Tech Discovery แม่ค้าออนไลน์ทำอย่างไร สินค้าจีนถูกกว่า ถล่มตลาดไทย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายปีที่ผ่านมานี้ สินค้าจากโรงงานจีน ราคาถูก ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ที่ความนิยมในการใช้อินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เปลี่ยนการค้าแบบ Cross Border สู่ Cross Border e-Commerce Trade

ในตอนแรกท่าว่าจะมีประโยชน์ต่อคนไทยที่ได้สินค้านำเข้าในราคาถูกลง และยังสามารถนำสินค้าที่ผลิตเองในไทยออกไปทำตลาด “อีคอมเมิร์ซ” ในประเทศจีนที่มีมูลค่าในปี 2565 มากกว่า 16ล้านล้านหยวน หรือราว 68ล้านล้านบาท ได้ง่ายขึ้นโดยแทบไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากร

ตลาดอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่เย้ายวนใจในจีนที่เราสามารถส่งสินค้าไปได้นั้น ในทางกลับกันสินค้าจากจีนก็สามารถเข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน แต่ด้วยต้นทุนการผลิตจาก “โรงงานของโลก” ที่ต่ำกว่า ทำให้ “ราคาสินค้า” ภายใต้ข้อตกลง Cross Border Trade ที่ลดต้นทุนการนำเข้า และภาษีได้

ทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยมของไทยก็ล้วนเป็นแพลตฟอร์มจีน ยิ่งทำให้สินค้าจากจีนได้เปรียบราคา และกำลังกดดันผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายภายในประเทศ ด้วยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่ไป ๆ มา ๆ มีต้นทุนมากกว่า

ทั้งยังมีปัจจัยสำคัญที่ “สินค้าจีน” ทะลักข้ามพรมแดนเข้ามายังไทย และอาเซียน ก็คือความขัดแย้งระหว่าง “จีน-สหรัฐ” ที่ส่งผลให้สหรัฐลดการนำเข้าสินค้าจากจีนลง จนต้องหาที่ระบายของในประเทศ ให้สินค้าจีนทะลักไปในประเทศต่าง ๆ อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงไทย

ผู้ประกอบการไทย ยืมจมูกคนอื่นหายใจ

“ภาวุธ” กูรูอีคอมเมิร์ซ กล่าวว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทย ปี 2562 ที่มีอยู่ 30.7 ล้านคน แต่ในปี 2564 อยู่ที่ 52.2 ล้านคน และล่าสุดปี 2566 อยู่ที่ 41.5 ล้านคน เป็นปัจจัยหนุนให้มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2565 อยู่ที่ 6.2 แสนล้านบาท และมีโอกาสขยายตัวถึง 6.94 แสนล้านบาทในปี 2567

“ภาวุธ” กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยอย่างหนักผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ถ้าดูจากผลประกอบการของแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะพบว่ามีการเติบโตเรื่อย ๆ เช่น Lazada มีรายได้ในปี 2566 อยู่ที่ 21,470 ล้านบาท กำไร 604 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 15,980 ล้านบาท แต่ภาพรวมธุรกิจของ Lazada Group มีกำไรรวมอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท

หรือถ้ามองภาพการแข่งขันในธุรกิจขนส่งที่เชื่อมต่อกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะพบว่า ในปี 2565 บริษัทที่สามารถทำกำไรได้ คือ Shopee Express, Lazada Express และ J&T ที่ส่งสินค้าให้กับ TikTok Shop ซึ่งเป็นบริษัทที่คุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของอีคอมเมิร์ซได้อย่างเบ็ดเสร็จ

“ผู้ประกอบการไทยกำลังยืมจมูกคนอื่นหายใจ เมื่อก่อนค่าธรรมเนียมการขายบนแพลตฟอร์มแทบไม่มี แต่ตอนนี้คนขายของออนไลน์ถูกเก็บค่าธรรมเนียมเกือบ 7% ในเวลาแค่ 7 เดือน เขากอดคอขึ้นค่าธรรมเนียมเกือบ 150% และยังไม่การควบคุมจากรัฐ”

