สงครามแย่งชิง “เวลา” Loyalty คอนเทนต์คืออาวุธ

เทคโนโลยีได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจสื่อ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการ “โทรทัศน์” ในเวที Thailand Zocial Award 2020 “อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้ฉายภาพการปรับตัวของวงการโทรทัศน์กับยุคสมัยปัจจุบัน โดยระบุว่า เทคโนโลยีนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ “เวลา” เพราะเวลาในหนึ่งวันมีแค่ 24 ชั่วโมง สิ่งที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ กำลังแข่งขันกัน จึงเป็นการแย่งชิงเวลาจากผู้บริโภค

ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น วงการสื่อเกิดการ disruption อยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ business disruption เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อเอง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ครั้งที่สอง คือ user disruption เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมของผู้บริโภค จะเห็นได้จากสถานการณ์ในปี 2557 จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 24 ล้านคน และในปี 2558 จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 40 ล้านคน

จากเดิมที่ผู้บริโภคใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงแค่บน desktop แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟน ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ ในวงการโทรทัศน์จะต้องคำนึงถึง ต่อจากนี้ คือ การเกิดขึ้นของสมาร์ททีวี การที่อินเทอร์เน็ตจะเข้าไปอยู่ในโทรทัศน์ ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระลอกที่ 3 ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้

ทั้งนี้ ยังคงมีโอกาสที่ผู้ประกอบการในวงการโทรทัศน์ต้องคำนึงถึง เพราะโดยภาพรวมพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 80-90% ยังคงนิยม

คอนเทนต์ที่เป็นภาษาไทย และคอนเทนต์ที่มาจากโทรทัศน์ ทั้งอาจแบ่งผู้เล่นได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ทำคอนเทนต์ และเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งผู้เล่นทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องดำเนินงานควบคู่ไปด้วยกัน และต้องมีการทำคอนเทนต์ที่ยังคงใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

นอกจากนั้น หากมองเข้าไปในโลกของวงการโทรทัศน์จะพบว่า มีมุมมองหลัก ๆ อยู่ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ “ผู้ชม” หรือผู้บริโภค ส่วนที่สอง คือ “รายได้” ปัญหาของผู้ชมจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขจากคอนเทนต์ต่าง ๆ และในส่วนปัญหาของรายได้นั้นต้องแก้ไขที่ business model

Advertisment

สำหรับบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) มีคอนเทนต์อยู่ 2 บริการหลัก คือ คอนเทนต์ที่เป็นรายการข่าว และคอนเทนต์ที่เป็นละคร โดยจะเปิดบริการใหม่ที่ชื่อว่า “Ch3 Plus” คือ การทำออนไลน์เซอร์วิสแบบใหม่ เป็นการรวมทุกคอนเทนต์มาอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการดูย้อนหลัง หรือดูถ่ายทอดสด Ch3 Plus ไม่ได้เป็นเพียงแค่กลยุทธ์ด้านดิจิทัลเท่านั้น แต่เป็นการเชื่อมต่อจอโทรทัศน์ และจอออนไลน์เข้าด้วยกัน

Ch3 Plus จึงจะถือเป็นการสร้าง loyalty หรือความจงรักภักดีของผู้บริโภค และยังเป็นการสร้าง data เพราะหากไม่มี data ธุรกิจต่าง ๆ ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้

Advertisment

อริยะยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังคงเชื่อว่าทีวียังคงอยู่ เห็นได้จากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Apple ที่ยังคงผลักดันการเกิดขึ้นของ Android TV หรือ Apple TV ซึ่งยังคงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้วงการสื่อโทรทัศน์ได้ว่าจอโทรทัศน์จะยังคงอยู่ แต่คอนเทนต์ข้างในของจอโทรทัศน์นั้น จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง