Metaverse การเดิมพันครั้งใหญ่ ของ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก”

Metaverse
Tech Times

มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

อาทิตย์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวไหนครองพื้นที่สื่อมากไปกว่าการเคลื่อนไหวของ “Facebook” ในการปรับโครงสร้างเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Meta” พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ใหม่มุ่งสู่การเป็นผู้นำ “Metaverse” หรือโลกเสมือนจริงที่เราเคยเห็นเฉพาะในหนัง sci-fi เท่านั้น

การเลือกจังหวะรีแบรนด์ครั้งใหญ่ก็ช่างเหมาะกับช่วงที่บริษัทกำลังสะบักสะบอมจากการโดนตรวจสอบอย่างหนัก เรื่องผลกระทบของบริการที่มีต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน แต่จะหาว่าทำรีแบรนด์มากลบข่าวฉาวก็คงไม่แฟร์ เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” พูดถึง “Metaverse” ในฐานะเป้าหมายใหม่ที่เขาต้องการพิชิตเพื่อครองความเป็นที่หนึ่งในโลกดิจิทัลแห่งอนาคต

แต่ครั้งนี้มาร์กดูพร้อมทุ่มหมดหน้าตัก โดยสำรองเงินลงทุนก้อนแรกเพื่อฟอร์มทีม “Metaverse” ปีหน้าไว้แล้วกว่าหมื่นล้านเหรียญ

“เจมส์ มัลดูน” นักวิชาการมหาวิทยาลัย Exeter วิเคราะห์ว่า มาร์กอยาก “ควบคุม” โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้ชีวิตดิจิทัลทั้งหมดของศตวรรษที่ 21 เลยต้องการเป็น “คนแรก” ที่ปักหมุดในโลกเสมือนเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

การตระเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้พร้อม เปรียบเหมือนการปูทางสำหรับสร้างรายได้จากการผลิตสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมากมายในอนาคต หากหลับตาจินตนาการตามความฝันนี้ เราจะเห็นโลกดิจิทัลขนาดใหญ่ที่ “มาร์ก” เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน

และถ้าเราอยากเข้าไปเป็น “ส่วนหนี่ง” ของโลกใหม่นั้นก็ต้อง “จ่าย” ค่าธรรมเนียมในการใช้ อาจเป็นค่าบริการรายเดือนเพื่อใช้คอนเทนต์ ค่าไลเซนส์ ในกรณีที่อยากเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ค่าธุรกรรม และจิปาถะอื่น ๆ กลายเป็นระบบนิเวศที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ผู้ให้บริการ ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงผู้บริโภคต้องพึ่งพา

แต่การจะสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมาได้ต้องใช้เงินทุนมหาศาล นักวิเคราะห์บางส่วนจึงยังไม่ค่อย “ซื้อ” ไอเดียนี้เท่าไหร่ มีการยกกรณี Google มาเปรียบเทียบว่าในปี 2015 Google ประกาศปรับโครงสร้างเหมือนที่เฟซบุ๊กเพิ่งประกาศไป ตั้ง Alphabet เป็นบริษัทแม่ และฟอร์มโปรเจ็กต์ยักษ์ “Other Bets” ขึ้นมาเสาะหาคิดค้นนวัตกรรมสุดล้ำเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต

แต่ผ่านมา 6 ปีแล้ว ความฝันนั้นยังไปไม่ถึงไหน แถมหลายโปรเจ็กต์ต้องปิดตัว เช่น Project Loon ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลผ่านบอลลูนหรือโครงการรถไร้คนขับที่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม

สิ่งเดียวที่เห็นชัดจนแสบตานักลงทุนคือ เงินที่จมหายไปกับโปรเจ็กต์เหล่านี้ ลำพังแค่ไตรมาสที่ผ่านมาโปรเจ็กต์ Other Bets ผลาญงบฯไปแล้วถึง 1.29 พันล้านเหรียญ เช่นนี้แล้วจะไม่ให้นักวิเคราะห์กับนักลงทุนรู้สึกเสียวสันหลังกับ “Metaverse” ได้อย่างไร กดดันให้หุ้นร่วงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ทันทีที่มีการประกาศ “วิชั่น” ใหม่

นักวิเคราะห์จาก Bank of America ประเมินว่า การพัฒนา VR (virtual reality) AR (augmented reality) และอุปกรณ์พื้นฐานอื่น ๆ อาจต้องใช้งบฯถึง 5 หมื่นล้านเหรียญกว่าจะคืนทุนทำให้โครงการ Metaverse คือความเสี่ยงด้านการเงินครั้งสำคัญ และอาจส่งผลกระทบต่อ “ธุรกิจหลัก” ของบริษัทได้ แต่นักวิเคราะห์ไม่ถึงกับมองไม่เห็นข้อดีของ “Metaverse” เลย หากทำได้จริงก็อาจสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ มูลค่ามหาศาลตั้งแต่ขายตั๋วดู Super Bowl ระยะใกล้ชิดไปจนถึงคอร์สฝึกตีกับนักเบสบอลระดับตำนาน

แม้ตอนนี้จะยังไม่มี “Metaverse” แบบครบวงจร ก็พอมีบริการที่เข้าข่ายว่าเป็นส่วนประกอบของโลก “เสมือนจริง” ให้เห็นบ้าง เช่น แพลตฟอร์มเกม roblox และ minecraft ที่ให้ผู้เล่นเข้าไปมีส่วนในเกมเหมือนจริง หรือแม้กระทั่งโครงการ Horizon Workroom ซึ่งเป็น virtual work space ที่ Facebook เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา ก็พอฉายภาพให้เห็นอนาคตของ “Metaverse” ได้บ้าง

“มาร์ก” ย้ำกับนักวิเคราะห์ตอนประกาศผลประกอบการล่าสุดว่า บริการ “เสมือนจริง” เหล่านี้ คิดค่าบริการเป็น “สกุลเงินจริง” ดังนั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีรายได้ พร้อมกล่อมต่อด้วยว่าในอนาคตเมื่อผู้คนหันมาใช้ “เมตาเวิร์ส” มากขึ้น ความต้องการในสินค้า “ดิจิทัล” ใหม่ ๆ ก็จะเพิ่มพูนขึ้นด้วย ตั้งแต่เสื้อผ้าดิจิทัล อุปกรณ์ดิจิทัล ไปจนถึง “ประสบการณ์” ดิจิทัลซึ่งจะนำไปสู่รายได้หลายแสนล้านเหรียญ

แน่นอนว่า “โฆษณา” แหล่งรายได้หลักของเฟซบุ๊กก็จะนำไปใช้บนโลก “Metaverse” ดังนั้น นักลงทุนสบายใจได้ว่าเงินทองจะไหลมาเทมาแน่นอน

ทั้งหมดนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 10 ปี แต่คำถามคาใจใครหลายคนที่อยู่ใน “โลกแห่งความจริง” วันนี้ คือกว่าจะถึงวันที่มี “โลกเสมือนจริง” เฟซบุ๊กต้องหมดเงินไป “จริง ๆ” เท่าไหร่เพื่อทำให้ฝันของมาร์กเป็น “จริง”