Subscription โมเดลธุรกิจที่ไม่ควรพลาด

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

หลายคนที่กำลังคิดอยากทำธุรกิจหรืออยากเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ลองมาทำอะไรใหม่ ๆ บ้างดีไหมครับ สมัยนี้การทำธุรกิจต่างจากเมื่อก่อนโดยสิ้นเชิง ด้วยโครงสร้าง infrastructure หลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นมือถือ อินเทอร์เน็ต พฤติกรรมคน เทคโนโลยีเปลี่ยนไปหมด ฉะนั้น โมเดลในการทำธุรกิจจึงเปลี่ยนไปมาก มีบิสซิเนสโมเดลแบบใหม่ที่น่าสนใจที่จะทำให้หลายคนขายของได้ง่ายขึ้น และมีรายได้ต่อเนื่อง

นั่นคือการสมาชิก หรือ subscription model จุดที่น่าสนใจของโมเดลนี้ก็คือในแง่ผู้บริโภคได้บริการต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจก็มีรายได้ต่อเนื่อง

โมเดลนี้เติบโตมากในยุคดิจิทัล ตลาด subscription ที่อเมริกามีมูลค่าจาก 57 ล้าน เป็น 2,600 ล้านเหรียญในไม่กี่ปี กลุ่มคนใช้อายุ 25-44 ปี

subscription model ที่เราจ่ายรายเดือน และได้รับบริการออนไลน์ต่อเนื่อง เช่น Netflix, Apple Music, Spotify ล่าสุด YouTube เปิด YouTube Premium จ่ายเป็นรายเดือน ไม่มีโฆษณามากวนใจ รวมถึงใช้ YouTube Music ได้ด้วย

หัวใจของ subscription model คือ 1.ประหยัดเวลา จ่ายครั้งเดียวจบ ไม่ต้องมานั่งกังวลอะไร 2.ราคาถูกลงเยอะ จากที่ซื้อครั้งเดียวแพงมากเมื่อเป็น subscription เป็นรายเดือน รายปีถูกลงเยอะ

ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ Adobe ให้บริการซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการตกแต่งภาพ ที่รู้จักกันดีคือ Adobe photoshop, adobe illustrator, Adobe indesign สมัยก่อนแพ็กหนึ่ง 7-8 หมื่นบาทต่อเครื่อง พอถึงยุคอินเทอร์เน็ตเบ่งบาน Adobe ปรับบิสซิเนสโมเดลเป็น subscription model เปิด Adobe on cloud มี photoshop, illustrator หรือโปรแกรมต่าง ๆ ให้จ่ายหลักร้อยบาทหรือพันบาทต่อเดือน ทำให้นักพัฒนาหันกลับมาจ่ายเป็นรายเดือนกับ  Adobe รายได้จึงเติบโตขึ้นทุกปี เพราะจำนวนฐานลูกค้าที่โตขึ้น เป็นสิ่งที่นักลงทุนชอบมาก คือรายได้เข้าต่อเนื่อง

การทำ subscription model ในยุคอินเทอร์เน็ตง่ายกว่าเดิมเยอะ เมื่อสมัครแล้ว เราจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมโยงไปที่ลูกค้า เวลาลูกค้าจ่ายเงินเดี๋ยวนี้ก็จ่ายง่าย รูดบัตรเครดิต มีการทำ recurring payment คือรูดบัตรแค่ครั้งเดียว จากนั้นระบบจะทำการตัดเงินได้ทุก ๆ เดือนจำนวนแล้วแต่ที่เรากำหนดเอาไว้

หลายธุรกิจทำ recurring model ที่ใกล้ตัวมาก คือ Microsoft Office เปิดบริการ 365 ใช้เป็น subscription model เหลือปีละไม่กี่ร้อยบาท ทำให้ฐานคนใช้กว้างมากขึ้นหรือใครจะเชื่อว่าธุรกิจขายกาแฟก็ทำ subscription อย่าง “เนสกาแฟ”

ที่เมื่อซื้อเครื่องไปแล้วต้องซื้อแคปซูลกาแฟด้วย ต้องสมัครสมาชิก เพราะไม่สามารถไปซื้อกาแฟที่อื่นไปใส่ได้ นี่เป็นตัวอย่างอีกอันหนึ่ง ขนาดกาแฟยังปรับบิสซิเนสโมเดลเป็น subscription ได้ หรือบริษัทขายรถ Toyota ที่เปิดบริษัทชื่อ “KINTO” ใช้วิธี subscription ให้ผู้ใช้ซื้อรถ Toyota 1 คันใช้งาน 3 ปี เมื่อถึงเวลาก็เปลี่ยนรถให้ ข้อดีของ Toyota คือมีรายได้ต่อเนื่อง หรือแม้แต่อิเกียก็เอาโมเดล subscription เข้ามาใช้

ฉะนั้น ผมว่าตรงนี้เป็นโมเดลที่น่าสนใจทำให้เรามีรายได้เข้าต่อเนื่องครับ