ปลุกธุรกิจปรับตัวรับโอกาส 5G บูมศก.ไทย-แนะรัฐวางแผนจัดสรรคลื่น

5G มาแน่ “กสทช.” พร้อมจัดสรรคลื่นรองรับ ย้ำทุกธุรกิจต้องเตรียมปรับตัว ขณะที่ภาครัฐต้องช่วยหนุนให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ ฟาก “หัวเว่ย” คาดภายในปี 2578 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ดันเศรษฐกิจโลกโต 12.3 ล้านล้านเหรียญ ด้าน “อีริคสัน” เผยผู้บริโภคคาดหวังสูงกับ 5G “ควอลคอมม์” ย้ำรัฐต้องวางแผนจัดสรรคลื่นด่วน

พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมาก อีกไม่กี่ปี 5G จะเข้ามาส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในการใช้ชีวิตและธุรกิจจึงต้องเตรียมรับมือให้ทัน ซึ่งการจัดสรรคลื่นใหม่เป็นหน้าที่ของ กสทช. ขณะที่ผู้ใช้บริการต้องรู้ให้ทัน คิดให้ทันในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ให้ประเทศล้าหลัง

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลายประเทศเริ่มวางแผนสำหรับ 5G แล้ว อย่างญี่ปุ่นวางแผนเริ่มทดลองใช้ในเดือน ส.ค. 2562 เพื่อใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียว ในปี 2563 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับประเทศไทย กสทช.ได้เตรียมจัดสรรคลื่นรองรับ 5G แล้ว ทั้ง 1800 MHz ที่จะหมดสัมปทาน และคลื่น 26000 MHz ซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จะใช้เป็นคลื่นมาตรฐาน 5G

“5G จะทำให้สปีดเพิ่มจากปัจจุบัน 30-100 เท่า ความเสถียรของระบบจะมีมากขึ้น และจะทำให้มี 4 เทคโนโลยีเข้าสู่ประเทศไทยแน่นอน คือ IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์), AI ปัญญาประดิษฐ์ที่จะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่าง ๆ, VR เทคโนโลยีความจริงเสมือน และ AR เทคโนโลยีความจริงแบบแต่งเติม สิ่งที่จะได้เห็นแน่ คือการซื้อของออนไลน์ เช่น เสื้อผ้าลองใส่ได้ที่บ้าน ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เกิดขึ้นได้จริงแน่ภายในปี 2563 ดังนั้นประชาชนและธุรกิจต้องเตรียมรับมือกับโลกเศรษฐกิจใหม่”

สำหรับ 10 อุตสาหกรรมที่ต้องเตรียมรับมือ คือ 1.ภาคการเงินการธนาคาร 2.ภาคอุตสาหกรรม 3.การเกษตร 4.การขนส่ง 5.สาธารณสุขและการแพทย์ 6.การท่องเที่ยว 7.การทำงานแบบเทเลเวิร์ก 8.การค้าปลีก 9.โทรทัศน์และสื่อ 10.ภาครัฐ

“ทุกอุตสาหกรรมรวมถึงพนักงานต้องปรับตัวเพิ่มทักษะ โดยเฉพาะภาครัฐต้องไม่ใช่แค่องค์กรกำกับ หน่วยงานออกกฎกติกาเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนปรับตัวเดินหน้าได้ ซึ่งนโยบายรัฐไม่ต้องการให้เกิดการอพยพแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองหลวงอย่างเดียว แต่ต้องการให้มีการสร้างงานในท้องถิ่น วันนี้รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร เพราะเทคโนโลยีเป็นผู้ผลักดันให้เกิดอาชีพ เกิดงานในบ้านเกิดได้จริงด้วย 5G เป็นการคืนความสุขให้คนไทยได้อย่างแท้จริง”

ขณะที่นายหลู ลี่ หมิง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและธุรกิจ 5G บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด กล่าวว่า ไทยกำลังเปลี่ยนจากเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปสู่นวัตกรรม จึงจำเป็นต้องใช้ศักยภาพของไอซีทีในทุกอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ ตั้งแต่การเกษตร สุขภาพ ภาคการผลิต ยานยนต์ บริการสาธารณูปโภค โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2578 เทคโนโลยี 5G จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยได้ 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนเป็น 4.56% ของ GDP ในประเทศ

โดยมาจากภาคการผลิตมากที่สุด 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภาคการเกษตร 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 25.2% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยเป็นผลลัพธ์จาก 5G

ขณะที่ทั่วโลก 5G สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 12.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 4.6% ของ GDP เป็นมูลค่าในส่วนของ 5G value chain 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เกิดการจ้างงาน 22 ล้านตำแหน่งงาน

นายโจวตงเฟย หัวหน้าฝ่ายผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี 5G หัวเว่ย เสริมว่า ในกลางปีนี้จะมีการประกาศมาตรฐานบริการ 5G และเริ่มให้บริการสมบูรณ์ในปี 2562-2563 โดยจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่โทรคมนาคม แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีคลื่นความถี่รองรับ โดยต้องมีแบนด์วิดท์มากขึ้น

“C-Band สำคัญสุดสำหรับ 5G โกลบอลโรมมิ่ง คือย่าน 3.5-3.7 GHz เพราะมีแบนด์วิดท์มาก คลื่นไมโครเวฟ รวมถึงคลื่น 3G ทั้งต้องมีพื้นที่สำหรับติดตั้งสถานีฐาน เสารับสัญญาณมากขึ้น ซึ่งในเยอรมนีจะมีการตั้งคณะทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ”

ด้านนายวุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ หัวหน้าฝ่าย Network Solutions บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคส่งผลให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ 1.6 ล้านเครื่องต่อวัน ยอดดู 5 พันล้านวิดีโอบนยูทูบต่อวัน การซื้อขายอีคอมเมิร์ซ 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน ล้วนส่งผลให้ความต้องการใช้ดาต้าเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าระหว่างปี 2560-2563 จะเติบโตมากกว่า 8 เท่า

“แต่ความคาดหวังของลูกค้า 57% คืออยากจ่ายเท่าเดิม แต่บริการดีขึ้น 6 ใน 10 ลูกค้าคิดว่าต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อใช้งาน และเชื่อว่า 5G จะทำให้เกิดบริการใหม่ ๆ”

นายอเล็กซ์ ออเร้นจ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการรัฐบาล ไต้หวัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก บริษัท ควอลคอมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ กล่าวว่า ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า บรรดาโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ของโลกเริ่มขยายโครงข่าย 5G เชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ขณะที่ในปี 2563 ทั่วโลกจะมีการใช้สมาร์ทโฟนราว 58% และควอลคอมม์ฯจะเปิดชิปเซต 5G สำหรับใช้เชิงพาณิชย์ของสมาร์ทโฟนตัวแรก

“สิ่งที่จำเป็นต้องเตรียมรับมือคือการหารือของภาครัฐในการจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งในส่วน low band mid band และ high band เพื่อรองรับทั้งในส่วนของสปีดและความครอบคลุม ที่สำคัญคือต้องรองรับทั้ง 4G และ 5G เพราะเป็นเทคโนโลยีที่คอยซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน โดยหวังว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ทันการ ซึ่งควรจะวางแผนให้พร้อมเริ่มต้นให้บริการภายใน 1 ปี”