เฟซบุ๊ก จ่อรีแบรนด์ ลุยสร้าง “เมตาเวิร์ส” โลกดิจิทัลเสมือนจริง

เฟซบุ๊ก เตรียมรีแบรนด์ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ลุยสร้าง
ภาพจาก AFP

เฟซบุ๊ก วางแผนรีแบรนด์บริษัท พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่สัปดาห์หน้า มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก มุ่งความสนใจ “เมตาเวิร์ส” โลกดิจิทัลเสมือนจริง

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 the verge เว็บไซต์ข่าวด้านเทคโนโลยี รายงานว่า บริษัท เฟซบุ๊ก อิงค์ เจ้าของแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ วางแผนรีแบรนด์บริษัทด้วยการเปลี่ยนชื่อใหม่ในสัปดาห์หน้า โดยมุ่งเน้นไปในเรื่อง “เมตาเวิร์ส” หรือโลกดิจิทัลที่ผู้คนสามารถโต้ตอบและใช้พื้นที่เสมือนจริงร่วมกันได้

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก วางแผนจะพูดถึงการเปลี่ยนชื่อบริษัทในการประชุม Connect ในวันที่ 28 ตุลาคม ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจถูกเปิดเผยเร็วกว่ากำหนด ซึ่งการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ เป้าหมายเพื่อส่งสัญญาณว่าเฟซบุ๊ก ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทโซเชียลมีเดีย หรือบริษัทที่มีข่าวฉาว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้เฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในหลาย ๆ แอปฯ ภายใต้การดูแลของบริษัทแม่ อย่างอินสตาแกรม, วอทส์แอปป์, โอคูลัส และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม โฆษกของเฟซบุ๊กปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการรีแบรนด์

ปัจจุบันเฟซบุ๊กมีพนักงานมากกว่า 1 หมื่นคน ที่กำลังสร้างฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ สำหรับผู้บริโภค เช่น แว่น AR (แว่นจำลองภาพ 3 มิติ) ซึ่งมาร์กเชื่อว่าจะฮิตติดลมบนเหมือนสมาร์ทโฟน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มาร์ก เผยกับ the verge ว่า

“ในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ เราจะเปลี่ยนจากบริษัทที่คนเคยมองว่าให้บริการด้านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ให้กลายเป็นบริษัทเมตาเวิร์สอย่างมีประสิทธิภาพ”

มาร์ก กล่าวอีกว่า ชื่อใหม่ของบริษัทถูกเก็บเป็นความลับสุดยอด และมีผู้ที่รู้ไม่มากนัก แม้แต่ในหมู่ผู้บริหารระดับสูงก็ไม่รู้เช่นกัน การรีแบรนด์ครั้งนี้จะส่งผลให้การทำงานที่เขาวางแผนอยู่ในอนาคต แยกออกจากการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนของเฟซบุ๊ก ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

เมื่อไม่นานมานี้ “ฟรานเซส เฮาเก้น” อดีตพนักงานเฟซบุ๊ก ได้นำเอกสารภายในของเฟซบุ๊กไปแฉ นำไปสู่การพิจารณาคดีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดียวกันเฟซบุ๊กเองก็กำลังถูกตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแล ในประเด็นวิธีการกลั่นกรองเนื้อหาและอันตรายที่เชื่อมโยงจากเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊กไม่ใช่ยักษ์เทครายแรกที่รีแบรนด์

เฟซบุ๊ก ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังรายแรกที่เปลี่ยนชื่อบริษัท เพราะเมื่อปี 2558 Google ได้ปรับโครงสร้างบริษัท พร้อมตั้งบริษัทแม่ชื่อ “อัลฟาเบท” เพื่อประกาศตัวเองว่า ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทเครื่องมือค้นหาอีกต่อไป แต่ยังเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลิตรถยนต์ไร้คนขับ และเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ด้วย

ส่วน Snapchat ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Snap Inc. เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เริ่มเรียกตัวเองว่าบริษัทกล้อง พร้อมเปิดตัวกล้องแว่นตาถ่ายรูปได้รุ่นแรก

นอกเหนือจากแนวคิดของมาร์ก เฟซบุ๊กยังคงวางรากฐานมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีรุ่นต่อไปให้มากขึ้น เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้จัดตั้งทีมเมตาเวิร์ส โดย แอนดรูว์ บอสเวิร์ธ หัวหน้าฝ่าย AR และ VR ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี นอกจากนี้เมื่อสองสามวันก่อน เฟซบุ๊กยังประกาศแผนการจ้างพนักงานเพิ่มอีก 1 หมื่นคน เพื่อทำงานเกี่ยวกับเมตาเวิร์สในยุโรป

“เมตาเวิร์ส จะเป็นจุดสนใจใหญ่ ผมคิดว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สำคัญของการวิวัฒนาการสำหรับอินเทอร์เน็ตหลังจากเกิดอินเทอร์เน็ตบนมือถือ และมันจะกลายเป็นก้าวใหญ่สำหรับบริษัทของเราด้วย โดยจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าจริง ๆ ในด้านนี้” มาร์กกล่าว

ความหมายของ “เมตาเวิร์ส”

แต่ก็มีเรื่องที่ซับซ้อนเกิดขึ้นเกี่ยวกับเมตาเวิร์ส กล่าวคือ ในขณะที่เฟซบุ๊กกำลังสนับสนุนแนวคิดเมตาเวิร์สอย่างหนักหน่วงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เมตาเวิร์สก็ยังไม่ใช่แนวคิด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

ความหมายของคำนี้ ถูกคิดขึ้นโดยนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ นีล สตีเฟนสัน ซึ่งระบุไว้ว่า เมตาเวิร์ส คือโลกเสมือนจริงที่ผู้คนต่างหลบหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงที่บิดเบี้ยว ซึ่งตอนนี้มันถูกนำไปใช้โดยหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่และเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในโลก และจะต้องอธิบายว่าทำไมโลกเสมือนจริงนี้ จึงคุ้มค่าที่จะทุ่มเทกับมัน