บทพิสูจน์ อาลีบาบา คลาวด์ “เอเชียนเกมส์” โชว์เคสบิ๊กเทคจีน

อาลีบาบา คลาวด์
อาลีบาบา คลาวด์

เทคโนโลยีที่อยู่ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว ประเทศจีน เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าของการถ่ายทอดสดกีฬาที่ใช้ “คลาวด์” เป็นพื้นฐาน รวมถึงการพยายามนำ generative AI มาปรับใช้ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ “เอไอขั้นสูง” จะยังไม่สามารถใช้งานได้ตามที่คาดหวังว่าจะช่วยตรวจจับ eye ball เสียงเชียร์กีฬาในสนามเพื่อคัดเลือกจังหวะประทับใจตัดต่อภาพซ้ำอัตโนมัติ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภายใต้ความรับผิดชอบของบิ๊กเทคจากจีน “อาลีบาลา” ที่ไม่ได้มีแต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ AliPay

บททดสอบครั้งใหม่

“เซลิน่า หยวน” ประธานด้านธุรกิจระหว่างประเทศ อาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป กล่าวว่า การเข้ามาเป็นผู้วางระบบหลังบ้านให้เอเชียนเกมส์ 2022 ของเมืองหางโจว มีความสำคัญมากสำหรับบริษัท เพราะเป็นการพิสูจน์เทคโนโลยีต่อการจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับคนทำงานหลายหมื่นชีวิต ทั้งนักกีฬาทีมงานจากแต่ละประเทศ ฝ่ายจัดงาน อาสาสมัครทั่วประเทศ รวมถึงทีมถ่ายทอดสดจากทั่วโลก แม้จะมีประสบการณ์สนับสนุนการแข่งขันกีฬาระดับโอลิมปิก 2020 และโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 มาแล้ว

Selina Yuan
Selina Yuan

“แต่ครั้งนี้สำคัญกว่าเพราะเมืองหางโจว เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของเราจึงมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วง 10 ปีแรกในประวัติศาสตร์ของอาลีบาบา คลาวด์ เราสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในต่างประเทศจำนวนมาก ใช้เป็นแพลตฟอร์มคลาวด์สาธารณะ และให้สามารถให้บริการลูกค้าในตลาดโลก ได้ ดังนั้นการจัดการระบบขนาดใหญ่ไม่ว่าจะระบบการแข่งขัน การบันทึก และถ่ายทอดสด ล่ามแปลภาษา โปรแกรมอบรมอาสาสมัคร และอื่น ๆ ที่พัฒนาขึ้นใช้กับเอเชียนเกมส์ เป็นตัวอย่างให้เห็นความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีของเรา”

เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 นี้ จึงเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของบิ๊กเทคจีนเนื่องจากข้อตกลงระหว่างอาลีบาบา คลาวด์กับผู้จัดเอเชียนเกมส์เกิดขึ้นก่อนการกีดกันที่เข้มข้นจากชาติมหาอำนาจตะวันตกเพื่อหยุดยั้งการเติบโตของเทคโนโลยีจีน

หากไม่รวมระบบเพย์เมนต์ Alipay ที่ใช้ทั่วประเทศจีน และทั่วโลกแล้ว ในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ยังได้เห็นการขนโซลูชั่นแบบ “คลาวด์เนทีฟ” จำนวนมากออกมาแสดงศักยภาพ เช่น ระบบกระจายผลลัพธ์ (results distribution system) การแสดงผลการแข่งขัน และการฟีดข่าว เป็นต้น

Advertisment

โชว์คลาวด์เนทีฟ-ระบบจัดการ

ทั้งหมดสร้างบน “อาลีบาบา คลาวด์ฯ” เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีการเผยแพร่และกระจายผลการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และเสถียร ไม่ต้องพึ่งพาดาต้าเซ็นเตอร์แบบ physical ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่และการบำรุงรักษา

ทรัพยากรคลาวด์ที่มีในการแข่งขันครั้งนี้สามารถเลิกใช้เมื่อมหกรรมกีฬาจบลง ไม่ต้องเก็บหรือบำรุงรักษา ทั้งมีการใช้ระบบบริหารเมืองอัจฉริยะ โดยติดตั้งเซ็นเซอร์นับแสนตัวรอบหมู่บ้านนักกีฬา เพื่อบริหารจัดการควบคุมการใช้พลังงาน ทำให้ลดต้นทุนพลังงานได้ 30%

การใช้งานคลาวด์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยน คือ การจัดระบบถ่ายทอดสด ด้วยว่าในอดีตการถ่ายทอดสดกีฬาต้องวางแผนล่วงหน้านาน ต้องลงทุนตั้งศูนย์ข้อมูลกลางสำหรับใช้ออกอากาศ ในพื้นที่ภาคสนามยังต้องส่งอุปกรณ์ไปเก็บภาพฟุตเทจ แล้วส่งกลับมาที่ศูนย์กลางการออกอากาศ ในระบบ OBS (open broadcaster software) ต้องใช้สัญญาณโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (optical circuits) จึงยุ่งยากอย่างมาก

เมื่อขยับมาใช้คลาวด์จึงทำเพียงส่งข้อมูลจากกล้องบันทึกมุมต่าง ๆ ของการแข่งขันขึ้นสู่ระบบโดยโครงข่าย 5G ผู้ได้รับสิทธิออกอากาศ (RHBs) จะดึงฟุตเทจ และรับฟุตเทจสดผ่านคลาวด์สาธารณะได้ด้วย

Advertisment

และคาดว่าจะมีการส่งผ่านฟุตเทจสดกว่า 5,000 ชั่วโมงคมชัดสูงระดับ HD และ UHD กว่า 68 รายการระหว่างงาน ข้อมูลภาพคอนเทนต์กีฬา บนคลาวด์จะส่งฟุตเทจความคมชัดระดับ HD หรือ UHD เพื่อใช้ทำไฮไลต์การแข่งขันรวมถึงส่งข่าวด่วนให้ RHBs เพื่อนำเสนอตรงไปยังมือถือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ของผู้รับชมได้เลย

มีศูนย์กลางออกอากาศที่ ApsaraVideo Live Centers ในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง เชื่อมโยงคลาวด์ระดับภูมิภาคในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและสิงคโปร์ ทำให้การถ่ายทอดสดที่ต้องใช้ออปติคอลเซอร์กิตโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ค่าใช้จ่ายสูงใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์นาน มีความยืดหยุ่น และปลอดภัยขึ้น เมื่อใช้โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ และไอทีโซลูชั่นที่ปรับขนาดได้ คุณภาพความคมชัดสูง ค่าใช้จ่ายน้อยลง ติดตั้งไม่นาน

เร่งพัฒนา Generative AI

ระหว่างการแข่งขันกีฬาในเมืองหางโจว “อาลีบาบา คลาวด์” จัดงาน “2023 Alibaba Cloud Global Summit” ควบคู่ไปด้วยเพื่อประกาศความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และก้าวต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

ผู้บริหาร “อาลีบาบา คลาวด์ฯ” กล่าวว่า ใน 10 ปีที่ 2 ของบริษัทจะไม่เพียงนำเสนอบริการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สาธารณะเท่านั้น แต่เป็นบริการและโซลูชั่นใหม่ ๆ เช่น model as a service และโซลูชั่นที่ใช้ในการพัฒนา AI แอปพลิเคชั่น ทั้งส่งเสริมการใช้ AI กับโมเดลขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของบริษัท เช่น Tongyi Series ที่มีทั้งแบบ text-based, speech-based และ image-based