นอกจากนี้หากดูภาพรวมในปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าไทยขาดดุลการค้าดิจิทัลกว่าแสนล้านบาท

Cross Border e-Commerce Trade สะเทือนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

อีกส่วนที่กำลังคุกคามผู้ประกอบการราย่อยไทย ไม่แพ้ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มคือ “สินค้าข้ามพรมแดน” หรือ Cross Border e-Commerce Trade ซึ่งเป็นการนําเข้าสินค้าจากต่างประเทศไปยังเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) โดยผ่านกฎระเบียบพิเศษของทางศุลกากร และจัดจําหน่ายผ่านช่องทางที่กําหนด โดยในประเทศจีนจะทำ สินค้าปลอดอากรข้ามแดนได้นั้นกําหนดมูลค่าการสั่งซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 5,000 หยวนต่อครั้ง และไม่เกินคนละ 26,000 หยวนต่อปี

“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของจีน เมื่อก่อนสหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีน 20% แต่ตอนนี้เหลือเพียง 16% ซึ่งจีนต้องหาทางระบายสินค้าในประเทศ

โดยไทยกับจีนได้ลงนามความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Cooperation) ช่วงปลายปี 2565 เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการไทยและสินค้าการเกษตรผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีการผ่อนปรนมาตรการภาษีต่าง ๆ

วิธีการนำเข้าตามปกติจะต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ใบรับรองความปลอดภัย ผ่านด่านการตรวจสอบภาษี แต่เมื่อมีมาตรการผ่อนปรน ไม่ต้องขอใบอนุญาต ใบรับรองความปลอดภัย และการตรวจสอบภาษี สินค้าจีนจึงเข้าไทยง่ายขึ้นผ่าน 2 วิธี คือ

1.CBEC Direct Mailing สินค้าออกจากประเทศต้นทางเป็นพัสดุชิ้นเล็ก ๆ และส่งมาไทยโดยตรงผ่านการสั่งซื้อบนอีคอมเมิร์ซ

2.CBEC Bonded Warehouse สินค้าออกจากประเทศต้นทางมาเป็นจำนวนมากแล้วเก็บไว้ในโกดังที่เป็นเขตปลอดภาษี (Free-trade Zone) จากนั้นจึงนำไปขายทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

วิธีนี้จะทำให้ โรงงาน ที่ผลิตสินค้าจำนวนมาก สามารถส่งสินค้ามารอสต็อกไว้ใน Free Trade Zone ได้แม้มีข้อกำหนดเรื่องปริมาณ แต่ถึงอย่างไรก็สามารถกระจายโกดังไปรอบๆ พื้นที่หลักอย่างกรุงเทพฯ ได้

โดยเฉพาะเมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มแบบค้าปลีก สมมุติ ซื้อเพาเวอร์แบงก์ 1 ชิ้น ราคาไม่เกิน 1-1.5 พันบาท ก็จะมีการนำสินค้าออกจากโกดังไปทีละชิ้น เมื่อมีราคาไม่เกินกำหนด ผู้ค้าก็ไม่ต้องเสียภาษี

และบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่มีไลฟ์คอมเมิร์ซในปัจจุบัน หน้าร้านก็เป็นคนจีน และสินค้าก็เป็นของจีน พวกนี้ใช้พื้นที่ภายในโกดังในการไลฟ์ขายของ แล้วก็สามารถหยิบสินค้าจากฟรีเทรดโซนไปส่งลูกค้าได้เลย ยิ่งง่ายเข้าไปอีก

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยจะทำอย่างไร

“ธนวัฒน์” กล่าวว่า การที่สินค้าจีนทะลักเข้าไทยมาเป็นจำนวนมากส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยแน่นอน ในเบื้องต้นผู้ขายสามารถปรับตัวได้ด้วยการไม่แข่งเรื่องราคากับสินค้าจีนโดยตรง และหาตลาดที่สินค้าจีนยังเจาะไปไม่ได้

