136 ปี “กิจการไปรษณีย์” รายได้โต…แต่กำลังจะถูกแซง

4 ส.ค. 2562 เป็นวันครบรอบ 136 ปีกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย และ 14 ส.ค. 2562 เป็นวันที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ก่อตั้งครบ 16 ปี แม้ตั้งแต่แยกตัวจาก “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” จะมีช่วงเวลาที่บริษัทขาดทุนแค่ 4 เดือนแรกของการก่อตั้ง

ทั้งยังมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 4 – 5 ปีหลังที่ได้กระแสอีคอมเมิร์ซที่เติบโตก้าวกระโดด เป็นอานิสงส์ให้ตลาดโลจิสติกส์เติบโตตาม พร้อมกับการดึงดูดให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาด จนทำให้วันนี้ หากผู้บริโภคคิดจะส่งของสักชิ้น “ไปรษณีย์ไทย” อาจไม่ใช่ตัวเลือกแรก

โตในอัตราที่ “ลดลง”

แหล่งข่าวระดับสูงภายในบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ขณะนี้ผลประกอบการของไปรษณีย์จะยังเป็นบวก แต่ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะหากนำผลประกอบการของไปรษณีย์ไทย ย้อนหลังไปในช่วง 5 ปี

ที่ผ่านมา และนำมาเทียบกับคู่แข่งรายสำคัญอย่าง “Kerry Express” สะท้อนให้เห็นถึงอานิสงส์ที่ชัดเจนของ “อีคอมเมิร์ซ” ที่ผลักให้รายได้ของทั้ง 2 บริษัทเติบโตอย่างมาก แต่ถ้าวิเคราะห์เจาะลึกจะเห็นว่า รายได้ของไปรษณีย์ไทยเพิ่มขึ้นทุกปีก็จริง แต่ “เพิ่มในอัตราที่ลดลง” ขณะที่รายได้ของ Kerry เติบโต “เท่าตัวทุกปี” 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ธุรกิจไปรษณียภัณฑ์-รับส่งสินค้า ในปี 2561 น่าจะมีมูลค่า 30,800-31,300 ล้านบาท ขยายตัวเร็วขึ้น 9.6-11.3% จากปีก่อน ด้วยอานิสงส์ของอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวและการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น

“ถ้าเทียบว่า Kerry โตเท่าตัวทุกปี ปีนี้ก็มีโอกาสจะมีรายได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซบูมมากและถ้ารายได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท ไปรษณีย์ไทยจะเคลมว่าตัวเองยังเป็นเบอร์ 1 ในตลาดได้ยาก เพราะต้องไม่ลืมว่า รายได้ 2.9 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้วของไปรษณีย์ไทย ไม่ได้มาจากรายได้ส่งพัสดุอย่างเดียวเหมือน Kerry”

ทั้งรายได้ 5 เดือนแรกของไปรษณีย์ไทยอยู่ที่ 11,894.59 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 13,145 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะพลาดเป้ารายได้สิ้นปีที่ 30,000 ล้านบาท ส่วนกำไร 5 เดือนแรกอยู่ที่ 1,015 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายอยู่ที่ 1,744 ล้านบาท

“ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้า 3 หมื่นล้านตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็พลาดเป้า และครึ่งปีแรกของปีนี้ก็ต่ำกว่าเป้ามาก ที่สำคัญคือ ถ้าวิเคราะห์กราฟรายได้-กำไรของไปรษณีย์ไทย จะพบว่ากราฟกำไรเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลงตั้งแต่ปีที่แล้ว และปีนี้มีความเป็นไปได้ว่า กราฟรายได้ก็จะเข้าสู่ช่วงขาลงด้วยเช่นกัน”

ปี”63 พายุใหญ่รออยู่

แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือสถานการณ์ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดจะยิ่งแข่งขันดุเดือด หลังจาก 2 ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซประกาศลุยทำตลาดแบบไม่มีใครยอมใคร ซึ่งจะยิ่งทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโลจิสติกส์หน้าใหม่หลายรายที่เริ่มเข้ามาในตลาดไทยตั้งแต่ช่วง 1-2 ปีก่อนจะเริ่มตั้งหลักได้ ยิ่งทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น

ประกอบกับเป็นช่วงที่ไปรษณีย์ไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน ทั้งบอร์ดบริหารที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะต้องเปลี่ยนชุดใหม่ หลังจากรัฐมนตรีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง รวมถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ “สมร เทิดธรรมพิบูล” จะหมดวาระในเดือน ม.ค. 2563 ซึ่งทั้งหมดจะทำให้นโยบายขององค์กรมีความไม่แน่นอน

ที่สำคัญคือ การปรับโครงสร้างใหม่ในช่วงที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง ด้วยการวางอัตรากำลังของพนักงานไว้ถึง 40,000 คน เพิ่มขึ้นกว่าช่วง 2 ปีก่อนถึงเท่าตัว ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

“ก่อนหน้านี้ คนร. (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) เคยเตือนมาแล้วว่า การเติบโตของไปรษณีย์ไทยก่อนหน้านี้ โตได้ตลาดบูมมาก และเป็นการกินบุญเก่าที่ยุคก่อน ๆ ได้วางรากฐานไว้ แต่สถานการณ์ ณ วันนี้

โดยเฉพาะในปี 2563 ถือเป็นพายุใหญ่ที่จำเป็นต้องได้คนเก่งกว่าซีอีโอก่อนหน้านี้ทุกคนมารวมกันเพื่อกู้สถานการณ์ให้เร็วที่สุด โดยโฟกัสระบบไอทีและการทำบิ๊กดาต้าเป็นสำคัญ”

มีก่อนคู่แข่ง แต่หยุดพัฒนา

ที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการ ที่ทำให้การปรับตัวทำได้ไม่เร็วเท่าคู่แข่ง จะเห็นได้หลายบริการที่ไปรษณีย์ไทย “มีก่อนคู่แข่ง” แต่ไม่ได้มีการพัฒนาอย่างจริงจัง อาทิ บริการธนาณัติออนไลน์ บริการพัสดุเก็บเงินปลายทาง (COD) ที่ยังมีข้อจำกัดทำให้บริการไม่สะดวกเท่ากับคู่แข่งที่เพิ่งเปิดให้บริการ หรือแม้แต่การพัฒนาระบบไอทีที่มีการลงทุนระบบใหม่ของ “CA POS” (Counter Automation Point of Service) 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งเริ่มมีการเปิดระบบใช้งานจริงในปีนี้ รวมถึงที่ผ่านมาไม่เคยเก็บข้อมูลลูกค้าแล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการตลาด

รวมถึงบริการ “อร่อยทั่วไทยไปกับไปรษณีย์” ที่ชูจุดเด่นในการส่งอาหารร้านดังให้ถึงมือผู้บริโภค ซึ่งเริ่มเปิดบริการนี้ตั้งแต่ปี 2551 ในยุคที่ “ออมสิน ชีวะพฤกษ์” เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และในยุคถัดมาก็คาดหวังว่าจะเป็น new S-curve ให้กับไปรษณีย์ แต่ผ่านมาเกือบ 10 ปีก็ยังไม่ได้มีอะไรใหม่ “แหนมเนือง” ก็ยังเป็นตัวชูโรงสำคัญเพียงหนึ่งเดียว

“เดี๋ยวนี้บริการส่งอาหารกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของแอปพลิเคชั่นรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น LINE MAN Grab แต่ผู้บริหารไปรษณีย์ยุคนี้ยังคิดทำเป็นแค่กิมมิก”

ขณะเดียวกันยังไม่ตระหนักว่า บริการอย่าง LINE MAN Grab GET ที่เป็นดีลิเวอรี่ออนดีมานด์ กำลังจะกลายเป็นคู่แข่งนอกเหนือจากบริการ “ส่งด่วน” ที่ Kerry, J&T, Flash, Best ให้บริการอยู่ ยังไม่รวมถึงอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ทั้งลาซาด้าและช้อปปี้ ต่างมีบริการโลจิสติกส์ของตัวเองแล้ว

ทิ้งไพ่ “ดัมพ์ราคา” ฮึดสู้

ล่าสุดผู้บริหารไปรษณีย์ไทยได้ประกาศแคมเปญ “EMS ท้าส่ง” ลดค่าบริการ EMS ถึง 70% ให้เหลือแค่ 3 ช่วงราคาคือ 55 บาท 80 บาท และ 100 บาท จากเดิมที่เริ่มตั้งแต่ 67 บาทจนถึง 372 บาท

“ผู้บริหารทิ้งไพ่ใบสุดท้ายด้วยการดัมพ์ราคาสู้คู่แข่ง แต่ถ้ายิ่งลดราคาแล้ว คุณภาพบริการไม่ได้ตามที่ผู้บริโภคคาดหวังไว้ ยิ่งกลายเป็นผลร้ายมากกว่า”

ที่สำคัญคือการส่งสินค้าของผู้ค้าในอีมาร์เก็ตเพลซ จะถูกเลือกโดยผู้ซื้อจากตัวเลือก “วิธีส่งสินค้า” ในระบบ หากไปรษณีย์ไทยไม่สามารถเข้าไปอยู่ในระบบของอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ และทำให้ลูกค้าเลือกใช้บริการได้ การลดราคาก็ไม่มีความหมาย

“ฝ่ายบริหารมักจะอ้างว่า ถูกกีดกันจากอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ แต่ก่อนนี้เคยมีอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่อีกราย เสนอให้ทำแคมเปญร่วม ก็ไม่เข้าร่วม เพราะบอกว่าต้นทุนไม่ได้ ฉะนั้นถ้าจะรับมือกับการดิสรัปต์จากนี้ ก็ต้องมีการปรับวิสัยทัศน์ ปรับนโยบาย ทำแผนการตลาดให้เร็ว ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง”