ลงทุน Investment Token-คริปโตเคอร์เรนซี ต่างกันอย่างไร เสียภาษีไหม

TOKEN

Investment Token กับ คริปโตเคอร์เรนซี แตกต่างกันอย่างไร ผู้ลงทุนต้องเสียภาษีหรือไม่อย่างไร หลัง ครม.ไฟเขียวเก็บภาษีโทเค็นดิจิทัล 15%

สินทรัพย์ดิจิทัลมีความหมายที่กว้างและหลากหลาย หมายรวมไปถึงคริปโตเคอร์เรนซี เช่น บิตคอยน์ สเตเบิ้ลคอยน์ ไอเทมจากเกม คะแนนสะสม และโทเคนสำหรับอ้างอิงสินทรัพย์จริงต่าง ๆ เช่น NFT (Non-Fungible Token) หรือ โทเค็นแสดงสิทธิ์การร่วมลงทุน (Investment Token)

การประกาศว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล 15% (Investment Token) โดย หัก ณ ที่จ่ายสร้างความสับสนในหมู่นักลงทุน/นักเทรดคริปโตฯ หน้าใหม่ที่เพิ่งทำความเข้าใจการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีทั่วไป เช่น Bitcoin, Ethereum, Stable coin และอื่น ๆ

โดยหลายคนหยิบประเด็นของ คริปโตเคอร์เรนซี มาปะปนกับรูปแบบการลงทุน-ระดมทุนผ่านโทเค็นดิจิทัล หรือ Investment Token ซึ่งหลายครั้งทั้งคริปโตฯ และ Investment Token ก็ถูกเสนอขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งเดียวกัน

ความแตกต่างของ Investment Token – Cryptocurrency

สำหรับประเทศไทย มีการกำหนดนิยามสินทรัพย์ดิจิทัล เป็น 2 ส่วน คือ

  1. คริปโตเคอร์เรนซี หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และหมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดเพิ่มเติม
  2. โทเคนดิจิทัล หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพือ (1) กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ (2) กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอันใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอันตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

Investment Token เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ถูกจัดอยู่ในประเภท “โทเคนดิจิทัล”

ความแตกต่าง Coin – Utility Token – Investment Token

คริปโตเคอร์เรนซี หรือ สกุลเงินเข้ารหัส คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน กล่าวง่าย ๆ ว่า คือ เหรียญหรือ Coin ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อการแลกเปลี่ยน

ตัวอย่างของคริปโตเคอร์เรนซีที่เห็นได้ชัด คือ Bitcoin และ Stable Coin หรือเหรียญที่ตรึงมูลค่าไว้กับเงินสกุลหนึ่ง เช่น USDT-USDC ตรึงมูลค่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนคริปโต ฯ

ต่อมาคือ Coin ก็เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกเรียกว่า “คริปโตเคอร์เรนซี” แต่ที่ประเทศไทยเรียก “โทเคนอรรถประโยชน์” Utility Token เช่น Ethereum หรือ BNB เป็นเหรียญประจำบล็อกเชนที่ใช้เป็นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม แต่ก็ยังแลกเปลี่ยนบริการอื่นๆ ได้

ในอุตสาหกรรมทั่วโลกมักจะเรียกเหรียญประจำบล็อกเชนว่า “Coin” เรียก เหรียญอื่น ๆ ที่ถูกสร้างบนบล็อกเชนนั้น ๆ ว่า โทเคน เช่น เหรียญ UNI หรือ Shiba inu ที่ถูกสร้างบนบล็อกเชน Ethereum และใช้ Ethereum ในการทำธุรกรรม Shiba inu คือ โทเคน ส่วน Ethereum เป็น Coin

แต่ประเทศไทยเราได้กำกับว่า Coin คือ Utility Token ดังนั้นเหรียญประจำบล็อกเชนสัญชาติไทยภายใต้กฎหมายไทย เช่น Kub Coin ประจำ Bitkub Chain จึงเป็น Utility Token ภายใต้กฎหมายไทย

ประเทศไทยเราแบ่ง โทเคนดิจิทัล ออกเป็น 2 ส่วน คือ Investment Token และ Utility Token

Utility Token

Utility Token แบ่งได้อีกสองประเภท

1. Utility Token แบบพร้อมใช้ เมื่อมีการถือครองแล้ว ผู้ถือครองสามารถนำไปใช้ใช้สิทธิ์แลกหรือใช้บริการได้ทันที เหมาะกับการใช้กับคูปอง แต้มสะสมจากบัตรเครดิต หรือคะเเนนสมาชิกอื่น ๆ ตั๋ว หรือ NFT ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมอีเวนต์ หรือใช้แลกส่วนลดผลิตภัณฑ์ในเครือ

Utility Token แบบพร้อมใช้ ยังแบบได้ 2 กลุ่ม คือ

1.1 โทเคนกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค” เช่น บัตรกำนัลดิจิทัลที่ออกในรูปของโทเค็น โทเค็นที่ให้สิทธิในการแลกบัตรคอนเสิร์ต และงานศิลปะ รูปภาพ เพลง แสตมป์หรือวิดีโอในรูปแบบ non-fungible token (NFT) ซึ่งมีการให้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ถือ NFT

โทเคนที่ใช้แทนใบรับรอง (certificate) หรือแสดงสิทธิต่าง ๆ” เช่น ใบรับรองพลังงานทดแทน ใบกำกับภาษี และโฉนดที่ดิน

1.2 โทเคนประเภทอื่นนอกจากกลุ่มที่ 1 เช่น โทเคนที่ให้สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการบน Distributed Ledger Technology (DLT) รวมทั้ง Decentralized Finance (DeFi), โทเคนประจำศูนย์ซื้อขาย(exchange token, governance token รวมถึงโทเคนประจำแพลตฟอร์ม CeFi เป็นต้น

2. Utility Token แบบไม่พร้อมใช้ คือ เมื่อมีการซื้อขายถือครองแล้ว ยังไม่สามารถใช้สิทธิที่กำหนดได้ หรือมีการกำหนดสิทธิประโยชน์จากสินค้าหรือบริการไว้ในอนาคต เป็นการสัญญาด้วยมาร์ตคอนแทร็กว่าเมื่อโครงการนั้น ๆ แล้วเสร็จจะใช้งานสิทธิได้

Investment Token

สำหรับ Investment Token ใบบริบทของบ้านเราก็ค่อนข้างแยกขาดกับโทเคนอื่นๆ ทั้งโทเคนใน Defi, Cefi หรือการพัฒนาโปรเจกต์ GameFi ต่าง ๆ ล้วนไม่ใช่โทเคนเพื่อการลงทุนสำหรับไทย

Investment Token มีลักษณะคล้ายกับการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวคือ ผู้ถือโทเคนลงทุน โดยมุ่งหวังว่าจะได้ผลตอบแทนในอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ผู้ออกหน่วยกำหนดเอาไว้ เช่น ส่วนแบ่งกำไร ส่วนแบ่งรายได้ เป็นต้น

แต่การถือครองมีความยืดหยุ่นมากกว่า ด้วยลักษณะการเป็นโทเคนที่ซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย บางครั้งลิสต์ซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมกับคริปโตเคอร์เรนซีอื่น ๆ

Investment Token แรกของไทย คือ SiriHub Token ของเครือแสนสิริ และที่โด่งดังอีกโทเคน คือ Destiny Token ที่ใช้เพื่อการระดมทุนทำภาพยนตร์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส 2”

อย่างไรก็ตาม Investment Token ไม่ได้คล้ายกับการถือหุ้นเสียทีเดียว เพราะไม่ใช่การลงทุนกับทั้งบริษัท แต่มีลักษณะร่วมลงทุนในโปรเจ็กต์ใดโปรเจ็กต์หนึ่ง เช่น การทำภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง หรือ การทำหมู่บ้านจัดสรรหนึ่งแห่ง เมื่อผู้ออกโทเคนระดมทุน ได้เงินไปทำโปรเจ็กต์เหล่านั้นและงอกเงยมาเป็นรายได้กำไร ก็มีการจ่ายปันผลตอบแทนผู้ถือโทเคน

Investment Token อาจเหมือนตราสารหนี้ (Bond) ที่มีการสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ย หรือรายได้คงที่แก่ผู้ถือครองโทเคน แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียวเพราะเงื่อนไขที่ออกโทเคนอาจไม่ใช่เพื่อการกู้ แต่เป็นการระดมทุนในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนมากกว่า