“ภาวุธ” กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังต้องคำนึงถึงเรื่องการใช้ เทคโนโลยี และระบบดูแลหลังบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การจัดการสต็อก ระบบชำระเงิน ระบบบัญชี รวมถึงบริการหลังการขาย ลูกค้าสัมพันธ์ เพราะ พฤติกรรมของคนไทยสะท้อนแล้วว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ทำให้ช่องทางออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางหลัก

“การทำธุรกิจในยุคนี้ทุกอย่างต้องเชื่อมถึงกันทั้งฝ่ายขาย การตลาด และหลังบ้าน โดยมี CDP (Customer Data Platform) เป็นแพลตฟอร์มกลางในการจัดการข้อมูลของลูกค้า การเก็บข้อมูลและการใช้งานข้อมูล ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ จะทำให้การทำอีคอมเมิร์ซแม่นยำขึ้น”

ในขณะที่ “สวภพ ท้วมแสง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT) แพลตฟอร์มบริหารจัดการออร์เดอร์และสต๊อกครบวงจร กล่าวว่า ตลาดโดยรวมยังโต และเห็นตรงกับหลายคนว่าต้องมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยแข่งขัน และพัฒนาติดตามอย่างต่อเนื่อง

แต่โดยส่วนตัวคิดว่ามาตรการที่ส่งผลต่อพ่อค้าแม่ค้าไทยมากที่สุด คือ เรื่องศักยภาพในการแข่งขัน

ตัวอย่างที่ชัดคือต้นทุนสินค้าเราสูง เรามีเรื่องภาษีสินค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอื่น ๆ แต่เราพบว่าสินค้าจากจีนมีการยกเว้นภาษี อย่างสินค้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาทปลอดภาษี อยู่ใน Free Trade Zone ทำให้ต่างชาติได้ประโยชน์ การผลิตและต้นทุนเขาต่ำกว่า เขาจะได้เปรียบผู้ประกอบการไทย เรื่องนี้อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม

รัฐเก็บภาษีรายได้จากพ่อค้าแม่ค้าจีนไม่ได้

ความก้าวหน้าล่าสุด คือการที่รัฐไทย สามารถบังคับใช้กฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล และให้ “แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ” ส่งรายงานธุรกรรมให้กับกรมสรรพากร ดังนั้นกรมสรรพากรจะสามารถรับรู้รายได้ของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ นำไปสู่การจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ทั้งไม่ต้องส่งรายงานด้วยตัวเอง เพราะข้อมูลทั้งหมดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจัดการ

แต่ พ่อค้าแม่ค้าชาวจีนทีี่อาศัยการขายสินค้าที่ตั้งอยู่ใน Free-Trade Zone อยู่แล้ว ตัวตนและถิ่นที่อยู่ของเขาอยู่พ้นพรมแดนเราไป ดังนั้นแม้กฎหมายจะเผยให้เห็นตัวเลขรายได้ แต่ก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากรายได้ของพ่อค้าข้ามแดนเหล่านี้

ดังนั้นนอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เนื่องจากมีการขายแบบออนไลน์ ไลฟ์สด หรือวางบนแพลตฟอร์ม โดยนำสินค้าที่มีพร้อมอยู่แล้วใน Free-Trade Zone แล้ว ยังไม่ถูกเก็บภาษีจากรายได้ เนื่องจากอำนาจทางกฎหมายเราไปไม่ถึง

สิ่งนี้ยิ่งสร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน เพราะนอกจากผู้ประกอบการไทยต้องเสียต้นทุนในการขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องแล้ว ยังต้องเสียภาษีต่าง ๆ ภายในประเทศอีก

การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน เป็นสิ่งที่เกินความสามารถของผู้ประกอบการ จึงเป็นคำถามที่ตามมาว่า เมื่อสินค้าจีนที่ถูกกว่า ทะลักเข้าสู่ประเทศไทย และกำลังฉุดผู้กอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ต่ำลง ศักยภาพการแข่งขันที่เสียเปรียบยิ่งซ้ำเติมกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่หวังพึ่งพาให้พ่อค้าแม่ค้าเอสเอ็มอีเติบโตเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจชาติ เป็นโจทย์และการบ้านของ ผู้มีอำนาจหลายฝ่่าย ว่าจะทำอย่างไร ?