รู้หรือไม่ “แฟลชไดรฟ์” ถือกำเนิดในอิสราเอล

แฟลชไดรฟ์-flashdrive
Image by luis_molinero on Freepik

“ประชาชาติธุรกิจ“ ชวนมาทำความรู้จัก 10 สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกจาก ”อิสราเอล“ ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “ชาติแห่งสตาร์ตอัพ”

วันที่ 19 ธันวาคม 2566 อิสราเอลเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังเห็นได้จากคำนิยามว่า “ชาติแห่งสตาร์ตอัพ” (Startup Nation) ที่มีสตาร์ตอัพจดทะเบียนในระบบกว่า 8,000 ราย การเปิดสำนักงานในประเทศของบริษัทข้ามชาติกว่า 300 แห่ง และการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนชีวิตของมวลมนุษยชาติไปตลอดกาล

สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนชีวิตของผู้คนบนโลกที่ถือกำเนิดในอิสราเอลมีอะไรบ้าง ? “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจากนิตยสาร Moment สื่อด้านสังคมและวัฒนธรรมในสหรัฐมาสรุปไว้ดังนี้

1. USB Flash Drive

USB Flash Drive พัฒนาโดยโดฟ โมรัน (Dove Moran) และอาเยห์ เมอร์กี (Aryeh Mergi) นักวิจัยชาวอิสราเอล ในปี 2538 ก่อนจะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะช่วยให้การทำงานสะดวกยิ่งขึ้น สามารถถ่ายโอนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว

2. Iron Dome : โดมเหล็กป้องกันขีปนาวุธ (Iron Dome)

Iron Dome คือสิ่งประดิษฐ์ที่ตรวจจับและประเมินภัยคุกคามหรือวัตถุที่เข้ามารุกล้ำในพื้นที่ จากนั้นจะส่งขีปนาวุธความเร็วสูงเพื่อสกัดกั้นและทำลายสิ่งที่พิจารณาแล้วว่าเป็นอันตราย

ทั้งนี้ Iron Dome พัฒนาโดย 2 บริษัทในอิสราเอล ได้แก่ Rafael Advanced Defense Systems และ Israel Aerospace Industries ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ โดยข้อมูลจากกองทัพอิสราเอล (IDF) เปิดเผยว่า Iron Dome มีประสิทธิภาพและความแม่นยำราว 97%

3. Waze : รายงานการจราจรแบบเรียลไทม์

Waze เกิดจากการพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อช่วยผู้ขับขี่ย่นระยะเวลาการเดินทางในอิสราเอล โดยผู้ประกอบการชาวอิสราเอล 3 ราย ได้แก่ เอฮัด ชับไท (Ehud Shabtai), เอเมียร์ (Amir Shinar) และอูรี เลอไวน์ (Uri Levine) ในปี 2549

ปัจจุบัน Waze เป็นแอปพลิเคชั่นขับรถแบบเรียลไทม์ที่มีเจ้าของเป็นกูเกิล (Google) และมีผู้ใช้งานทั่วโลก 140 ล้านคนต่อเดือน โดยผู้ใช้สามารถรายงานสภาพการจราจร อุบัติเหตุ อันตรายบนท้องถนน และราคาน้ำมันบนแอปได้ ซึ่ง Waze จะนำข้อมูลไปอัพเดตแผนที่ และนำเสนอเส้นทางที่เร็วที่สุดให้กับผู้ใช้แอป

4. Mobileye : เทคโนโลยีตรวจจับวัตถุระหว่างการขับขี่

Mobileye เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนามาจากงานวิจัยของศาสตราจารย์แอมนอน ชาชัว (Amnon Shashua) มหาวิทยาลัยฮิบรูเกี่ยวกับระบบการมองเห็นด้วยตาข้างเดียวในปี 2542 จากนั้น Mobileye จึงได้รับการพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเพื่อการขับขี่อย่างปลอดภัย แจ้งเตือนคนขับเมื่อมีคนหรือวัตถุผ่านหน้ารถ

5. Netafim : เทคโนโลยีการให้น้ำหยด

ซิมชา-เยชายานา บลาส (Simcha-Yeshayana Blass) 2 พ่อลูกชาวอิสราเอล สังเกตเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเติบโตโดยไม่มีน้ำเลย แต่ความจริงแล้วมีท่อน้ำใต้ดินที่รั่วอยู่ ทำให้ต้นไม้เติบโตได้จากน้ำที่รั่วออกมา