ดังนั้น จึงมีข้อถกเถียงกันว่า เมื่อ Investment Token เป็นหน่วยการลงทุนหนึ่ง การเก็บภาษีควรเก็บอย่างไร เพราะถ้ามอง Investment Token เป็นหุ้น กำไรจากการขายหุ้นไม่ถูกเรียกเก็บภาษี ณ ที่จ่าย ในขณะที่สถานะของ ถ้า Investment Token เป็น Bond ก็จะมีการเรียกเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไม่ว่าจะเป็นจากดอกเบี้ย ปันผล หรือการขายหน่วยลงทุน และไม่ถูกนำไปคำนวณเงินได้สิ้นปี

Investment Token – คริปโตเคอร์เรนซี จ่ายภาษีอย่างไร

ล่าสุด กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วยโทเค็นดิจิทัล เพื่อการลงทุน (Investment Token)) ต่อคณะรัฐมนตรีโดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ตามมาตรา 40(4)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร

และผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตรา 15% สามารถเลือกไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดนั้นมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

อาจกล่าวได้ว่า กระทรวงการคลังจัดวางโพสิชั่นของ Investment Token ให้เหมือนกับ Bond มีการหักภาษี  ณ ที่จ่าย 15% โดยไม่ต้องนำไปคำนวณสิ้นปีภาษี

ขณะที่ คริปโตเคอร์เรนซี ยังมีความคลุมเครือในแง่การเรียกเก็บภาษี เนื่องจากลักษณะการซื้อขาย รายได้ และผลกำไร มีความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกำไรจากส่วนต่างราคา กำไรจากปันผลที่ได้จาก Staking ซึ่งก็เหมือนการไปฝากเงินที่ต่างประเทศแล้วได้ดอกเบี้ย หรือแม้กระทั่งการถือ Stable Coin ไว้เฉยๆ แล้ว ค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงก็สามารถบันทึกต้นทุนกำไรได้ยาก

เช่น มีคนซื้อ USDT 33,333.33 เหรียญ ที่ราคา 1ล้านบาท (ค่าเงิน 30บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) แล้วโอนไปซื้อคริปโตฯ ที่กระดานเทรดต่างประเทศ ผ่านไปสองเดือนไม่มีการซื้อขาย แต่ค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงเป็น 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับว่าเงิน 33,333.33 เหรียญ USDT มีค่าเท่ากับ 1,166,655 บาท ซึ่งมีส่วนต่างจากเดิมกว่าหนึ่งแสนบาท หรือ 3พัน USDT และเมื่อโอนเหรียญ USDT มาที่กระดานไทย 27,000 เหรียญ เพื่อมาขายเป็นเงินบาทออกสู่บัญชี ได้ 1ล้านบาท เท่าเดิม

เท่ากับว่า เมื่อเทียบเป็นเงินไทยบาท ผู้ลงทุนคริปโต รายนี้ไม่ได้มีกำไรจากการซื้อขายคริปโตด้วยเงินบาท แต่ยังมีเงินเหลือ 1แสนกว่าบาท หรือราว 3,000 USDT สำหรับเทรดคริปโตที่กระดานอื่นอีก ลักษณะเช่นนี้จะคำนวณภาษีอย่างไร ก็ยังเป็นสิ่งที่ยากสำหรับการคิด

ดังนั้น การจ่ายภาษีคริปโตเคอร์เรนซี จึงเป็น “ภาระรับผิดชอบ” ของผู้ซื้อขายเอง ที่จะต้องบันทึกกำไร/ขาดทุนธุรกรรมทุกอย่างของตน เพื่อจดแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อสิ้นปีภาษี หรือกรณีที่ได้รับกำไรจากกระดานเทรดนอก ก็ต้องยื่นแจ้งเป็นรายได้จากต่างประเทศให้ชัดเจน

ทั้งนี้ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย เช่น Bitkub Orbix และอื่นๆ เริ่มมีการแจ้งเอกสารใบกำกับภาษีทางอีเมล์ ให้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อความสะดวกในการบันทึกรายได้กำไรขาดทุนและยื่นแจ้งภาษีแก่กรมสรรพากรแล้ว