Grab Indonesia เราโตคนเดียวไม่ได้

อินโดนีเซีย คือ หนึ่งในตลาดที่ “แกร็บ” ให้ความสำคัญที่สุด ทั้งด้วยจำนวนประชากรที่มีมากและสภาพการจราจรที่เอื้อให้ เติบโต ขณะที่คู่แข่งสำคัญคือ “GoJek” สตาร์ตอัพเจ้าถิ่นที่แข็งแกร่งระดับยูนิคอร์น (มูลค่าบริษัทเกินพันล้านเหรียญสหรัฐ)

“เนเนง กัวนาดี” (Neneng Goenadi) กรรมการผู้จัดการ แกร็บ อินโดนีเซีย เปิดเผยกับการเป็น “super app” หรือ “every day app” เป็นเป้าหมายของ “Grab”

โดยเมื่อปี 2555 แกร็บมีเพียงบริการ “GrabTaxi” แต่ในปีนี้แกร็บมีบริการหลากหลาย ตั้งแต่การขนส่ง, การส่งอาหาร, การส่งพัสดุ, บริการทางการเงิน ไปจนถึงบริการวิดีโอสตรีมมิ่ง ได้แก่ GrabBike, GrabCar, GrabFood, GrabPay, GrabTaxi, GrabRewards, GrabExpress, GrabShuttle, GrabWheels และ GrabDaily

และให้บริการแล้วในกว่า 500 เมืองในอินโดนีเซีย มีบริการ GrabCar ใน 14 สนามบิน และเป็นพันธมิตรกับห้างกว่า 100 แห่ง

โดยเป้าหมายในอนาคตของแกร็บ คือ ต้องการดึง SMEs กว่า 100 ล้านรายเข้าสู่ระบบนิเวศของแกร็บ

“แกร็บเป็นเบอร์ 1 ที่ผู้บริโภคเลือกใช้งาน ในปีนี้ แกร็บมีส่วนแบ่งตลาด 64% ในตลาดเรียกรถแบบออนดีมานด์ ขณะที่ไตรมาส 1 แกร็บฟู้ดมีผู้ใช้งานเติบโตถึง 3 เท่า โดย 57% ของผู้ใช้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ ระบุว่าใช้บริการแกร็บฟู้ดเป็นประจำ และเป็นเบอร์ 1 ในดิจิทัลเพย์เมนต์”

ขณะที่ “open platform” เป็นกลยุทธ์สำคัญในการก้าวสู่ซูเปอร์แอป โดยจะแบ่งผลประโยชน์และผลตอบแทนกับทุกฝ่าย เช่น ร่วมมือกับ OVO แพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัล ที่ทำให้ง่ายต่อการชำระเงินให้กับผู้ขับขี่ หรือ HOOQ เจ้าของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง ที่สามารถรับชมคอนเทนต์ได้บนแกร็บ รวมถึง “localization” การปรับเข้ากับท้องถิ่นก็เป็นอีกกลยุทธ์สำคัญ

ที่ผ่านมาแกร็บได้จับมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งอินโดนีเซีย ในการเพิ่มบริการ “Grab Bajay” เพื่อยกระดับ “Bajay” หรือรถตุ๊กตุ๊กในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้บริการดั้งเดิมเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ รวมทั้งรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ ถึงแม้หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ GrabCar และ GrabBike ที่ใช้เดินทางกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง Grab ก็ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยรถโดยสารในแบบอื่น ๆ เพื่อรักษาวิถีดั้งเดิมเอาไว้ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกให้นักท่องเที่ยวในการเที่ยวชมเมือง

“รถ 3 ล้อ Bajay เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเราได้เห็นโอกาสในการช่วยสนับสนุนผู้ขับขี่ Bajay ในจาการ์ตา พร้อมสนับสนุนวิถีเดินทางแบบเก่าให้คงอยู่ ปัจจุบัน Grab Bajay มีจำนวนกว่า 11,000 คันทั่วจาการ์ตา”

นอกจากนี้ ได้เปิดบริการใหม่ “Grab Kitchen” ที่เกิดจากแนวคิด “Cloud Kitchen” โดยจะรวบรวมร้านอาหารหลาย ๆ ร้านมาไว้ในครัวเดียวกัน ดังนั้นจะช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้หลายเมนูมากขึ้น จากเดิมบางร้านไม่มีของหวานจากนี้ก็สามารถสั่งเพิ่มได้

รวมทั้งช่วยให้ย่นระยะเวลาในการส่งสินค้า เพราะที่ตั้งของ Grab Kitchen อยู่ในจุดศูนย์กลาง โดยในแกร็บคิตเช่น 1 แห่ง สามารถมีร้านอาหารร่วมได้ประมาณ 8-15 ร้าน

“Grab Kitchen จะช่วยให้ร้านอาหารเติบโตได้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องลงทุนทำครัวเอง ไม่ต้องขยายสาขาเพิ่ม ดังนั้นร้านอาหารท้องถิ่นจะสามารถเข้าถึงลูกค้าออนไลน์ได้ง่ายยิ่งขึ้น”

ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา Grab Kitchen ในอินโดนีเซียมีทั้งหมด 10 สาขา และจะขยายเป็น 50 สาขาภายในปีนี้ รวมทั้งมีแผนจะขยายบริการในประเทศไทยภายในเดือนตุลาคมนี้

อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้แกร็บประสบความสำเร็จคือ “data” โดยกระบวนการต่าง ๆ นั้นล้วนพัฒนามาจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ อย่างตำแหน่งที่ตั้งของ Grab Kitchen รวมทั้งใช้หาร้านอาหารที่ยังไม่มีในระบบเพื่อเติมเต็ม เพื่อให้ขยายฐานของทั้งผู้บริโภคและผู้ค้าในแพลตฟอร์ม