Biofourmis ลูกรักคนใหม่ของ SoftBank

biofourmis สตาร์ตอัพ
Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

กองทุน Vision Fund 2 ของ SoftBank กลับมาเป็นพ่อบุญทุ่มอีกครั้ง คราวนี้อัดงบฯ 100 ล้านเหรียญหนุนสตาร์ตอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตยารักษาโรคร้ายต่าง ๆ

ลูกรักคนใหม่ของ SoftBank ชื่อว่า Biofourmis หนึ่งในสตาร์ตอัพของวงการ digital therapeutics ที่ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการช่วยมอนิเตอร์ประสิทธิภาพของยาในตัวผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์สวมใส่ (wearables)

Digital therapeutics เป็นsubset หรือกลุ่มย่อยที่กำลังมาแรงของแวดวง healthtech แม้ยังมีผู้เล่นไม่กี่ราย แต่จะโตแบบก้าวกระโดดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยประเมินว่ามูลค่ารวมจะสูงถึง 9.6 พันล้านเหรียญในปี 2026

Digital therapeutics จะช่วยผลิตยาแบบ personalization ซึ่งจะช่วยให้หมอจ่ายยาที่ “ถูกต้อง” แก่คนที่”ใช่” ในเวลาที่ “เหมาะสม”

คนในวงการจึงหวังว่าหากมีเครื่องมือที่นำมาใช้ติดตามผลของยาในตัวคนไข้แบบเรียลไทม์จะช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพรวมในการรักษาได้ดีขึ้น และปรับเปลี่ยนยาหรือปริมาณยาให้เหมาะสมกับอาการของคนไข้ได้ทันท่วงที

นอกจากจะส่งผลดีต่อตัวคนไข้แล้ว เทคโนโลยีนี้ยังอาจช่วยให้โรงพยาบาลมีอัตราคนไข้กลับเข้ารับการรักษาซ้ำ (readmission rate) น้อยลง (เพราะถ้ามี readmission rateสูงกว่าจะที่ควรจะเป็นในเวลา 30 วันหลังคนไข้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลเสี่ยงต่อการต้องจ่ายค่าปรับให้รัฐตามกฎหมาย)

และยังมีการคาดหมายว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้บริษัทยาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ดีขึ้นตั้งแต่ต้นทางโดยเฉพาะยาสำหรับโรคร้ายแรงที่มีราคาแพง

ลูกค้าของ Biofourmis คือ บริษัทยาNovartis ผู้ผลิตยา Entresto สำหรับรักษาอาการหัวใจล้มเหลว

การทำงานของ Biofourmis คือ แพทย์ผู้จ่ายยาจะถามความสมัครใจจากคนไข้ว่าอยากเข้าร่วมโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพยาหรือไม่ หากคนไข้ยินดีจะส่งสายรัดข้อมือ (หน้าตาเหมือน smart watch) ไปให้สวมใส่ฟรี ๆ โดยผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย คือ บริษัทที่ผลิตยานั่นเอง

อุปกรณ์ที่คนไข้ได้ไปนั่นจะทำหน้าที่มอนิเตอร์อัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณออกซิเจนในเลือด ความดันและการทำงานของร่างกายอื่น ๆ และอัพโหลดเข้าระบบของ Biofourmis แบบเรียลไทม์เพื่อให้ทีมงานวิเคราะห์ว่ายาตัวส่งผลต่อร่างกายของคนไข้ตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ และมีซอฟ์ตแวร์ให้ทีมแพทย์คอยตรวจเช็คอาการตลอดเวลาทำให้ปรับเปลี่ยนยาได้ทันท่วงที

ข้อแตกต่างระหว่าง Biofourmisกับ digital wearable ทั่วไป คือ อุปกรณ์ของบริษัทมีไว้ใช้เพื่อการวิจัยในกลุ่มแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตยาเท่านั้น มันจึงไม่มีวางขายในตลาดให้ผู้บริโภคทั่วไปหาซื้อได้

จากการวิจัยทางคลินิกของ Biofourmis ร่วมกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ พบว่าอุปกรณ์ของบริษัทช่วยแพทย์คาดการณ์ว่าผู้ป่วยจะมีอาการภาวะหัวใจล้มเหลวล่วงหน้าได้หลายสัปดาห์ และเข้ากอบกู้สถานการณ์ได้ทันก่อนจะเกิดความสูญเสีย

บริษัทมุ่งเป้าไปที่การผลิตยาเพื่อรักษาหรือป้องกันอาการหัวใจล้มเหลวเป็นหลัก เพราะในอเมริกาก็มีคนป่วยด้วยโรคนี้ถึง 6.5 ล้านคน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์กว่า 3 หมื่นล้านเหรียญ และเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของประเทศ

แต่บริษัทก็มีแผนจะขยายบริการให้ครอบคลุมกลุ่มโรคร้ายแรงอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคเร่งด่วนอย่าง โควิด-19 รวมถึงโรคระบบหายใจ และ มะเร็ง

ที่ผ่านมาวงการ digital therapeutics มีเส้นทางที่ไม่ค่อยราบรื่นนัก สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นอย่าง Proteus Digital Health ที่ผลิต digital pill เช่น ตัวเซ็นเซอร์ขนาดจิ๋วให้คนไข้กลืนลงไปเอาไว้มอนิเตอร์ผลของยา หรือ ตัวแผ่นแปะแขนที่ช่วยเช็กการเต้นของหัวใจ ก็เพิ่งยื่นขอล้มละลายไปไม่นานมานี้ทั้งที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้าน

แต่ Biofourmis มั่นใจว่าการระบาดของโควิดจะทำให้ digital therapeutics มีความสำคัญขึ้นในแวดวงสาธารณสุขทำให้บริษัทยา ยอมทุ่มทุนเข้าร่วมกับบริษัทในการวิจัยและพัฒนาในอนาคต

ส่วน SoftBank ก็ดูมั่นใจในอนาคตสตาร์ตอัพรายนี้ เพราะสอดคล้องกับเป้าหมายของ Vision Fund 2 ที่มุ่งเน้นไปที่ healthtech จาก 9 บริษัทที่สนับสนุนในขณะนี้มีถึง 4 บริษัทอยู่ในวงการ healthtech แต่จากประวัติของพ่อบุญทุ่มรายนี้ที่เคยขาดทุนไปกว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญจาก Vision Fund 1 คนตามข่าวเลยได้แต่หวังว่า Biofourmis จะอยู่รอดปลอดภัยไม่ทำให้ลุ้นเหมือนรายอื่นของ SoftBank