“LnwShop” ปักหลักสู้ กลางสมรภูมิอีคอมเมิร์ซเดือด

ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยกำลังบูมสุด ๆ คาดว่าปีนี้จะโตกว่า 20% จากปี 2561 ที่มีมูลค่า 3.15 ล้านล้านบาท แต่แทบจะไม่เหลืออีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยในตลาด แม้จะทุนหนามากก็ตาม แต่ “เทพช็อป-LnwShop” ยังยืนหยัดมากว่า 8 ปี “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “ณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช้อป ผู้เป็นหัวเรือใหญ่

Q : อีคอมเมิร์ซยังแข่งเดือด 

ตลาดโตและแข่งหนักขึ้นทุกปีอยู่แล้ว เพราะคนเข้าถึงง่ายขึ้น แต่ชัดเจนคือไม่มีลอยัลตี้ เจ้าไหนถูกลูกค้าพร้อมไป แต่ปีนี้อาจจะไม่มีโปรโมชั่นแข่งเดือดเท่าปีก่อน ๆ เพราะผู้บริโภคเริ่มติดกับการช็อปออนไลน์แล้ว

Q : แต่ช็อปบนเว็บไม่ฮิตแล้ว

ตลาดเปลี่ยนตั้งแต่มีโซเชียลมีเดีย ทำให้คนจะเริ่มกับสิ่งที่คุ้นเคย มองว่าเว็บไซต์เป็นเรื่องยุ่งยาก ซึ่งเทพช็อป เป็นเหมือนวีเลิฟช้อปปิ้ง ตลาดดอทคอม คือ สร้างเว็บไซต์ให้ร้านค้าที่ต้องการขายของ ก็ต้องปรับตัว เพราะมีอีมาร์เก็ตเพลสทำให้การเริ่มต้นขายง่ายขึ้นมาก การสร้างเว็บไซต์ขายของจึงไม่ใช่ตัวเลือกแรก

Q : ต้องปรับตัวหนักมาก 

เราเห็นเทรนด์และคิดไว้แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ เมื่อเป็นลาซาด้าไม่ได้ เพราะไม่ได้มีทุนแบบนั้น ก็ต้องเป็นตัวช่วยให้เขาทำงานง่ายขึ้น โดยนำทุกเว็บของเราเข้าไปเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม

อีมาร์เก็ตเพลส ทำให้รายการสั่งซื้อที่เกิดบนมาร์เก็ตเพลสมาอยู่บนเทพช็อปได้ เพราะเดี๋ยวนี้มีหน้าร้านกันมากกว่า 1 ช่องทาง ก็มาจัดการผ่านเทพช็อปได้ที่เดียว แล้วก็ทำบริการต่าง ๆ ที่เป็นตัวช่วยให้ขายของได้ง่ายขึ้น ทั้งหน้าเว็บ บริการหลังบ้าน ทั้งชำระเงิน เชื่อมกับโลจิสติกส์ให้จัดส่งได้ง่าย มีโกดังให้ ร้านค้าก็จะมีเวลาโฟกัสที่สินค้าหรือธุรกิจ

Q : ความท้าทายในปีนี้

หลัก ๆ คือเทคโนโลยีที่ไปเร็วมาก ต้องตามให้ทัน ปัญหาเรื่องคน นักพัฒนายิ่งหายาก เพราะบริษัทต่างชาติเข้ามาเยอะ เขามีเงินทุนให้เงินเดือนสูง ๆ อีกความท้าทายคือ ด้านมาร์เก็ตติ้งที่ไม่ถนัด ก็ต้องพัฒนาระบบให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดการบอกปากต่อปาก และการเทิร์นจากคนที่ใช้บริการแบบฟรีมาเสียเงิน เพื่อให้มีรายได้เพิ่ม ลูกค้ากว่า 6.7 แสนราย กว่า 90% ยังใช้บริการฟรี

ปีนี้เปิดเว็บไซต์ใหม่ “Lnw drop ship” เป็นตัวช่วยให้ผู้ค้าอีคอมเมิร์ซที่ต้องการหาสินค้า กับหาตัวแทนจำหน่ายมาเจอกัน มีร้านค้าในระบบกว่าหมื่นร้านค้า ก็อยากให้เป็นดาวเด่น ตั้งเป้าปีนี้จะโต 20% ถ้า Lnw drop ship สำเร็จก็จะให้คนเปิดเว็บกับเทพช็อปมากขึ้น และใช้บริการอื่น ๆ เช่น เพย์เมนต์ ฟูลฟิวเมนต์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

