จีเอเบิล แตกบริษัทลูก ชิงเค้ก ไซเบอร์ซีเคียวริตี้

สุธี อัศวสุนทรางกูร

“จีเอเบิล” ขยายโอกาสทางธุรกิจ สปินออฟ “ไซเบอร์จีนิคส์” บริษัทลูกด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ หลังตลาด “Cybersecurity” ในไทยโตแรงทะลุหมื่นล้าน

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) (G-Able) กล่าวว่า การเติบโตและขยายตัวของเทคโนโลยี ส่งผลให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์เติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่ง Cybersecurity Ventures องค์กรด้านการวิจัยและเก็บรวบรวมสถิติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2031 การโจมตีทางไซเบอร์จะเกิดขึ้นทุก ๆ 2 วินาที ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ไม่ใช่สิ่งที่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป

สุธี อัศวสุนทรางกูร
สุธี อัศวสุนทรางกูร

“เทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และเป็นตัวช่วยที่สร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้กับภาคธุรกิจ ด้วยความมุ่งมั่นของจีเอเบิลในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยในยุคดิจิทัล นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราตัดสินใจ spin-off ธุรกิจเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์มาเป็นบริษัทย่อยอย่าง ‘ไซเบอร์จีนิคส์’ เพื่อขยายศักยภาพในการบริการลูกค้ากลุ่มธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ”

ด้าน นายสุธี อัศวสุนทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ จำกัด (Cybergenics) กล่าวว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) มีความสำคัญต่อภาครัฐและเอกชนมาก เพราะภัยคุกคามทางไซเบอร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การวางระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ซึ่งโซลูชั่นของไซเบอร์จีนิคส์จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรต่าง ๆ ได้

“ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเติบโตทางธุรกิจผ่านการทำ digital transformation อย่างปลอดภัย ซึ่งบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเราที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านโซลูชั่นจากพันธมิตรที่ได้รับการยอมรับในภาคธุรกิจ จะช่วยให้การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ไซเบอร์จีนิคส์ เป็นบริษัทผู้ให้คำปรึกษาและให้บริการ Cybersecurity Solution ที่มีการ spin-off มาจากจีเอเบิล ก่อตั้งเมื่อเดือน ส.ค. 2565 โดยมีกรอบการทำงานภายใต้แนวคิด “Cybersecurity in Every DNA” เน้นปฏิบัติการเชิงรุกให้ก้าวทันทุกความเปลี่ยนแปลง เพื่อออกแบบและวางแผนโซลูชั่นต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย บริการ Cybersecurity Solution ของไซเบอร์จีนิคส์ แบ่งเป็น 7 ส่วน ดังนี้

1. Infrastructure Security Protection : เพิ่มความปลอดภัยให้กับ IT Infrastructure ด้วยเทคโนโลยีในการป้องกันและตรวจจับ เพื่อตอบโต้ ภัยคุกคามขั้นสูง และรับมือกับพฤติกรรมที่ผิดปกติในองค์กร

2. Industrial Control System Security : เสริมขอบเขตการมองเห็นให้กับ ICS Infrastructure เพื่อกำหนดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการป้องกันการโจมตี โดยไม่สร้างผลกระทบต่อระบบการทำงาน

3. Cloud Security Protection : เพิ่มการมองเห็นอย่างครอบคลุม และกำหนดการเข้าถึงที่ถูกต้อง เพื่อปกป้อง Cloud Environment ทุกประเภทจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

4. Endpoint Protection : เสริมการป้องกันให้อุปกรณ์ปลายทาง เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างปลอดภัยจากอุปกรณ์ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์กร

5. Identity Security Management : ระบุตัวตน และกำหนดสิทธิการเข้าถึงของผู้ใช้งานให้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้งานที่มีสิทธิสูง เพื่อปกป้องทรัพยากรขององค์กรจากการสร้างความเสียหายโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

6. Data Security : ปกป้องข้อมูลที่เสียหายจากการโจมตีทางไซเบอร์ หรือการถูกโจรกรรมข้อมูล ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะกำลังอยู่ระหว่างการใช้งานหรือถูกเก็บรักษาไว้ที่ใดก็ตาม

7. Security Event Management and Monitoring : เชื่อมต่อข้อมูลจากเทคโนโลยีในการตรวจจับที่หลากหลาย เพื่อวิเคราะห์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ พร้อมทั้งเสริมความสามารถในการมองหาภัยคุกคามและเหตุการณ์ผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบัน ตลาดความปลอดภัยทางไซเบอร์ในไทยมีมูลค่าราว 13,000 ล้านบาท สะท้อนถึงความสำคัญของการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลในภาคธุรกิจ ทำให้ต้องมีการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทุกรูปแบบ