ฟอร์ติเน็ต ย้ำ “คน” เป็นช่องโหว่ภัยไซเบอร์องค์กร แนะเร่งพัฒนาทักษะ

ฟอร์ติเน็ต

ฟอร์ติเน็ต เผยปัญหาหลัก ภัยคุกคามไซเบอร์ อยู่ที่ทักษะและความเข้าใจของบุคลากร 

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 ฟอร์ติเน็ต ผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เปิดเผยว่าปัญหาสำคัญขององค์กรในยุคหลังโควิด-19 ยังเป็นเรื่องความยากลำบากในการหาบุคคลากรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่นำไปสู่ช่องโหว่ในองค์กร จึงเป็นโอกาสให้กับบริษัทในการนำเสนอบริการฝึกอบรมและสร้างการรับรู้เรื่องการรักษาความปลอดภัย (Security Awareness and Training service) โดยล่าสุดมีโครงการ Training Advancement Agenda (TAA) และโปรแกรม Trainning institue เพื่อสร้างคนมีทักษะระดับมืออาชีพ จำนวน 1 ล้านคน ภายในปี 2569

นายราชีช แพนเดย์ รองประธานฝ่ายการตลาด ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการโจมตีระบบความปลอดภัยเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และมีความหลากหลาย โดยเฉพาะ “มัลแวร์” เรียกค่าไถ่ที่ส่งเข้ามาในรูปแบบลิ้งค์แล้วหลอกให้พนักงานกดเข้าไป ซึ่งในแง่การปกป้องภัยคุกคามเหล่านี้ ฟอร์ติเน็ตมีโซลูชั่นช่วยอยู่แล้ว แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ทักษะและความเข้าใจของบุคลากร

บริษัทมียุทธศาสตร์ 4 อย่าง ที่เข้าไปช่วยลูกค้า คือ 1.การปกป้องภัยคุกคามแบบเรียลไทม์ 2.นวัตกรรม AI/ML ข่วยสร้างความปลอดภัยไซเบอร์ 3.บริการจัดการระบบ และ 4. เทรนด์พนักงานในองค์กรของลูกค้า ตั้งแต่การสร้างความตระหนักในความปลอดภัยไซเบอร์ ไปจนถึงระดับ Expert ที่สามารถดูแลระบบทั้งหมดได้

นอกจากนี้รายงานในภาคพื้นเอเชียเกี่ยวกับช่องว่างด้านทักษะของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำปี ปี 2022 (Cybersecurity Skils Gap Report2022) พบว่าช่องว่างทักษะดังกล่าวยังเป็นความกังวลใจอันดับต้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงของ และกลายเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับกรรมการบริหารให้ความสำคัญ ทั้งแสดงให้เห็นด้วยว่า 71% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจประสบความยากลำบาก ในการจ้างผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีไซเบอร์ซีเคียวริตี้เข้าทำงาน โดย63%เห็นว่าการขาดคนเก่งส่งผลกระทบร้ายแรงถึงธุรกิจ และมีองค์กรจำนวนมากนำเทคโนโลยีคลาวด์และออโตเมชั่นมาใช้จึงทำให้ขาดผู้เชี่ยวชาญหนักขึ้น

“ผู้บริหาร 51% มองงว่าบุคลากรของตนยังขาดความรู้ที่จำเป็น จึงเป็นที่มาให้ฟอร์ติเน็ต สร้างโปรแกรมและแบบทดสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะขึ้นมา”

นางสาวภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต เสริมว่าฟอร์ติเน็ตมีส่วนแบ่งตลาดเน็ตเวิร์ก ซีเคียวริตี้ 28.5% เป็นอันดับหนึ่งในไทย และเอเชียแปซิฟิก ด้วยผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่ให้บริการลูกค้าทำให้พบว่าช่องว่างที่สำคัญคือเรื่องทักษะที่เป็นความกังวลใจของลูกค้าทั่วโลก ประกอบกับแนวโน้มการกลับมาทำงานตามปกติหลัง Work from home สร้างความคาดหวังใหม่ให้องค์กรว่าพนักงานทำงานที่ไหน ตอนไหนก็ได้ ดังนั้นหลังกลับมาทำงานพนักงานยังเชื่อมต่อข้อมูลกับบริษัท ซึ่งเป็นโอกาสในการโดนโจมตี ดังนั้นการอบรมและสร้างความตระหนักรู้จะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยไซเบอร์ในองค์กรด้วย