สิ่งนี้ทำให้ 2 พ่อลูกตระกูลบลาสคิดค้นระบบชลประทานแบบหยดสมัยใหม่โดยใช้ท่อพลาสติกเป็นทางลำเลียงน้ำใต้ดิน ต่อมาช่วงกลางทศวรรษ 1960 ได้ร่วมมือกับกิบบัทซ์ แฮทเซอริม (Kibbutz Hatzerim) เพื่อก่อตั้งบริษัท Netafim และจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

6. Pillcam : กล้องแคปซูลส่องระบบทางเดินอาหาร

Pilcam เป็นกล้องแคปซูลขนาดเท่ากับเม็ดเยลลี่ เมื่อกลืนเข้าไปจะสามารถถ่ายภาพลำไส้ของผู้ป่วยด้วยเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่กับกล้อง ถือเป็นวิธีการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่ไม่รุกล้ำร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งคิดค้นโดยกาฟเรียล อดดัน (Gavrial Iddan) วิศวกรชาวอิสราเอล และอิตัน สคาปา (Eitan Scapa) แพทย์ระบบทางเดินอาหารชาวอิสราเอล

7. ICQ : โปรแกรมติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ICQ เป็นโปรแกรมติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ได้รับการพัฒนาในปี 2539 โดย Mirabilis บริษัทสัญชาติอิสราเอลที่มีผู้ก่อตั้งคือ เอริก วาดี (Arik Vardi), แยร์ โกลด์ฟิงเกอร์ (Yair Goldfinger), เซไฟ วิจิเซอร์ (Sefi Vigiser) และแอมนอน เอเมียร์ (Amnon Amir) ซึ่งพบกันระหว่างทำงานที่ Zapa Digital Arts ในเทลอาวีฟ

จนกระทั่งในปี 2541 AOL บริษัทด้านมัลติมีเดียในสหรัฐ ได้เข้าซื้อกิจการของ ICQ ที่เป็นหนึ่งในคู่แข่งรายสำคัญของบริการ AOL Instant Messenger ส่วนที่มาของชื่อ ICQ คือคำพ้องเสียงกับประโยคที่ว่า I seek you. ที่แปลว่า “ฉันตามหาคุณ”

8. สนิฟโฟน (SniffPhone)

SniffPhone คือเครื่องตรวจจับโรคมะเร็งจากลมหายใจ ซึ่งมีหลักการทำงานเช่นเดียวกับเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด สามารถอ่านค่าได้จากการเชื่อมต่อผ่านสมาร์ทโฟน

ทั้งนี้ SniffPhone ถือเป็นการต่อยอดจากนวัตกรรมจมูกเทียมนาโน (NaNose) ที่พัฒนาโดยฮอสซัม เฮก (Hossam Haick) วิศวกรเคมีชาวอิสราเอล และศาสตราจารย์เนียร์ เพเล็ด (Nir Peled) จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ

9. Rewalk : ระบบช่วยเดินแบบไบโอนิก

Rewalk เป็นระบบช่วยเดินที่คิดค้นโดยอามิท กอฟเฟอร์ (Amit Goffer) ผู้ประกอบการชาวอิสราเอลที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 2540 และกลายเป็นอัมพาตครึ่งซีกตลอดชีวิต

โดยชุด exo-suit ของ ReWalk ที่จำหน่ายเพื่อใช้ในบ้านตั้งแต่ปี 2557 เป็นชุดที่ออกแบบให้ข้อต่อของชุดทำงานด้วยมอเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถยืน เดิน และขึ้นบันไดได้ ซึ่งมีการนำไปใช้งานสำหรับผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดสมองและอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังในโรงพยาบาลบางแห่งด้วย

10. หัวใจจากการพิมพ์ 3 มิติ (3D-Printed Heart)

ในปี 2562 ทัล เดวียร์ (Tal Dvir) และทีมงานใช้เนื้อเยื่อจากหัวใจมาพัฒนาเป็นเซลล์หัวใจที่ใช้สร้าง “หมึกชีวภาพ” และพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สำหรับสร้างอวัยวะเทียมชิ้นเล็ก ๆ (ขนาดประมาณหัวใจของกระต่าย) ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของทีมวิจัย คือการพัฒนาหัวใจเทียมสำหรับมนุษย์ที่ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