โดยมีการเปิดตัวเทคโนโลยีสำหรับพัฒนาเอไอหลายส่วน เช่น PAI-Lingjun Intelligent Computing Service, cloud-native AI suite, AI job scheduling, AI data acceleration, AI computing acceleration engine, resource scheduling, computing resources เป็นต้น ทั้งเปิดตัว OpenSearch LLM-Based Conversational Search ฐานรากในการสร้าง “เอไอ แชตบอต” สำหรับอีคอมเมิร์ซ, แวดวงมัลติมีเดีย โซเชียลมีเดีย และการสืบค้นข้อมูลขนาดใหญ่ในองค์กร ช่วยให้องค์กรสร้างระบบเสิร์ชการสนทนาเฉพาะงานที่ต้องการได้รวดเร็ว ปลอดภัย และแม่นยำ

รู้จัก DingTalk แอปน้องใหม่

อีกสิ่งที่ “อาลีบาบา” พยายามผลักดัน คือ “เวิร์กเพลซแพลตฟอร์ม-DingTalk” ที่เริ่มพัฒนาในปี 2019 คล้ายโปรแกรมการทำงานในองค์กรอย่าง Slack, Google Workplace หรือ Microsoft Team แต่คงไว้ซึ่งลักษณะของโปรแกรมแชตที่นิยมในหมู่ชาวเอเชีย

DingTalk จะรวบรวมมินิแอปต่าง ๆ ไว้บนมือถือ ทั้งโปรแกรมประชุม โน้ต ไดรฟ์ ตัวอ่านเอกสาร เหมือนแอปยอดนิยมของไทย LINE แต่มีฟีเจอร์และขนาดที่ใหญ่ระดับเวิร์กเพลซ เช่น ใช้เอไอจดรายงานการประชุมในขณะวิดีโอคอล หรือแปลภาษาแบบเรียลไทม์บนแอป เป็นต้น

การพัฒนา Gen AI สำหรับใช้เป็น“ตัวช่วย” ในชีวิตจริงเห็นได้ชัดบนแอปพลิเคชั่นนี้ ที่นอกจากจะเป็นเลขาฯช่วยจดบันทึกส่วนตัวแล้ว ยังมีการใช้แชตบอตสร้างโปรแกรมอบรมอาสาสมัครหลายหมื่นคนทั่วประเทศในช่วงเอเชียนเกมส์ เช่น กรณีที่เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับระเบียบ การจัดงาน หรือต้องการคำแนะนำต่าง ๆ อาสาสมัครแชตถามเอไอใน DingTalk รวมถึงนักกีฬาและทีมงานหลายหมื่นชีวิตก็ติดต่อประสานงานกันบนนี้

DingTalk เป็นอีกหนึ่งหัวข้อโปรโมต “โซลูชั่นออกแบบได้” ซึ่งการรองรับอีเวนต์ขนาดใหญ่อย่างเอเชียนเกมส์ ทีมงานได้พัฒนา DingTalk For Asian Games เป็นการเฉพาะ มีผู้เข้ามาใช้กว่า 50,000 คนต่อวันตั้งแต่การเตรียมการ

ปัจจุบันมีการใช้ในองค์กรต่าง ๆ กว่า 2 ล้านราย แต่ใน 2 ล้านนี้ ยังเลือกออกแบบ DingTalk ให้เหมาะกับตนเองได้ด้วย ฟีเจอร์ low code ทำให้หลายองค์กรออกแบบแอปและโซลูชั่นของตนได้จากภายในแอป หากเริ่มซับซ้อนก็จะมีทีมงานเข้าไปช่วยพัฒนา

ผู้บริหารอาลีบาบาระบุด้วยว่า ตลาดแอปพลิเคชั่นเวิร์กเพลซ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้ดีในช่วงโควิด-19 และผู้คนมีความคุ้นเคย จึงคาดหวังว่าจะเติบโต ทั้งในแง่ผู้ใช้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการเติบโตด้านรายได้ในระยะใกล้นี้