายจากอากาศลงมาก็เจอจุดเชื่อมต่อที่วางไว้เป็นระยะ 50-100 ม. บางครั้งจึงไม่ต้องเช่าท่อ Main ระยะไกล ๆ 

หนึ่งเมือง สองระบบ

ผู้สื่อข่าว รายงานด้วยว่า ท่อร้อยสายบริเวณถนนพัทยาใต้ เป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของ CAT มาก่อนที่จะมีการควบรวมกิจการ จึงมีการออกแบบหรือสเปกของท่อต่างจาก บริเวณถนนพัทยาเหนือที่ดูแลโดย TOT ดังนั้นภายในปี 2567 บมจ.เอ็นที ที่เกิดจากการรวมกันของสองบริษัทนี้เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ต้องบริหารจัดการท่อร้อยสาย 2 ระบบดังกล่าว รวมถึงบริหารจัดการทีมงานจาก 2 บริษัทด้วย

นายขจรพัฒน์ วรรณศิริ โทรคมนาคมเมืองพัทยา  อธิบายว่า การออกแบบระบบท่อร้อยสายที่ต่างกัน เกิดจากการออกแบบที่พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ใช้งาน ดังนั้นในอนาคตหากมีโครงการใหม่หรือการขยายเส้นทางท่อร้อยสาย จึงไม่ต้องกังวลเรื่องระบบที่ต่างกัน เพราะต้องวางระบบตามความเหมาะสมต่างกันไปอยู่แล้ว

นายขจรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล ประเภท ท่อ เสา สายโทรคมนาคม ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการปรับสภาพภูมิทัศน์เมืองสำคัญและเมืองท่องเที่ยว โดย NT ได้ก่อสร้างท่อร้อยสายและได้มีการนำสายสื่อสารลงดินเรียบร้อยแล้วหลายจังหวัด และจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วในบางเส้นทาง  

พร้อมกันนี้ NT ได้บูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า รวมทั้งปรับปรุงระบบสายสื่อสารของผู้ประกอบกิจการให้มีสายสื่อสาร

ปลายทางร่วมกันแบบ Single Last Mile โดยใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน พร้อมเปิดให้บริการแล้วในบริเวณเส้นทางถนนพัทยาเหนือ ระยะทาง 2 กิโลเมตร โดยทาง NT จะเป็นผู้ติดตั้งและบำรุงรักษาสายเคเบิลใยแก้วนำแสง และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการให้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต  

ชูศักยภาพ ลุยวางท่อร้อยสายทั่วประเทศ

นายพงศกรกล่าวอีกด้วยว่า ไม่ใช่แค่พัทยาเท่านั้น  NT มีความพร้อมจะเดินท่อร้อยสายทั่วประเทศระยะทางรวม 4,450 กิโลเมตร พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เดินหน้าโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน ลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ลดการลงทุนซ้ำซ้อน อวดโฉมถนนไร้สาย “พัทยาเหนือ จ.ชลบุรี” ปรับภูมิทัศน์เมือง ให้สวยงามเพิ่มศักยภาพและความปลอดภัยของโครงข่ายสื่อสาร

“ในฐานะที่เป็น Neutral Operator และ Neutral Last Mile Provider ของประเทศ มีศักยภาพความพร้อมที่สนับสนุนโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน”

โดยมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จหลายโครงการ ด้วยความพร้อมของท่อร้อยสายใต้ดินครอบคลุมทั่วประเทศระยะทางรวม 4,450 กิโลเมตร แบ่งเป็น นครหลวง 3,600 กิโลเมตร ภูมิภาค 850 กิโลเมตร และพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วประเทศ

รวมถึงการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน เพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ลดการลงทุนซ้ำซ้อน โดยผู้ประกอบการโทรคมนาคมลงทุนในโครงข่ายโทรคมนาคมหลัก (Core) และ NT เป็นผู้ลงทุนในส่วนโครงข่ายโทรคมนาคมปลายทาง (Last Mile) ทั้งแบบแขวนในอากาศและแบบที่อยู่ใต้ดิน

ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการในรูปแบบแขวนบนอากาศบริเวณพื้นที่ถนนนาคนิวาส กรุงเทพมหานคร ส่วนแบบ Single Last Mile ที่อยู่ใต้ดินได้มีการดำเนินการในหลายพื้นที่ เช่น ถนนพัทยาเหนือ (จ.ชลบุรี) ถนนอุดรดุษฎีและถนนโพธิ์ศรี (เทศบาลเมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี) ถนนข้าวสาร (กรุงเทพมหานคร) และมีแผนการดำเนินการอีกหลายพื้นที่

ในปี 2565 NT มีท่อร้อยสายที่ครอบคลุมพื้นที่ ในโครงการสำคัญต่าง ๆ ทั้งหมด 7 โครงการ รวมระยะทางทั้งสิ้น 449.19 กิโลเมตร ได้แก่

  1. โครงการปรับภูมิทัศน์เกาะรัตนโกสินทร์
  2. โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 12 เส้นทางในเขต กทม.
  3. โครงการมหานครแห่งอาเซียน  
  4. โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า 4 เมืองใหญ่  
  5. โครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 
  6. โครงการปรับสภาพภูมิทัศน์เมืองสำคัญและเมืองท่องเที่ยว  
  7. โครงการตามข้อตกลงความร่วมมือกับกองทัพเรือ  

สำหรับแผนงานในปี 2566 มีแผนการดำเนินการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน จำนวน 6 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งหมด 57.609 กิโลเมตร ได้แก่  

  1. โครงการความร่วมมือปรับปรุงท่อร้อยสายสื่อสารโทรคมนาคมและระบบสายนำสัญญาณใยแก้ว กับกองทัพเรือ ระยะทาง 15.745 กิโลเมตร  
  2. โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ถนนมีชัยช่วงตั้งแต่แยกดอนแดง ถึงตลาดวัดธาตุจังหวัดหนองคาย ระยะทาง 6.03 กิโลเมตร 
  3. โครงการก่อสร้างถนนรามคำแหง ช่วงที่ 2 ก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง จากคลองบ้านม้าถึงคลองบางชัน ระยะทาง 20.503 กิโลเมตร
  4. โครงการก่อสร้างถนนสุทธิสารวินิจฉัย (อินทามระ) บริเวณถนนพหลโยธิน ถึงถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง 1.39 กิโลเมตร
  5. โครงการก่อสร้างถนนเยาวราช บริเวณวงเวียนโอเดียน ถึงคลองโอ่งอ่าง ระยะทาง 1.44 กิโลเมตร
  6. โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์จังหวัดสุรินทร์ ระยะทาง 11.73 กิโลเมตร 

โดยแผนดำเนินการตามโครงการสำคัญ แบ่งเป็นนครหลวงและภูมิภาค รวมระยะทาง 399.7 กิโลเมตร

1.พื้นที่นครหลวง รวมระยะทาง 188.50 กิโลเมตร ได้แก่

โครงการปรับปรุงทางเท้าร่วมกับกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 เส้นทาง โดยมีเส้นทางเร่งด่วน 2 เส้นทาง คือ ถนนเยาวราชช่วงจากวงเวียนโอเดียนถึงคลองโอ่งอ่างและถนนสุทธิสารวินิจฉัย (อินทามระ) ช่วงถนนพหลโยธินถึงถนนวิภาวดีรังสิต

โครงการเคเบิลลงดินโดยไม่มีสภาพบังคับ จำนวน 12 เส้นทาง ระยะทาง 48.70 กิโลเมตร 

โครงการมหานครอาเซียน จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทาง 127.30 กิโลเมตร 

โครงการรักษ์คูเมืองเดิม จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 1.50 กิโลเมตร

โครงการปรับภูมิทัศน์คูน้ำวิภาวดีรังสิต จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 11 กิโลเมตร 

2.พื้นที่ภูมิภาค รวมระยะทาง 211.2 กิโลเมตร ได้แก่

โครงการ 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 74 จังหวัด จำนวน 76 เส้นทาง ระยะทาง 80.10 กิโลเมตร

โครงการปรับสภาพภูมิทัศน์ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะทาง 40.00 กิโลเมตร

โครงการตามข้อตกลงความร่วมมือกับกองทัพเรือ จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทาง 22.60 กิโลเมตร

โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า 4 เมืองใหญ่ เป็นการนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะทางรวมจำนวน 68 เส้นทาง 68.50 กิโลเมตร ได้แก่ นครราชสีมา หาดใหญ่ (ถ.ธรรมนูญวิถี) เชียงใหม่ และ พัทยา (พัทยาเหนือ)

ศักยภาพความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานท่อร้อยสายใต้ดินของ NT ที่ครอบคลุมทั่วประเทศจะเป็นกำลังหลักในการช่วยจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง และช่วยปรับสภาพภูมิทัศน์บ้านเมืองให้มีสภาพเรียบร้อยสวยงามแล้ว ยังช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน หรือ Infrastructure Sharing ทั้ง Telecom Infrastructure และ Digital Infrastructure  ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