โจทย์ใหญ่ “สมาร์ทซิตี้” ดึงเอกชนร่วมสร้างดันไอเดียสู่สังคม

สมาร์ทซิตี้เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลหลายประเทศผลักดัน รวมถึงประเทศไทย ล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน เปิดเวที ASEAN SMART CITIES NETWORK 2019 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างเมืองอัจฉริยะ โดย “Renaud Meyer” ตัวแทนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของสมาร์ทซิตี้ คือ ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงบริการอัจฉริยะทั้งหลายได้จริง ซึ่งจะทำได้ ต้องเริ่มตั้งแต่การให้ประชาชนที่รู้จักพื้นที่รู้จักระบบนิเวศจริง ๆ มีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการออกแบบสมาร์ทเซอร์วิส

ดึงเอกชน PPP

สอดคล้องกับที่ “Konstantin Matthies” ตัวแทนจาก AlphaBeta ระบุว่า การทำงานร่วมภาครัฐกับเอกชนในรูปแบบของ “หุ้นส่วน” จะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากปัญหาของเมืองทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงมลพิษ ไม่สามารถใช้รูปแบบการแก้ปัญหาเดิม ๆ ได้อีกต่อไป

“ปัญหาเมืองในอาเซียน 30% คือ ที่อยู่อาศัยของประชาชนต้องมีราคาไม่แพง สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ ลดความหนาแน่นของเมือง กระจายที่อยู่อาศัยและเชื่อมต่อการขนส่งให้ประชาชนเดินทางเข้าไปทำงานได้ง่าย โดยการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นจุดที่เอกชนจะมีส่วนร่วมได้มากที่สุด เพราะมีช่องทางหารายได้ มีโอกาสทางธุรกิจ ทั้งการก่อสร้าง การบริหารจัดการที่อยู่แบบโลว์คอสต์”

การออกแบบระบบขนส่งแบบผสมผสาน และการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่จอดรถด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยก็เป็นสิ่งสำคัญ อาทิ การนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยเสริม คาร์แชริ่งที่ทำให้เกิดอาชีพใหม่ได้ ล้วนเป็นโอกาสมหาศาลที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ โดยอาจจะใช้รูปแบบการทำงานร่วมรัฐ-เอกชน (PPP)

โอกาส 1.56 ล้านล้านเหรียญ

ด้าน “Kim Chang Soo” ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ เกาหลีใต้ ระบุว่า ในเกาหลีใต้ 90% ของประชากรอยู่ในเมืองใหญ่ จึงเกิดปัญหาการจราจรและมลพิษ รัฐบาลจึงต้องรีบหาทางลดปัญหา และเชื่อว่าเป็นเช่นนี้ในทุกประเทศ โดยประเมินว่า ปัญหาที่ท้าทายจากสถานการณ์ในปัจจุบัน สามารถเชื่อมโยงกับโอกาสทางธุรกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 1.56 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

“กระบวนการสร้างสมาร์ทซิตี้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านมาช่วยกันออกแบบที่ซับซ้อนสร้างสมาร์ทที่แท้จริง ซึ่งจะทำได้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการใช้การสร้างถนนเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่ต้องมองหาโซลูชั่นที่จะจัดการปัญหามลพิษต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม”

ทั้งรัฐบาลเกาหลีใต้ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

“ต้องรู้ก่อนว่า เป้าหมายคืออะไร ต้องการความอัจฉริยะระดับไหน ในพื้นที่ใด ถ้าโจทย์ไม่ชัดจะยิ่งยาก เพราะกระบวนการทำงานซับซ้อนและเกี่ยวกับหลายภาคส่วน ทั้งต้องกำหนดแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือได้จริง”

นำไอเดียสู่การปฏิบัติจริง

ขณะที่ “Hirotoshi Ito” จากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่า แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมทันสมัย และมีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ปัญหาสำคัญที่พบและเชื่อว่าเป็นในหลายประเทศ คือ การต้องมีหน่วยงานจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีภารกิจเฉพาะของตัวเองที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ฉะนั้นจะทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนแนวคิด ที่ทุกคนทำงานแบบแนวตั้งแบบตัวใครตัวมัน ไม่ประสานกัน ให้กลายเป็นการทำงานแบบแนวนอน คือ เชื่อมต่องานแต่ละส่วนเปลี่ยนแนวคิดจากการปฏิบัติงานแบบแนวตั้ง มาเป็นแนวนอน เป็นเรื่องยากมากในญี่ปุ่น

“การนำไปปฏิบัติจริงมีกระบวนการมากมาย ใครจะมีบทบาทอย่างไร กฎระเบียบต่าง ๆ ต้องให้สอดคล้องกัน อาทิ นิยามความเป็นส่วนตัว การไหลเวียนของข้อมูล เพื่อเชื่อมต่อความร่วมมือกันได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นได้แค่ไอเดีย”

ด้าน “Seok-Yong Yoon” จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่า สมาร์ทซิตี้ คือ การทำบริการที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน และผู้เข้ามาทำธุรกิจในเมือง โดยวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของ ADB คือ การสร้างเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขัน มีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่าทุกเมืองต้องการเหมือนกัน แต่จะเป็นได้ต้องปรับปรุงคุณภาพของบริการ ด้วยการทำงานแบบบูรณาการ โดยเฉพาะในด้านข้อมูล รัฐบาลควรเปิดข้อมูลให้ภาคเอกชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาล เพื่อสร้างบริการที่มีนวัตกรรมมากขึ้น ขยายบริการในจำนวนที่มากขึ้น แลกเปลี่ยนกับรัฐบาลในเมืองอื่นด้วย ฉะนั้น ความร่วมมืออาเซียนสมาร์ทซิตี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