คดี Apple VS Epic ถึงเวลาบิ๊กเทคโดนไล่ต้อน

REUTERS/Gonzalo Fuentes/File Photo
Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ในขณะที่สาวก Apple ตื่นเต้นกับไอโฟนรุ่นใหม่ บิ๊กเทคขวัญใจมหาชนรายนี้เพิ่งโดนศาลตัดสินว่าทำผิดกฎหมายการแข่งขันในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งอาจส่งผลต่อรายได้ของบริษัทในอนาคต

วันศุกร์ที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลแขวงประจำแขวงกลางแคลิฟอร์เนียมีคำตัดสินให้ Apple ต้องอนุญาตให้นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นเสนอทางเลือกการจ่ายเงินอื่น ๆ (off-app purchase) นอกเหนือจากที่ต้องจ่ายผ่าน Apple App Store เท่านั้น (in-app purchase)

คำตัดสินนี้เกิดขึ้นหลัง Epic เจ้าของเกม Fortnite ฟ้อง Apple ตั้งแต่ ส.ค.ปีที่แล้ว ในข้อหามีพฤติกรรมผูกขาดตลาดและกีดกันการแข่งขัน หลังจาก Apple เตะ Fortnite ออกจาก App Store

ทันทีที่ Epic โปรโมตให้ลูกค้าซื้อ V Bucks (เงินดิจิทัลสำหรับเล่นเกมFortnite) ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทในราคาที่ถูกกว่าซื้อผ่าน App Store ถึง 20%

Epic เรียกแคมเปญนั้นว่า “Project Liberty” เพื่อปลดแอกนักพัฒนาแอปจากการต้องจ่ายคอมมิสชั่น15-30% ให้ Apple ทุกครั้งที่มีการซื้อขายบริการผ่าน App Store

สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลแขวงกลางแคลิฟอร์เนีย ที่ระบุว่านโยบายของ Apple ขัดต่อกฎหมายการแข่งขันของแคลิฟอร์เนีย และสั่งให้บริษัทต้องอนุญาตให้เจ้าของแอปเพิ่มลิงก์ใต้แอปเพื่อนำลูกค้าไปสู่ช่องทางการจ่ายเงินอื่นนอก

โดยคำสั่งนี้จะมีผลใน 90 วันนับจากวันที่มีคำสั่ง ซึ่งอาจส่งผลระยะยาวต่อรายได้ของ Apple ที่ได้จาก App Store กว่า 6.4 หมื่นล้านเหรียญ (ตัวเลขปี 2020) และส่งให้ราคาหุ้น Apple หล่นวูบไปกว่า 3% ทันทีที่มีการเผยแพร่คำตัดสินสู่สาธารณะ

แต่เพื่อความแฟร์ ศาลยังสั่งให้ Epic ต้องจ่ายค่าปรับให้ Apple โทษฐานละเมิดข้อสัญญา คิดเป็น 30% ของรายได้ทั้งหมดที่ได้จาก iOS Fortnite App ตั้งแต่ ส.ค.-ต.ค. 2020 (12,167,719 ล้านเหรียญ) และอีก 30% ของรายได้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2020 จนถึงวันที่มีคำพิพากษา บวกดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ศาลไม่คิดว่า Apple เป็น“ผู้ผูกขาดตลาด” ตามข้อกล่าวหา โดย ผู้พิพากษากอนซาเลซ โรเจอร์ส บอกว่า การที่ Apple ประสบ “ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย” และศาลไม่พบหลักฐานที่ชี้ชัดว่า Apple มีการขัดขวางการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายอื่น

Apple เป็นหนึ่งในบิ๊กเทคที่โดนรัฐบาลและผู้คุมกฎทั่วโลกเพ่งเล็งอย่างหนักกรณีผูกขาดตลาดและมีพฤติกรรมขัดขวางการแข่งขัน ที่เพิ่งเป็นข่าวไปหมาด ๆ ก็คือโดนเกาหลีใต้สั่งให้ยกเลิกข้อกำหนดให้นักพัฒนาต้องใช้ช่องทางการจ่ายเงินผ่าน in-apppurchase ไปเมื่อเดือนก่อน

จึงไม่แปลกที่ทีม พี.อาร์. Apple จะรีบประโคมคำตัดสินของศาลว่าเป็น“ชัยชนะ” ของบริษัทที่ยืนยันมาตลอดว่าไม่เคยกีดกันการแข่งขัน

“ทิม สวีนนีย์” ซีอีโอ Epic ทวีตสวนทันทีว่าคำตัดสินนี้ไม่ใช่ชัยชนะสำหรับนักพัฒนาและผู้บริโภค และ Epic จะสู้ต่อไปเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยบริษัทจะยื่นเรื่องอุทธรณ์อย่างแน่นอน

สิ่งที่ Epic ต้องการคือ การได้รับอนุญาตให้เปิด “App Store” ของตัวเองบน “ไอโฟน” เพื่อจะได้เก็บเงินค่าบริการต่าง ๆ จากลูกค้าโดยตรงไม่ต้องผ่าน App Store ของ Apple

นักวิเคราะห์มองว่า Epic วางแผนตั้งแต่ต้นในการท้าทายให้ Apple ให้เขี่ย Fortnite ออกจาก App Store เพื่อที่บริษัทจะได้ยื่นฟ้องทั้งในประเด็นการกีดกันผู้บริโภคจากนโยบาย in-app purchase

ขณะที่ Apple ยืนยันว่าไม่ได้ขัดขวางการแข่งขันหรือปิดกั้นผู้บริโภค โดยอ้างว่าผู้บริโภคยังเล่นเกม Fortnite และซื้อ V-bucks ผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ เช่น ผ่านสมาร์ทโฟนบนระบบแอนดรอยด์ หรือผ่าน PlayStation และ Xbox ซึ่งแต่ละช่องทางกำหนดให้ต้องซื้อบริการผ่านระบบของตัวเอง แถมเก็บค่าคอมเช่นกัน

จอช เดวิส อาจารย์ด้านกฎหมายจาก The University of California มองว่าการที่ศาลบอกว่า Apple ไม่เข้าข่ายเป็น“ผู้ผูกขาด” ไม่ว่าจะพิจารณาจากกฎหมายการแข่งขันทั้งระดับสหรัฐและระดับมลรัฐ ใช่จะส่งผลดีกับบริษัทเสมอไป

ตราบที่รัฐบาลและ ส.ส.จากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตยังเห็นความสำคัญในการควบคุมอำนาจและการทำธุรกิจของบิ๊กเทคอย่างเข้มงวดโอกาสที่คำตัดสินนี้จะเป็นบูมเมอแรงที่ยิ่งกดดันให้สภาต้องเร่งปฏิรูปกฎหมายการแข่งขันทั้งหมดเร็วขึ้นก็เป็นได้

แม้คดีนี้จะยังยืดเยื้ออีกหลายเดือนหรือหลายปี และผู้พิพากษา “กอนซาเลซ” อาจพูดถูกว่า “การประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย” แต่ความสำเร็จบนความพ่ายแพ้ของผู้อื่นก็อาจไม่ใช่ความสำเร็จที่ยั่งยืน และสัจธรรมข้อนี้กำลังไล่ต้อนบิ๊กเทคให้จนมุมขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน