คุยกับ อะเมซอนเว็บเซอร์วิส ลุยเก็บแชร์ปักหมุดตลาดคลาวด์ไทย

การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ กระตุ้นให้ภาคธุรกิจหันมาใช้คลาวด์มากขึ้น อ้างอิงข้อมูลจากการ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า ปีนี้การใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะของผู้ใช้ทั่วโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 397,496 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปี 2564 ที่มีมูลค่า 332,349 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อหันกลับมาดูในตลาดประเทศไทยมีการประเมินว่า ปีนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 34,416 ล้านบาท โตขึ้น 28.2% จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 26,840 ล้านบาท

หนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาดโลกในฐานะผู้ให้บริการ มี อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) รวมอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

คอเนอร์ แมคนามารา

“คอเนอร์ แมคนามารา” กรรมการผู้จัดการภาคพื้นอาเซียน อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ผู้ให้บริการคลาวด์เซอร์วิส กล่าวว่า โควิดเป็นตัวเร่งสำคัญทำให้องค์กร และธุรกิจทั่วโลกหันมาใช้คลาวด์มากขึ้น แต่เทียบกับการใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้น

โดยในปี 2564 การใช้จ่ายบนระบบคลาวด์ยังต่ำกว่า 5% ของค่าใช้จ่ายด้านไอทีโดยรวมทั่วโลก ต่ำกว่าการซื้อฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ และการไลเซนส์ล่วงหน้า เป็นต้น จึงยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก

สำหรับในประเทศไทย การเลือกใช้บริการคลาวด์ของธุรกิจต่าง ๆ มาจาก 3 ปัจจัย คือ การพัฒนาบริการให้เกิดเร็วขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นให้ธุรกิจ โดยเฉพาะการใช้งานเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น และการขยายบริการให้ทั่วถึงในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

เช่น กรณีระบบเทเลเมดิซีนที่มีฐานผู้ใช้ และทรานแซ็กชั่นเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด รวมถึงการเรียนออนไลน์ที่ต้องการความสามารถในการขยาย และลดขนาดของระบบได้อย่างเร็ว

ขยายบริการเจาะตลาดไทย

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ AWS ยังเดินหน้าขยายตลาดในไทยต่อเนื่อง โดยมี 3 บริการใหม่ คือ 1.Amazon Connect บริการระบบคอลเซ็นเตอร์บนคลาวด์ ที่ลดค่าโทร.ออกขององค์กรได้ 2.การเปิดตัว AWS Local Zone ใหม่ ที่กรุงเทพฯ เมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมา

คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อต่อยอดบริการด้านการเชื่อมต่ออุปกรณ์ edge กับคลาวด์ ที่มีให้บริการในไทยก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน AWS มี AWS Local Zone รวม 16 แห่งกระจายทั่วสหรัฐอเมริกา และมีแผนเปิดอีก 32 แห่งใน 25 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปีนี้

“AWS Local Zone คือบริการโครงสร้างพื้นฐานที่นำการประมวลผล จัดเก็บข้อมูล ดาต้าเบส และบริการอื่น ๆ ของ AWS ที่ประมวลผลบนคลาวด์มาไว้ใกล้กับต้นทางข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้บริการได้เร็วขึ้น เจาะภาคอุตสาหกรรมและศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการลดความหน่วงในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปลายทางกับคลาวด์ให้เร็วขึ้น”

และสุดท้าย AWS Outposts โซลูชั่นที่ส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานและบริการของ AWS ไปยังตำแหน่งที่ตั้งในองค์กร ช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ไฮบริดที่สอดคล้องกัน คาดว่าในปีนี้จะผลักดันการใช้คลาวด์ในไทยได้หลากหลายขึ้น ปัจจุบันฐานลูกค้าในไทยจะเป็นขนาดใหญ่ สตาร์ตอัพ และภาครัฐ

“เรายังให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์เป็นอันดับแรก โดยมีการเข้ารหัสที่แข็งแรงตั้งแต่เริ่มต้นสร้างแพลตฟอร์ม และมีบริการเสริมด้านความปลอดภัยที่หลากหลาย และเท่าเทียมในทุกจุดใช้บริการ”

ชูจุดขายบริการหลากหลาย

“อรรณพ ศิริติกุล” หัวหน้าฝ่ายขาย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โควิดเป็นจุดเปลี่ยนกระตุ้นให้องค์กรไทยปรับตัวอย่างรวดเร็ว หันมาใช้เทคโนโลยีคลาวด์มากขึ้น จากเดิมที่ยังรีรอ เนื่องจากโควิดมีผลต่อธุรกิจ ลูกค้าที่ปรับตัวได้เร็วก็เช่น กลุ่มธนาคาร และผู้ให้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ ใช้เวลาไม่นานก็สร้างบริการใหม่ได้

อรรณพ ศิริติกุล

ขณะที่บางองค์กรก็ยังไม่ปรับตัว โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ แนวคิดผู้บริหารและโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งอาจไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดโดยตรง จึงยังไม่ตัดสินใจนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ท้ายสุดเชื่อว่าทุกธุรกิจต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ทั้งหมด ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวได้เร็วกว่ากัน จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น

“คลาวด์เป็นตัวช่วยสำคัญให้ภาคธุรกิจขยับขยาย ปรับตัวได้เร็วขึ้น ปัจจุบันผู้ให้บริการระบบคลาวด์ในไทยมีหลากหลาย เน้นแข่งขันเรื่องโซลูชั่นและการสร้างอีโคซิสเต็มให้แข็งแรง โดยอะเมซอน ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดันต้น ๆ ในไทย ที่ลูกค้าเลือกใช้

เพราะมีโซลูชั่นที่หลากหลาย ตอบทุกความต้องการ แต่จุดเด่นสำคัญที่ทำให้อะเมซอน เว็บเซอร์วิส ได้รับความนิยมจากลูกค้าไทย และทั่วโลก คือ มีบริการหลากหลายในราคาที่ถูกลงทุกปี”

โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้ลดราคาให้กับลูกค้าไปกว่า 111 ครั้ง เมื่อทำราคาได้ถูกลงก็สามารถพัฒนาวิจัย และมีบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการของบริษัทได้ เช่น ธุรกิจแฟชั่นเทค “โพเมโล” ที่ต้องการเพิ่มยอดขาย ด้วยการใช้ personalize ทำให้รู้จักผู้ซื้อดีขึ้น