3ยักษ์เมินประมูลคลื่น1800 กดดันกสทช.รื้อเงื่อนไขใหม่ นัดถกรัฐบาลหาทางออก

กสทช. โดนเท “เอไอเอส-ดีแทค-ทรู” จับมือไม่ประมูลคลื่น 1800 MHz “กสทช.”ชงรัฐผ่อนผันจ่ายเงินคลื่น 900 MHz พร้อมซอยคลื่นตามข้อเสนอค่ายมือถือ จูงใจ “เอไอเอส-ทรู” เข้าประมูลรอบใหม่ 10 ก.ค.นัดถกรัฐบาลหาทางออก ขู่ทบทวนมาตรการเยียวยาลูกค้าดีแทคหลังสิ้นสุดสัมปทาน

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังจากที่ 3 ค่ายมือถือรายใหญ่ ทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรู ประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ กสทช.เปิดให้ยื่นคำขอใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ขั้นตอนจากนี้จะมีการหารือกับรัฐบาลถึงปัญหาดังกล่าว คาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 10 ก.ค. 2561

“ไม่ได้มองว่าเสียหน้า เราทำตามมาตรฐานเดิมทุกอย่าง ซึ่งครั้งที่แล้วก็มีคนประมูล แต่ครั้งนี้เอไอเอส ทรูอาจคิดว่ามีคลื่นพอ และวงรอบในการจ่ายเงินหนัก เพราะต้องจ่ายพร้อมคลื่น 900 MHz รวมทั้งเตรียมลงทุนใน 5G ส่วนดีแทคที่ไม่เข้าประมูลก็คงมีเหตุผล ซึ่งเราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าจะมีประโยชน์อะไรจากการไม่เข้า ถ้าใครคาดหวังว่าจะใช้คลื่นฟรี ๆ บอกเลยว่าหวังไม่ได้ เพราะเราต้องรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศ”

ทบทวนเกณฑ์เยียวยา

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวเสริมว่า เมื่อไม่มีเอกชนรายใดยื่นเข้าประมูล กสทช.ก็จำเป็นต้องยกเลิกการประมูลครั้งนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด พร้อมรายงานปัญหาทั้งหมดให้ที่ประชุม กสทช.พิจารณา 27 มิ.ย.นี้ และรายงานต่อรัฐบาลต่อไป

“ขณะที่ได้รายงานให้รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณทราบแล้ว และจะมีการหารืออีกครั้ง 10 ก.ค.นี้ ซึ่งปัญหาหลัก ๆ ที่ไม่มีคนเข้าประมูลเป็นเรื่องราคา ซึ่งคงจะไม่สามารถลดต่ำกว่านี้ได้ แต่จะเสนอรัฐบาลให้ผ่อนการชำระคลื่น 900 MHz”

ส่วนมาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่จะหมดสัมปทาน 15 ก.ย.นี้ เงื่อนไขการเยียวยาน่าจะแตกต่างจากครั้งก่อน เพราะ กสทช.พยายามจัดประมูลล่วงหน้าก่อนหมดสัมปทานถึง 3 เดือน แต่เอกชนไม่สนใจเอง ดังนั้นต้องพิจารณาว่าควรจะมีการทบทวนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาหรือไม่ ส่วนข้อเสนอของเอกชนเกี่ยวกับการกำหนดบล็อกคลื่นและจำนวนใบอนุญาต อาจจะมีพิจารณาปรับเปลี่ยนให้จากที่ดีแทคไม่เข้าประมูล 1800 MHz เพื่อรอมาตรการเยียวยา จึงอาจเสนอให้ยกเลิกมาตรการ พร้อมเสนอรัฐเรื่องผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz เพื่อให้เกิดการประมูลได้ ซึ่งถ้าแก้ไขปัญหาทั้ง 2 ด้านได้ อาจจะไม่ต้องใช้เวลา 7-8 เดือน แต่สามารถประมูลคลื่นได้ใน 1-2 เดือน”

เอกชนเมินเงื่อนไขไม่เหมาะสม

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ระบุเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมประมูลเนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ กสทช. ยังไม่เหมาะสมกับการลงทุนหรือก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัท ทั้งเอไอเอสยังมีคลื่นในมือถึง 55 MHz จึงเพียงพอกับการให้บริการลูกค้า โดยบริษัทจะติดตามสถานการณ์และเงื่อนไขการประมูลที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต เพื่อพิจารณาตัดสินใจด้วยความเหมาะสมกับธุรกิจต่อไป

ขณะที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯตั้งแต่ 7 มิ.ย. 2561 ว่า จะไม่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าไม่ได้ทำให้บริษัทเสียโอกาสทางธุรกิจและปริมาณคลื่นในมือยังเพียงพอในการให้บริการลูกค้า

มั่นใจคลื่นเพียงพอ

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า แม้บริษัทจะไม่ยื่นเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ยืนยันว่าบริษัทจะยังคงลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง อย่างน้อย 4,510 ล้านบาทต่อปี จากการเป็นพันธมิตรธุรกิจคลื่น 2300 MHz กับ บมจ.ทีโอที และลงทุนขยายโครงข่ายคลื่น 2100 MHz กับ 2300 MHz อีก 15,000-18,000 ล้านบาท

สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่ามีคลื่นย่านความถี่สูงเพียงพอ สำหรับการให้บริการลูกค้าในมือและมากกว่าผู้ให้บริการรายอื่นอยู่แล้ว ทั้ง 2100 MHz จำนวน 15 MHz และยังมีคลื่น 2300 MHz อีก 60 MHz ที่ได้เป็นพันธมิตรกับ บมจ.ทีโอที

ยืนยันไม่ได้จับมือกดดันรัฐ

นอกจากนี้เงื่อนไขการประมูลของ กสทช. ในครั้งนี้กำหนดราคาเริ่มต้นประมูลที่สูงมากคือ 37,457 ล้านบาทต่อไลเซนส์ (15 MHz) เมื่อนำมาเทียบกับรายได้ของประชากรถือว่าคลื่นนี้เกือบจะแพงที่สุดในโลก วิธีการประมูล N-1 คือการนำไลเซนส์ออกประมูลน้อยกว่าผู้เข้าประมูล 1 ราย ทำให้เกิดดีมานด์และการแข่งขันเทียม รวมถึงทำให้ราคาคลื่นพุ่งสูงเกินกว่าความเป็นจริง ทั้งบล็อกไซซ์ของคลื่นแต่ละใบอนุญาตมีขนาดใหญ่เกินไป ซึ่งดีแทคพยายามเรียกร้องให้มีการนำออกประมูลไลเซนส์ละ 5 MHz แทน 15 MHz แต่ กสทช.ปฏิเสธ

“การไม่เข้าประมูล เป็นจุดยืนเดิมของดีแทคที่แสดงออกอย่างชัดเจนตั้งแต่การเปิดประชาพิจารณ์หลักเกณฑ์การประมูลแล้ว ไม่ใช่เป็นการร่วมมือกันระหว่างค่ายมือถือเพื่อกดดันรัฐบาล”

ด้านนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนา ดีแทค กล่าวเสริมว่า สำหรับคลื่น 1800 MHz ที่นำออกประมูลเป็นคลื่นภายใต้สัมปทานดีแทค ซึ่งปัจจุบันใช้สำหรับให้บริการ 2G และ 4G ต่อให้ส่วนนี้หายไปทั้งเสาและคลื่น คลื่นในมือก็เพียงพอให้บริการ โดยมีคลื่น 2300 MHz เป็นกำลังหลักในการให้บริการดาต้า ซึ่งประสิทธิภาพของโครงข่ายน่าจะดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งยังมีการประสานขอโรมมิ่งกับ “เอไอเอส” ไว้ด้วย ส่วนลูกค้า 2G ได้มีการย้ายลูกค้าไปอยู่ระบบ 3G มาอย่างต่อเนื่อง

