ความท้าทาย DGA “รัฐบาลดิจิทัล” ถึง “ไทยแลนด์พาส”

สัมภาษณ์

นอกจาก “DGA” หรือ สพร.-สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จะมีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ล่าสุดยังเข้ามารับผิดชอบดูแลระบบลงทะเบียนของ “Thailand Pass” รองรับการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมาด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) หลากหลายแง่มุมดังนี้

Q : ความท้าทายในการผลักดันรัฐบาลดิจิทัล

DGA เดินหน้าภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การยกระดับหน่วยงานภาครัฐสู่องค์กรดิจิทัล 2.พัฒนาบูรณาการแพลตฟอร์มดิจิทัลภาครัฐ และ 3.ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลดิจิทัลภาครัฐและการใช้ข้อมูล

ความท้าทายในการผลักดันรัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ก็มี 3 เรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน คือ 1.บุคลากร โดยปรับกระบวนการทางความคิด ซึ่งมองไปที่ตัวองค์กร คือ การเตรียมความพร้อมให้องค์กรโดยเฉพาะผู้นำและเจ้าหน้าที่ไอทีขององค์กร เป็นทิศทางที่จะเน้นในปี 2565 ส่วนที่ 2 กระบวนการ โดยจะทำงานร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อพิจารณาว่ามีกระบวนการไหนบ้างที่จะต้องปรับปรุง เช่น ถ้าหน่วยงานไหนติดข้อกฎหมายส่วนใด ก.พ.ร.จะเจรจากับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อแก้ไขกฎระเบียบให้

สิ่งที่ DGA จะเพิ่มเติม คือ การปรับตัวเองใหม่ โดยให้มองลูกค้าเป็นศูนย์กลางไม่อยากให้หน่วยงานไปเตรียมกระบวนการที่เป็นดิจิทัล แต่ไม่เปลี่ยนวิธีใช้ เช่น มีกระบวนการ 20 ขั้นตอนเช่นเดิม แต่ย้ายขึ้นไปบนดิจิทัล ซึ่งไม่ตอบโจทย์การใช้งานของประชาชน ซึ่งปี 2565 จะมีบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยรัฐกับรัฐมากขึ้น

สุดท้าย คือ เทคโนโลยี ต้องมีบทบาทร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำหนดมาตรฐานกลางในการให้หน่วยงานรัฐใช้บริการด้านเทคโนโลยี และสร้างมาตรฐานในการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นระบบกลางเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนการให้บริการได้สะดวก รวดเร็ว

Q : คอนเซ็ปต์ One Application

เราพยายามพัฒนาแอปพลิเคชั่น ทางลัดรูปแบบ One Application อยู่ แต่จะน่าใช้งานหรือไม่ก็อีกเรื่อง เพราะมีความซับซ้อนอยู่ ฝั่งรัฐบาลพยายามบูรณาการให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความสับสนให้ประชาชน

สิ่งที่พยายามจะทำต่อจากนี้ไป คือ พัฒนาแอปพลิเคชั่นตามช่วงวัย นั่นหมายถึงแอปพลิเคชั่นที่รวมบริการที่ประชาชนในแต่ละช่วงวัยต้องการ เช่น วัยเรียน ก็รวมข้อมูล บริการที่คนวัยเรียนต้องการ หรือวัยทำงาน ก็จะรวมเรื่องประกันสังคม หรือบริการที่คนวัยทำงานที่ต้องใช้บ่อย

ในต่างประเทศไม่ได้รวมทุกบริการบนแอปพลิเคชั่นเดียว แต่เป็นการรวมบริการที่คนใช้บ่อยไว้ในแอปพลิเคชั่นเดียว แนวทางนี้น่าจะเป็นสิ่งที่จะเดินไปมากกว่ารวมทุกบริการไว้ที่แอปเดียว

Q : ปัญหาของ Thailand Pass

ถ้าเป็นปัญหากรณีที่ผู้ลงทะเบียนไม่ได้รับ QR Code หรือได้รับล่าช้ามาจาก 7 สาเหตุ คือ 1.การอัพโหลดเอกสารวัคซีน ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ระบุไว้ในเอกสาร เอกสารไม่ชัด เบลอ 2.กรอกข้อมูลไม่ตรงตามไอเท็มที่กำหนด 3.โรงแรมไม่ได้ผูกกับโรงพยาบาลที่ได้รับตรวจ RT-PCR 4.ลงข้อมูลซ้ำหลายครั้ง เป็นผลให้การอนุมัติมีความสับสน 5.กรอกอีเมล์ผิด หรือไม่ครบ ทำให้ส่งข้อมูลไปยังผู้ลงทะเบียนไม่ได้

