เปิดคลาวด์กลางสาธารณสุข เชื่อมข้อมูลสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกที่ทั่ว ปท.

คลาวด์กลางสาธารณสุข

สธ.-ดีอี เปิดตัวระบบคลาวด์กลางจัดเก็บชุดข้อมูลสุขภาพประชาชนระบบเดียว พร้อมความปลอดภัยไซเบอร์มาตรฐานสากล ISO 27001 เป็นจุดเชื่อมโยงข้อมูลสถานพยาบาลของรัฐกว่า 5 พันแห่ง พร้อมรองรับสถานพยาบาลเอกชน พร้อมคิกออฟ 30 บาท รักษาทุกที่ทั่วประเทศ 

วันที่ 29 มีนาคม 2567 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งผลักดันการพัฒนาระบบสุขภาพระดับชาติ เพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุข สร้างบทบาทของนวัตกรรมด้านสุขภาพ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน 

“กระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ “แอปพลิเคชั่นหมอพร้อม” แพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานกว่า 25.4 ล้านคน รวมถึงการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ มีการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประชาชนบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย ช่วยให้ประชาชนเข้ารับบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดการรอคอยและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง”

โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางฯ เป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเริ่มพัฒนาฐานข้อมูลกลางมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อจัดให้มีระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และส่วนกลาง ให้อยู่บนระบบเดียวกัน 

รวมทั้งยกระดับการทำงานหน่วยงานรัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย พร้อมระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล ISO 27001 ช่วยป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลหรือถูกโจรกรรม และสามารถนำข้อมูลสำคัญมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนในการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม 

ทั้งนี้ ระบบนี้จะเป็นรากฐานรองรับการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านยา ร้านแล็บที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ทราบข้อมูลสุขภาพชุดเดียวกัน เช่น ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร การรักษาที่ผ่านมา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบนี้ใช้ “ศูนย์คลาวด์กลางภาครัฐ” หรือ GDCC (Government Data Center and Cloud Service) โดยมี สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้รับเสนองบประมาณ  

“ระบบคลาวด์กลาง GDCC มีเพื่อให้บริการด้านการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยสำหรับหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนบริการภาครัฐตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบสารสนเทศแพลตฟอร์มกลางบนคลาวด์มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ รพ.สต.ทั่วประเทศ ที่ขาดแคลนบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์และงบประมาณ ซึ่งระบบนี้จะได้รับการดูแล ปรับปรุงและพัฒนาจากหน่วยงานส่วนกลางแบบออนไลน์” 

“ภายใต้นโยบาย Cloud First Policy เป็นหนึ่งในการบริหารจัดการข้อมูลด้วยความปลอดภัยขั้นสูง และลดความซ้ำซ้อนในการเบิกจ่ายและลงทุนทำเซิร์ฟเวอร์ หรือฐานข้อมูลที่ต่างฝ่ายต่างทำ เป็นการลงทุนสำหรับการพัฒนาและดูแลระบบที่มีต้นทุนต่ำ แต่สามารถเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพทุกระดับ ระบบสารสนเทศจะมีระบบประมวลผล Cloud Computing ในรูปแบบ Private Cloud ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน มีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ช่วยลดงบประมาณให้กับภาครัฐในระยะยาวได้”

“โดยกระทรวงดีอี จะดำเนินการจัดหา พัฒนา ดูแลระบบคลาวด์กลางสำหรับข้อมูลสุขภาพที่มีความปลอดภัย พร้อมกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”

“สดช. และ สธ. ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ดำเนินงานให้บริการโครงการคลาวด์กลาง เชื่อมั่นว่าระบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน และเป็นการขับเคลื่อนสู่ Health 4.0 อย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแค่เป็นการปรับปรุงการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่สำคัญในการเดินหน้าของประเทศไทยสู่ Health 4.0 ที่จะช่วยสร้างพื้นที่ในการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมในด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน” นายประเสริฐกล่าว

ในการเปิดโครงการระบคลาวด์กลางสาธารณสุข ยังมีการเสวนา เรื่อง “ความเป็นมาของโครงการ เป้าหมาย การใช้บริการ Cloud การ Exchange ข้อมูล” โดย นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน GDCC มีศักยภาพการดำเนินงานด้วย 4 หมื่นเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (VM-Virtual Machine) แต่มีหน่วยงานรัฐร้องขอความต้องการใช้งานมามากถึง 6.9 หมื่น VM ขณะที่งบประมาณที่อนุมัติให้สามารถจัดสรรได้ราว 2.5 พัน VM ต่อปี 

“VM บนคลาวด์กลางมีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นโครงสร้างพื้นฐาน และสำหรับข้อมูลสุขภาพของประชาชนจากกระทรวงสาธารณสุขเราก็มีการแยกคลาวด์ไว้เพื่อดูแลโดยเฉพาะ”

“คลาวด์ คือ โครงสร้างขั้นที่หนึ่ง และโครงสร้างระดับที่สองคือ แอปพลิเคชั่นที่ทำงานบนนั้น ไม่ว่าจะเป็นหมอพร้อม หรือระบบงานในสถานพยาบาลก็ต้องทำให้ปลอดภย แต่สุดท้ายในระดับบนสุดคือผู้ใช้งานจะต้องเข้าใจการใช้งานและตระหนักในความสำคัญของข้อมูลเพื่อให้ระบบปลอดภัยด้วย”

ระบบคลาวด์กลาง สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ 

การเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณสุขเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้จากทุกพื้นที่ในประเทศ โดยสถานพยาบาลที่ใช้มาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลแบบเดียวกัน สามารถเรียกดูประวัติการรักษา การแพ้ยา และข้อมูลอื่น ๆ ที่ประชาชนได้เก็บไว้กับสถานพยาบาลแห่งอื่น ทั้งจะทำให้เกิดนวัตกรรมการรับบริการแบบโทรเวชกรรม หรือ Tele Medicine โทรเภสัชกรรม-Tele Pharmacy เป็นต้น 

ลักษณะการยืนยันตนด้วยบัตรประชาชน หรือข้อมูล Biometric ที่ทำให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ก็สอดคล้องกับการพัฒนาระบบ “30 บาทรักษาทุกที่” ซึ่งปัจจุบันนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส และจะคิกออฟเพิ่มอีก 8 จังหวัดในวันที่ 30 มีนาคม 2567 และเฟสที่ 2 ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ พังงา เพชรบูรณ์ สระแก้ว สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ 

ดังจะเห็นได้ว่าระบบระบบโครงสร้างพื้นฐาน Data Link เช่นคาวด์กลางสุขภาพนี้ สามารถครอบคลุมสถานพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาล 700-800 แห่งทั่วประเทศ รพ.สต. อีกราว 4,000 แห่งทั่วประเทศ และสถานพยาบาลเอกชนอื่น ๆ แล้ว อาจทำให้เกิดการเร่ง 30 บาทรักษาทุกที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้ แต่ยังต้องดูทิศทางนโยบายต่อไป