Bluesky : การกลับมาของ “แจ็ก ดอร์ซีย์” อดีตซีอีโอ Twitter

Bluesky

“แจ็ก ดอร์ซีย์” อดีตซีอีโอ Twitter คัมแบ็ก! หลังเปิดให้ใช้งาน “Bluesky” แพลตฟอร์มโซเชียลเน้นข้อความน้องใหม่แบบสาธารณะ ชูแนวคิดกระจายศูนย์ สวนทางโซเชียลมีเดียแบบเดิม

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า “บลูสกาย” (Bluesky) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน้องใหม่ของ “แจ็ก ดอร์ซีย์” (Jack Dorsey) ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ “ทวิตเตอร์” (Twitter) ที่ในปัจจุบันกลายร่างเป็น X และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่าง “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) ไปแล้ว ได้เปิดให้ใช้งานแบบสาธารณะเป็นที่เรียบร้อย หลังจาก “แจ็ก” ริเริ่มโปรเจกต์พัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2562

จากข้อมูลบนเว็บไซต์ Bluesky ระบุว่า Bluesky เป็นแอปโซเชียลมีเดียที่ออกแบบมาเพื่อไม่ให้ถูกควบคุมโดยบริษัทเดียว หรือเป็นแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Standard for Social Media) ที่ผู้ใช้สามารถเลือกสิ่งที่ต้องการมองเห็นบนหน้าฟีดได้ด้วยตนเอง อัลกอริทึมการแสดงผลจะไม่ยึดติดกับการคัดสรรของบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ซึ่งตรงข้ามกับแนวทางของโซเชียลมีเดียแบบเดิมที่จะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งคอยควบคุมการแสดงผลอยู่เบื้องหลัง

โดยการทำงานของโซเชียลมีเดียแบบเดิม จะทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถดึงข้อมูลจากบัญชีเดิมไปที่บัญชีใหม่ได้ หากต้องการใช้งานบัญชีใหม่ต้องสมัครใช้งานตั้งแต่ต้น หรือในมุมของนักพัฒนาที่เชื่อมต่อ API เข้ากับแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเกิดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ แต่เวลาที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ตัดสินใจตัดการเชื่อมต่อกลับลดการเข้าถึงของนักพัฒนาภายนอกได้อย่างง่ายดาย

ทั้งนี้ การทำงานของ Bluesky จะดำเนินการบน AT Protocol หรือโปรโตคอลสำหรับการสนทนาสาธารณะ ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์กโอเพ่นซอร์ซสำหรับการสร้างแอปโซเชียลมีเดีย โดยมีจุดเด่นคือการทำให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกัน และผู้ใช้สามารถใช้งานข้ามแพลตฟอร์มได้อย่างอิสระ หมายความว่าผู้ใช้จะสามารถเปลี่ยนบัญชีการใช้งานโดยดึงข้อมูลจากบัญชีเดิมได้

โดยปกติแล้วการสร้างบัญชีบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จะคล้ายกับการย้ายไปยังเมืองใหม่ มีการสร้างโพสต์และผูกมิตรกับผู้ใช้งานรายอื่น ๆ แต่เมื่อผู้ใช้ตัดสินใจเลิกใช้งานและออกจากแพลตฟอร์ม จะเท่ากับตัดขาดจากสังคมในเมืองเดิมโดยที่ไม่มีอะไรติดตัวออกไปเลย

ดังนั้น AT Protocol จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเมืองต่าง ๆ ได้ผ่านการ สร้างมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูลประจำตัวและรายชื่อผู้ติดต่อ คล้ายกับการออกหนังสือเดินทางและหลักฐานอื่น ๆ ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานตั้งต้นในแพลตฟอร์มใหม่ได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม หลังจาก Bluesky เปิดให้ใช้งานแบบสาธารณะได้ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2567 ก็มีผู้สมัครเข้าใช้งานหน้าใหม่เกิน 1 ล้านรายแล้ว (อ้างอิงจากรายงานข่าวของ Bluesky ณ วันที่ 8 ก.พ. 2567 เวลา 12.45 น. ตามเวลาไทย)

โดยก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มเปิดให้ใช้งานอย่างจำกัด ทำให้ผู้ที่สนใจใช้งานต้องลงทะเบียนและรอรับเชิญจาก Invitation Code เท่านั้น ซึ่งจำนวนผู้ใช้งาน ณ เดือน ม.ค. 2567 มีมากกว่า 3 ล้านราย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้ทดลองใช้งาน Bluesky เวอร์ชั่นเดสก์ท็อปในเบื้องต้น พบว่าลักษณะโดยรวมและการแสดงผลไม่ต่างกับ X มาก แต่ในช่วงที่ลงทะเบียนครั้งแรก ระบบจะให้เลือกหมวดหมู่ของเนื้อหาที่สนใจและแสดงบัญชีที่เกี่ยวข้องกับความสนใจนั้น ๆ มาให้เลือกติดตาม

นอกจากนี้ยังมีแถบเมนูหลัก เช่น Home, Search, Feeds, Profile ฯลฯ อยู่ทางซ้ายเช่นเดียวกับ X และในส่วนของการโพสต์ข้อความมีการจำกัดจำนวนตัวอักษรไว้ที่ 300 ตัวอักษร