“กสทช.” นำร่องประมูลคลื่น 2300-3500MHz

สมภพ ภูวิกรัยพงศ์
สมภพ ภูวิกรัยพงศ์

อีกภารกิจสำคัญของ กสทช. ท่ามกลางความขัดแย้งและข้อครหาจากการทำงานที่สะท้อนความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคณะกรรมการ กสทช. คือการจัดการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังจะหมดอายุ

“สมภพ ภูวิกรัยพงศ์” กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2100MHz 2300MHz และ 850MHz ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จะหมดอายุใน ส.ค.-ก.ย. ปี 2568 ซึ่ง กสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ

“คลื่นย่าน 2100MHz ที่ AIS เช่าใช้ NT เดือน ก.ย. 2568 NT จะต้องคืนคลื่น 15MHz และอีก 2 ปีเอกชนรายอื่น ๆ จะทยอยคืนคลื่นเดียวกันอีก 45MHz รวมเป็น 60MHz โดยส่วนตัวการประมูลคลื่นเร็ว ๆ นี้ จะมี 2 ทางเลือก ทางแรกคือ ประมูลคลื่น 2300MHz ก่อน เพราะ 2100MHz ได้มาแค่ 15mHz โอเปอเรเตอร์จะได้คลื่นไปไม่เต็มที่อาจมีความน่าสนใจน้อย แต่ถ้าจัดโฟกัสกรุ๊ปแล้วเขาสนใจ ก็อาจนำมาประมูลก็ได้”

อีกทางเลือกหนึ่งคือ คลื่น 3500MHz ที่ยังไม่เคยมีการประมูลจะเอาอย่างไร แม้คลื่นนี้จะเหมาะสมกับการใช้งานด้านอุตสาหกรรม ใช้ทำ Private Network ได้ แต่ก็มี Capacity ที่ีเพียงพอให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ประชาชนทั่วไป

“โดยส่วนตัว เท่าที่ทีมของผมได้ลองสำรวจอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้ พบว่าส่วนใหญ่อุปกรณ์รองรับย่านความถี่ 5G 3500MHz มาอยู่แล้ว อีกส่วนก็สามารถแบ่งไปทำ Private 5G Network สำหรับภาคอุตสาหกรรมได้ ข้อดีอีกอย่างคือ ภาคอุตสาหกรรมไม่ต้องไปหาซื้อเครื่องใหม่ ทำให้ค่าอุปกรณ์ถูกลง”

แต่ต้องดูรายละเอียดเชิงเทคนิคอีกมาก ทั้งกับสำนักงาน กสทช. และส่วนที่เกี่ยวข้องว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะใช้กับมือถือทั่วไป-ภาคอุตสาหกรรม

กสทช.สมภพกล่าวต่อว่า NT ต้องทำแผนคลื่นความถี่กรณีไม่มีคลื่น 3 แถบดังกล่าวแล้วจะดำเนินธุรกิจอย่างไร เพื่อให้เวลา NT ไปดำเนินการของบประมาณจากรัฐบาลในการประมูล

“คลื่นต้องประมูลตามกฎหมาย แต่เห็นว่าไม่ควรแพง ให้เป็นไปตามความพร้อมของภาคเอกชน”

เมื่อได้แผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ของ NT มาแล้ว จะจัดโฟกัสกรุ๊ป 2 ครั้ง เพื่อฟังความเห็นและความต้องการว่ายังสนใจประมูลคลื่นหรือไม่

“กสทช.สมภพ” กล่าวถึงการจัดประมูลวงโคจรดาวเทียมที่เหลืออยู่ 2 ชุด คือชุดที่ 1 ตำแหน่งวงโคจร 50.5E ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาท และชุดที่ 5 ตำแหน่ง 142E ราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาท ซึ่งตกอยู่ในความเสี่ยงว่าไทยอาจสูญเสียวงโคจรคืนให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ว่าอยู่ระหว่างเสนอบอร์ด กสทช.ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ และปรับลดราคาเริ่มต้นประมูลวงโคจร เนื่องจากเป็นวงโคจรที่มีพื้นที่ให้บริการห่างไกลในตะวันออกกลาง ทั้งต้องประสานความถี่กับต่างประเทศ จึงไม่จูงใจผู้ประกอบการเท่าที่ควร

โดย กสทช.จะเร่งดำเนินการจัดทำแผนบริหารจัดการความถี่ และออกโรดแมปประมูลคลื่นให้ทันภายในไตรมาส 2/2567 ด้วย