6.ผู้เดินทางไม่เผื่อระยะเวลาที่ต้องลงทะเบียนเอกสารใหม่ กรณีเอกสารไม่ผ่านการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติม และ 7.แนบไฟล์เอกสารผิด ไม่ตรงตามหัวเรื่อง

Q : มีปัญหาอื่น ๆ อีกไหม

ปัญหาหลักอยู่ที่การสื่อสาร เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าใจว่าเมื่อเปิดระบบ 1 พ.ย.จะได้รับอนุมัติทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือระบบให้บริการได้ แต่การอนุมัติต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสารอย่างช้า 7 วัน ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศต้องเร่งสื่อสารประเด็นนี้ใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางได้

ระบบ Thailand Pass เริ่มเปิดให้ลงทะเบียน 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสาร 7 วัน ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย ช่วง 1-7 พ.ย.ไม่ได้ใช้ระบบ Thailand Pass แต่ยังใช้หนังสือรับรองการเดินทาง (The Certificate of Entry: COE) ที่ต้องขอจากกระทรวงการต่างประเทศ

นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ใช้ระบบ Thailand Pass จะเริ่มทยอยเข้ามาตั้งแต่ 8 พ.ย.เป็นต้นไป ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (1-7 พ.ย.) เป็นกระบวนการของระบบเดิม คือ COE

ข้อมูลย้อนหลังในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass 97,052 คน ได้รับการอนุมัติแล้ว 56,835 คน และส่งเอกสารแล้วได้รับการอนุมัติทันที 27,836 คน คิดเป็น 1 ใน 3 ของคนที่ลงทะเบียน

สาเหตุที่ไม่สามารถอนุมัติได้ทันที เนื่องจากบางประเทศไม่มี Vaccine Certificate หรืออยู่ระหว่างการติดต่อกับประเทศนั้น ๆ ทำให้ต้องใช้คนในการตรวจสอบเอกสาร ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสาร

Q : แนวทางแก้ปัญหาระยะยาว

ทันทีที่รัฐบาลประกาศว่าจะเปิดระบบ Thailand Pass 1 พ.ย. DGA ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบก็ได้ขึ้นระบบได้ตามกำหนดที่วางไว้ หลังจากใช้งานมาก็ไม่เคยเจอปัญหาระบบล่ม แต่เจอหลาย ๆ ปัญหา เช่น กรอกอีเมล์ผิด เป็นต้น

โดยไม่สามารถเดาปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ และในฐานะผู้พัฒนาระบบต้องแก้ไข และพัฒนารูปแบบไปเรื่อย ๆ ตามความต้องการของหน่วยงาน ดังนั้นระบบจะไม่นิ่ง แต่จะมีการปรับปรุงให้น้อยที่สุด

2 เรื่องหลักที่เตรียมจะปรับ คือ พัฒนาให้สามารถติดตามสถานะการลงทะเบียนได้ และการเพิ่มรายชื่อโรงแรมที่ผูกกับโรงพยาบาลที่ตรวจ RT-PCR เข้าไปในระบบ เพื่อให้การใช้ง่ายและการอนุมัติรวดเร็วขึ้น

โดยสรุปแล้วผลลัพธ์ของการใช้ระบบ Thailand Pass ถือว่าประสบความสำเร็จ รองรับการใช้งานได้ในจำนวนมาก ๆ และระบบไม่ช้า เพราะการันตีว่าการอนุมัติจะแล้วเสร็จใน 7 วัน แต่เมื่อมีเป้าหมายใหม่ว่าต้องอนุมัติภายใน 3 วัน ทางกรมควบคุมโรค และกระทรวงการต่างประเทศก็ต้องเตรียมเสริมกำลังคนเข้ามา เพื่อตรวจสอบเอกสารเหล่านี้ให้ตรวจสอบและอนุมัติเอกสารได้ใน 3 วันตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

Q : เทียบระหว่าง COE กับ Thailand Pass

การพัฒนาระบบ Thailand Pass…ถ้าเราทำระบบให้ยาก ต้องกรอกข้อมูลจำนวนมาก ผู้ใช้งานก็จะไม่สะดวก แต่พอให้กรอกง่ายขึ้นก็มีปัญหา ดังนั้นอาจไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบที่สุด สะดวกที่สุด แต่ DGA ก็พยายามคัดกรองด้วยระบบมากที่สุด หากเทียบกับระบบ COE ต้องบอกว่า ระบบ Thailand Pass สะดวกกว่า

เนื่องจากระบบเดิมต้องไปขอเอกสารที่สถานทูตแล้วถือเอกสารเข้ามา เวลาเดินทางเข้ามาแล้วต้องใช้เวลาในการตรวจเอกสารค่อนข้างนาน ขณะที่ Thailand Pass กรอกเอกสารล่วงหน้า และนำ QR Code มาแสดงเมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย