เจาะ 5 เทรนด์เทคโนโลยี AI อัพสปีดธุรกิจ

BIZCUIT เจาะ 5 เทรนด์เทคโนโลยี AI ด้าน Machine Learning เร่งอัพสปีดธุรกิจ

วันที่ 31 มีนาคม 2565 รายงานข่าวจาก บริษัท บิสกิต โซลูชั่น หรือ BIZCUIT ผู้ให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยี AI เปิดเผยว่า กระแสความนิยมในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในธุรกิจต่าง ๆ มีการเติบโตต่อเนื่องทั่วโลก

โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.48 ล้านล้านบาท โดย 60% ของตลาด เป็น Application หรือโซลูชั่นที่มีการใช้ Machine Learning AI หรือมีมูลค่า 1.48 ล้านล้านบาท

นายสุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสกิต โซลูชั่น จำกัด หรือ BIZCUIT เปิดเผยว่า เทคโนโลยี AI ด้าน Machine learning เป็นที่จับตามองไม่เฉพาะแค่ภาคธุรกิจแต่ถิอเป็นนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนในทุกหน่วยของโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจาก Machine learning เรียนรู้ และทำความเข้าใจในสิ่งที่มนุษย์ถ่ายทอดเสมือนเป็นมนุษย์ และทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้

สำหรับเทรนด์เทคโนโลยี AI ด้าน Machine Learning แบ่งเป็น 5 เทรนด์ คือ 1. Voice is the new hand เสียงจะเป็นเหมือนแขนที่สามของมนุษย์ที่คอยสั่งการสิ่งต่าง ๆ แบบไร้การสัมผัส ข้อมูลเสียง ทำให้เราสั่งงานระบบต่างๆ พร้อมยืนยันตัวตน และแจ้งตำแหน่งด้วยการพูดก่อเกิดการใช้งานใหม่ๆมากมาย

เทรนด์ที่ 2. Computer Generated Content การสร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหาด้วย AI เกิดจากเทคโนโลยี Natural Language Generation หรือ NLG โดยปัจจุบันสามารถสอนให้ AI คิดเนื้อหาขึ้นเอง เพื่อตอบโต้ความต้องการของมนุษย์แบบอัตโนมัติ หรือสร้างความบันเทิงให้กับมนุษย์

เทรนด์ที่ 3. Natural Language Understanding จะใช้ร่วมกับ IoT ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในอนาคต AI จะสามารถเข้าใจสิ่งที่มนุษย์ต้องการ ไม่ใช่แค่เข้าใจคำสั่ง แต่เข้าใจความต้องการทำให้ประสบการณ์ที่จะได้จาก IoT ยิ่งทวีคูณ เช่น เมื่อพูดว่าน้ำส้มหมด ตู้เย็นจะวิเคราะห์ได้ว่าต้องการซื้อน้ำส้ม และสืบค้นร้านค้าออนไลน์ เปรียบเทียบราคา และเสนอตัวเลือกที่ดีที่สุดให้ เป็นต้น

เทรนด์ที่ 4. Computer Vision การวิเคราะห์ภาพเรียลไทม์จะใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเพิ่มขีดความสามารถของกล้อง CCTV ที่มีอยู่แล้ว ให้เป็น AI Vision Analytic ตรวจจับวิเคราะห์ภาพเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ

เทรนด์ที่ 5. ระบบประมวลผลแบบใหม่ เช่น Quantum Computer กำลังจะยกขีดความสามารถของ AI ไปแบบก้าวกระโดด เนื่องจากศักยภาพในการประมวลผลของ AI ขึ้นอยู่กับความสามารถของฮาร์ดแวร์ และ Quantum Computer

นายสุทธิพันธุ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทั้งภาครัฐ และเอกชนนำ Machine Learning AI มาใช้งานแล้วเพื่อช่วยสร้างประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ อาทิ Machine Learning Computer Vision สามารถแยกพนักงานกับลูกค้า ใช้ควบคุมการบริหารจัดการร้านค้า วิเคราะห์การทำงานของพนักงาน

ขณะที่ในหน่วยงานภาครัฐได้นำไปใช้ในการพัฒนา Smart City หรือใช้ตรวจจับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ เป็นต้น

“เราในฐานะผู้นำในการให้บริการโซลูชั่นด้วยเทคโนโลยี AI ด้วยการเป็น AI Enabler ตั้งใจที่จะเป็นผู้ร่วมสนับสนุนการนำเทคโนโลยี AI ด้าน Machine learning มาช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์กรธุรกิจและภาครัฐ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศให้ทรานส์ฟอร์มสู่ยุคดิจิทัลฎ

โดยในปีที่ผ่านมา บริษทยังได้กลุ่มบุญรอดซัพพลายเชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วยเพื่อนำเทคโนโลยี AI ไปต่อยอดให้กับกลุ่มลูกค้า และบริษัทในเครือ ทั้งยังมีลูกค้าคู่สัญญารายใหม่ ๆ คิดมูลค่ารวมกว่า 150 ล้านบาท

ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 60 องค์กร แบ่งเป็นในประเทศ 80 % ต่างประเทศ 20% ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจค้าปลีก กลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มอีคอมเมิร์ซ กลุ่มภาคการผลิต กลุ่มการเงินและประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์ ให้บริการใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นายสุทธิพันธุ์กล่าวด้วยว่าปี 2565 ตั้งเป้าผลักดันธุรกิจให้เติบโตกว่าเท่าตัว โดยขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี AI โซลูชั่น รองรับทุกสาขาของ AI Machine Learning อาทิ ด้าน NLU กำลังพัฒนาภาษาตากาล็อกของฟิลิปปินส์ เป็นภาษาที่ 4 ด้าน Computer vision พัฒนาเพิ่มความสามารถของ AI ในการเข้าใจภาพการปฏิบัติงานในโรงงาน และเรื่องการจราจรมากขึ้น รองรับความต้องการด้าน Smart City