มั่นใจได้ใช้คลื่นต่อช่วงเยียวยา

อย่างไรก็ตาม นายราจีฟมั่นใจว่าเมื่อยังไม่มีการประมูลเกิดขึ้น ตามเงื่อนไขของ กสทช. ก็ต้องเข้าสู่ช่วงการเยียวยาลูกค้าดีแทคหลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยก่อนหน้านี้เอไอเอสก็ได้รับการเยียวยาไป 9 เดือน ทรูได้รับการเยียวยาถึง 26 เดือน ดังนั้นลูกค้าของดีแทคก็น่าจะได้เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันระหว่างคู่สัมปทานและองค์กรกำกับดูแลที่จะต้องคุ้มครองผู้บริโภค

“ดีแทคและแคทได้ยื่นแผนร่วมกันเพื่อเป็นการรับประกันว่าจะไม่มีปัญหาพิพาทระหว่างกันเหมือนรายอื่น แม้ว่าในช่วงเยียวยาจะมีต้นทุนการให้บริการสูงมาก และดีแทคจะไม่ได้ผลกำไรใด ๆ จากการให้บริการรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะต้องส่งให้ กสทช.ทั้งหมด ไม่ใช่การปล่อยให้ดีแทคใช้คลื่นฟรี”

ส่วนกรณีที่เอไอเอสและทรู มีความพยายามต่อรองขอขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ในงวดสุดท้ายแลกกับการเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz และการไม่เข้าประมูลของดีแทคก็ทำให้การประมูลครั้งนี้ล่ม อาจมีส่วนช่วยกดดันรัฐบาลมากขึ้นนั้น ซีอีโอดีแทค ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ และกล่าวว่า

“โอเปอเรเตอร์แต่ละรายมีสิทธิ์จะตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ สำหรับรายอื่นคงไม่สามารถอธิบายเหตุผลแทนได้ แต่ดีแทคมีจุดยืนชัดเจนมาตลอด และมองว่าทุกครั้งที่มีการประมูลคลื่นนั่นคือโอกาส แต่เงื่อนไขการประมูลก็สำคัญ”

เงินเข้ารัฐแล้ว 1.26 แสนล้าน

ทั้งนี้สำหรับการประมูลคลื่นของ กสทช. ที่นำส่งเข้ารัฐแล้ว ตั้งแต่คลื่น 2100 MHz ในปี 2555-ปี 2560 อยู่ที่ 126,568.70 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยแยกเป็นคลื่น 2100 MHz ที่ชำระครบถ้วนแล้ว 44,538.75 ล้านบาท คลื่น 1800 MHz ที่จัดประมูลในปี 2558 ชำระแล้ว 50% เป็นเงิน 43,216.235 ล้านบาท คลื่น 900 MHz ที่จัดประมูลในปลายปี 2558 และต้นปี 2559 ชำระแล้ว 10% เป็นเงิน 17,205.6 ล้านบาท คงเหลือยังไม่ถึงกำหนดชำระในปี 2561-2563 อีก 57% เป็นเงิน 166,991.16 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งในปี 2561 จะมีการชำระ 30,210.92 ล้านบาท ปี 2562 อีก 8,602.8 ล้านบาท และปี 2563 อีก 128,177.44 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ที่เอกชนเจรจาขอยืดผ่อนชำระ

โบรกฯชี้ปัจจัยบวกต่อภาพรวม

บทวิเคราะห์จาก บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า กรณีที่ผู้ให้บริการทั้งทรู ดีแทค และเอไอเอส ไม่ร่วมประมูลจะเป็นการกดดันให้ กสทช.ต้องกลับไปปรับเกณฑ์ประมูลใหม่ โดยคาดใช้เวลาราว 7 เดือน-1 ปี ซึ่งกรณีนี้จะเป็นบวกต่ออุตสาหกรรมในระยะยาว และอาจเป็นประเด็นให้ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนได้ เพราะไม่ต้องมีภาระต้นทุนคลื่นความถี่ที่สูง โดยกรณีนี้ส่งผลกระทบ

ต่อดีแทคอย่างจำกัด เพราะดีแทคจะยังใช้งานคลื่นสัมปทาน 1800 MHz ต่อไปได้ภายใต้มาตรการเยียวยา ขณะที่เอไอเอสและทรู คลื่นที่มีอยู่ซึ่งยังเพียงพอรองรับการให้บริการในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ระหว่างที่ กสทช.ใช้เวลาในการทบทวนปรับเงื่อนไขการประมูล