“Grab” เป้าหมายที่มากกว่ากำไร

วรฉัตร ลักขณาโรจน์
วรฉัตร ลักขณาโรจน์

หลัง “แกร็บ ประเทศไทย” (Grab) สามารถพลิกผลประกอบการ “ขาดทุน” มาเป็น “กำไร” ได้สำเร็จในปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าในฐานะ “แม่ทัพธุรกิจ-วรฉัตร ลักขณาโรจน์” ย่อมมีเป้าหมายที่จะรักษาสถานะ “กำไร” และความเป็น “ผู้นำ” ตลาดทั้งในสมรภูมิ “ส่งคน (Mobility)-ส่งของ และอาหาร (Deliveries)” เอาไว้ต่อไป

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังชะลอตัว โดยเฉพาะกำลังซื้อ แต่การกลับมาของนักท่องเที่ยวก็ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และการเดินทาง ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจของ Grab เองด้วย

“วรฉัตร” ค่อนข้างมั่นใจว่าจะยังรักษาความสามารถในการทำ “กำไร” ไว้ได้ แต่จะมากน้อยแค่ไหนไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขใด ๆ แบบเฉพาะเจาะจงได้ ไม่ว่าจะเรื่องรายได้, กำไร, จำนวนไรเดอร์ หรือยอดผู้ใช้บริการ ทั้งบริการเรียกรถ, แกร็บฟู้ด, แกร็บมาร์ท, บริการสินเชื่อสำหรับพาร์ตเนอร์คนขับ และร้านอาหาร เป็นต้น

จุดยืนในการทำธุรกิจในปัจจุบัน ชัดเจนว่า “แกร็บ” ต้องการอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืน จึงเน้นไปยังการเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ และการพัฒนาคุณภาพบริการมากกว่า การแข่งด้าน “ราคา” เหมือนในอดีต

“ธุรกิจจะยั่งยืนได้ คงไม่สามารถขาดทุนปีละหลายพันล้านไปได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่สองปีที่แล้ว เราจึงหันมาโฟกัสเรื่องการเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ และการพัฒนาบริการต่าง ๆ เช่น การมี Grab Unlimited ให้สมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปี และมีแคมเปญเมกะเซลเป็นช่วง ๆ คือไม่ได้ถึงกับถอดโปรโมชั่นออกไปหมด”

ในขาของบริการทางการเงิน อย่างการให้ “สินเชื่อ” กับคนขับ และพาร์ตเนอร์ร้านอาหาร สำหรับ “แกร็บ” วรฉัตรเรียกว่าเป็นการสร้าง “วงจรแห่งความสุข” มากกว่ามุ่งเน้นเอากำไรจากดอกเบี้ยเป็นตัวตั้ง

“แกร็บ” เริ่มจากการให้สินเชื่อวงเงินเล็ก ๆ หลักหมื่นบาทก่อน เพราะเข้าใจว่าคนเข้าไม่ถึงระบบสินเชื่อคือ รายเล็ก แต่ทำไปสักพักพบว่าร้านใหญ่ก็อยากได้ด้วย เพราะไปกู้แบงก์ กู้ยาก ทั้งต้องเตรียมเอกสารเยอะ หรือต้องไปที่สาขา บางครั้งต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วย จึงขยายวงเงินสินเชื่อให้ถึง 5 แสนบาท กับร้านอาหารที่มีสาขาสัก 3-5 สาขา

“ระบบเราสะดวกกับเขาไม่ต้องส่งเอกสาร และหักจากยอดขายรายวัน ไม่ต้องคิดว่าสิ้นเดือนจะผ่อนเท่าไร ในแง่หนี้เสียก็มีแต่ต่ำกว่าระบบธนาคารค่อนข้างเยอะ เพราะถ้าเขาเบี้ยวหนี้เรา ก็เหมือนเขากำลังทิ้งอาชีพ บริการสินเชื่อของเราจึงไม่ใช่แค่บริการทางการเงิน แต่เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพเขา”

แม้แต่กลุ่มพาร์ตเนอร์ร้านอาหารที่ใหญ่ขึ้นมา ก็เริ่มบอกว่าอยากได้วงเงินสัก 2-3 ล้านได้ไหม แกร็บก็ต้องรับฟังเพียงแต่ต้องมาคิดว่าใช่ธุรกิจที่อยากทำหรือเปล่า แต่บริการทางการเงินหรือสินเชื่อ เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจดีลิเวอรี่ และโมบิลิตี้ขับเคลื่อนไปได้ดีขึ้น

“ตัวอย่างสินเชื่อร้านอาหารปีที่แล้ว เราก็ให้ไปหลายหมื่นราย รวมคนขับก็หลักแสนราย ด้วยความที่คนขับเข้าไม่ถึงบริการการเงินมากกว่าร้านก็มีความต้องการมากกว่า แต่วงเงินคนขับจะน้อยมาก หมดปั๊บก็ขอใหม่ ซึ่งดี เราพยายามสื่อสารว่าถ้าเป็นหนี้นอกระบบ ก็ให้กู้ตรงนี้ไปปิด วงเงินสูงสุดไม่เกินห้าหมื่นแต่พยายามให้ไม่เกินหมื่นบาท เพราะอยากให้ผ่อนจบใน 90 วัน ถ้ากู้นอกระบบโดนดอกวันละ 4-5% แต่ของเราผ่อนวันละร้อยบาท 100 วันจบ เป็นระบบลดต้นลดดอกรายวันด้วย”

เช่นกันกับระบบการชำระเงิน (Payment) ที่ทำระบบใหญ่ก็เพื่อดูแลร้านอาหาร และพาร์ตเนอร์คนขับ เช่น เพิ่มอาลีเพย์ และคาเคา เพย์ เข้ามา และทำให้ระบบต่าง ๆ เป็นเรียลไทม์สำหรับคนขับ เช่น ขับปุ๊บรับเงินปั๊บ

ทั้งหมดก็เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และต้องการเป็นบริษัทที่ทุกคนรัก