เทรนด์วิดีโอออนไลน์ ดันธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์โต 3 หมื่นล้านบาท/ปี

Telehouse

Telehouse เผยยุค 5G และกระแสคอนเทนต์วิดีโอแย่งพื้นที่การใช้ข้อมูล 80% ดันรายได้ศูนย์ข้อมูลพุ่ง 500 ล้านบาท ใน 5 ปี ลุยตั้งศูนย์ข้อมูลใหม่กลางกรุงเทพฯ พร้อมใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดในปี 2569

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นายเคอิจิ โมริ รองกรรมการผู้จัดการ และกรรมการ บริษัท เค ดีดี ไอ คอร์ปอร์เรชัน บริษัทแม่ของ Telehouse ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูล (Data center) 45 แห่งทั่วโลก เปิดเผยว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงด้านการบริการที่เก็บข้อมูลอย่างมาก เนื่องจากเกิดการใช้เทคโนโลยี 5G ที่เริ่มต้นอย่างโดดเด่นในช่วงปี 2563 แบ่งเป็นสองส่วน คือ ยุคแห่งไอโอทีและข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อีกส่วนคือ คลาวด์ และคอนเทนต์ เรียกว่ายุคแห่งความรุ่มรวยของคอนเทนต์

สิ่งสำคัญคือในปี 2560 ปริมาณการก่อให้เกิดข้อมูลบนระบบอินเทอร์เน็ตมีวิดีโอแย่ง Trafic ข้อมูลมากถึง 75% ในขณะที่ปี 2565 ที่ผ่านมา วิดีโอแย่งความหนาแน่นของการถ่ายโอนข้อมูลมากถึง 82% จากความนิยมคอนเทนต์เกี่ยวกับวิดีโอที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การถ่ายโอนและกักเก็บข้อมูลที่เกิดจากการใช้งานคอนเทนต์วิดีโอทำให้ศูนย์ข้อมูลมีความสำคัญมากขึ้น

ในตลาดผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูล ประเมินว่าในช่วงปี 2564-2569 การเติบโตจะมากถึง 519.34 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยปีละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (33,000 ล้านบาท) ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายบริการไปตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อให้บริการแก่บริษัทโทรคมนาคม บันเทิง หรือบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ

“เราบริการ ตลาดใหม่ที่เราเล็งคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพื้นที่สำคัญคือประเทศไทยแห่งนี้”

ด้าน นายเคน มิยาชิตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทเลเฮ้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่จะอยู่ในที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ใจกลางเมือง ทำให้ Telehouse ประเทศไทย เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่ทำให้สามารถใช้งานเครือข่ายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ และเรามีความพร้อมที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์ใน ภูมิภาคแห่งนี้ และสนับสนุนการพัฒนาสังคมดิจิทัลของประเทศไทยและภูมิภาคต่อไป

ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐในขณะที่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ก็อยู่ใจกลางภูมิภาค

อีกทั้งประเทศที่เคยเป็นศูนย์รวมของศูนย์ข้อมูล โดยเฉพาะพวกคอนเทนต์มักจะถูกเก็บไว้ที่สิงคโปร์ แต่ทางสิงคโปร์ไม่อยากให้มีศูนย์ข้อมูลอีกแล้ว เนื่องจากเป็นเกาะเล็กที่ต้องบริหารจัดการพลังงานที่มีจำกัด นี่จึงเป็นโอกาสของไทย

ดังนั้น Telehouse จึงได้ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศไทย โดยตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 9 ในกรุงเทพฯ ด้วยเงินลงทุน 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.5 พันล้านบาท โดยตาต้าเซ็นเตอร์แห่งนี้มุ่งที่จะเป็นศูนย์ร่วมในการเชื่อมต่อภายในภูมิภาคและทั่วโลก และยังเป็นดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2569

Telehouse เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก ที่ได้ขยายการเติบโตมายังกรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นดาต้าเซ็นเตอร์แรกในประเทศไทย เป็นแห่งที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก Telehouse ทั้งหมด 15 แห่งทั่วโลก Telehouse ประเทศไทยมีพื้นที่อาคารกว้างขวางถึง 9,000 ตร.ม. พร้อมด้วยกำลังการรับไฟฟ้าสูงสุด 5.5 เมกะโวลต์แอมแปร์ (MVA)

นอกจากนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งใจกลางกรุงเทพฯ ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งนี้ยังมุ่งเป็นผู้นำการเชื่อมต่อโครงข่าย โดยตั้งเป้าเป็นตัวเซ็นเตอร์ที่เป็นศูนย์รวมอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอื่น ๆ เช่นคลาวด์และคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้เยี่ยมต่อกัน ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนการรับส่งข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ให้ถึงผู้ใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากเป้าหมายในการพัฒนาและส่งเสริมระบบโครงข่ายในประเทศไทย Telehouse ยังเล็งเห็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าเป็นดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายทั่วโลกของ Telehouse ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2569

ปัจจุบัน Telehouse ประเทศไทย มีพันธมิตรแล้วมากกว่า 10 ราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม คลาวด์ หรือผู้ให้บริการคอนเทนต์ รวมถึงพาร์ตเนอร์ที่ส่งมอบโซลูชั่นให้ลูกค้าองค์กร