Q : SMEs คนไทยก็กระทบด้วย

มีผลกระทบจากสินค้าจีน ผู้ประกอบการยิ่งต้องปรับตัว ถ้าผลิตสินค้าเองก็ต้องมีความพิเศษกว่า เพราะถ้าเหมือนกัน แน่นอนว่าต้นทุนสู้จีนไมได้ ดังนั้นต้องมีของที่ลอกเลียนแบบไม่ได้ มีเอกลักษณ์ เพื่อเพิ่ม value ให้ได้ ส่วนร้านที่รับสินค้าจากจีนมาขายก็ต้องสร้างแบรนด์ร้านให้แข็งแรง เช่น รวมสินค้าประเภทเดียวกัน และคัดสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด หรือเน้นที่บริการ ซึ่งการสร้างแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนสินค้าโอท็อปหรือการเกษตรน่าจะเป็นจุดแข็งของไทย แต่ตอนนี้การซื้อสินค้าทางการเกษตรผ่านอีคอมเมิร์ซยังน้อยเพราะสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อยังไม่ได้

Q : ขายผ่านเว็บ-โซเชียล-มาร์เก็ตเพลสดีกว่า

ขึ้นอยู่กับความถนัด กับสินค้า รูปแบบบริการ ถ้าแบรนด์ดังอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งอีมาร์เก็ตเพลส แต่ถ้าแบรนด์ยังไม่แข็งแรงต้องมีตัวช่วย ใช้โอกาสจากส่วนลด จากโปรโมชั่นของมาร์เก็ตเพลสดึงลูกค้ามาหา แล้วค่อยหาวิธีดึงให้มาซื้อผ่านเว็บของเรา ให้จำเราได้ ต้องรู้จักพลิกแพลง เพราะลูกค้าบนอีมาร์เก็ตเพลสไม่มีลอยัลตี้ จำชื่อร้านย่อยไม่ได้ พร้อมจะไปซื้อกับที่อื่นที่ราคาถูกกว่า

Q : จะมีอีมาร์เก็ตเพลสเดียวคุมตลาด 

ไม่น่าจะเหลือรายเดียว อาจะ 2-3 ราย แต่แบรนด์ไทยคงอยู่สู้ไม่ได้ ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว ความท้าทายของไทยคือ จะมีผู้เล่นไทยที่เข้ามาในตลาดนี้แล้วยืนหยัดได้ไหม ซึ่งก็ต้องช่วยกันทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ภาครัฐ เพราะอย่างไรก็ไปคนเดียวไม่ได้ อีคอมเมิร์ซเป็นตลาดทุนนิยม ใครเก่ง ใครมีเงินก็จะอยู่ได้มากกว่า ดังนั้นที่ภาครัฐส่งเสริม ผลตอบรับจะไม่หวือหวา แต่ก็ต้องมี เช่น สร้างความรู้ความเข้าใจ แต่จะให้ภาครัฐไปกีดกันสินค้าจีนช่วยก็คงไม่ได้

Q : ภาษีอีคอมเมิร์ซ

คำว่าภาษี ร้านค้าจะกลัว ไม่อยากเข้าไปยุ่ง อย่างกรณีที่จะตรวจสอบทรานแซ็กชั่นของเงิน ก็เห็นชัดว่า บางร้านค้าไม่ยอมกรอกข้อมูลในระบบเพื่อตัดสต๊อก บางรายก็ปิดร้านไปเลย เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน หลายคนก็บอกว่า รัฐมาไม่ถูกเวลา เพราะอีคอมเมิร์ซกำลังจะเกิด แต่ในอีกมุมก็อาจจะไม่แฟร์กับบริษัทออฟไลน์ที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นรัฐควรมีมาตรการบางอย่างมาสนับสนุน

อยากให้มองตัวอย่างจากต่างประเทศ เพราะก็เจอปัญหาเช่นกัน และเขาจัดการได้