3 สิ่งที่นักเทรดคริปโตฯ ต้องรู้ Not Your Keys, Not Your Coins

ข้อควรรู้ของนักลงทุนคริปโต หลังกระดานเทรดไทยเกิดวิกฤตสภาพคล่องล่าสุดตอกย้ำว่า “ถ้าเราไม่มีอำนาจโอนเหรียญนั่นไม่ใช่เหรียญของเรา”

วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชื่อดังของไทย Zipmex ประกาศระงับการถอน/โอนเงิน จากวิกฤตสภาพคล่องจากผลิตภัณฑ์ ZipUP+ ซึ่งเป็นบริการฝากคริปโตฯ เพื่อรับดอกเบี้ย ในชุมชนคริปโตเคอเรนซี่ได้พูดถึงคำว่า “ถ้าคุณไม่ได้ถือกุญแจ ก็ไม่ใช่เหรียญของคุณ” หรือ “Not Your Key Not Your Coin กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนมือใหม่และมือเก่าเป็นอย่างยิ่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลมาอธิบายอย่างเข้าใจง่าย เพื่อให้นักลงทุนมือใหม่และมือเก่า สามารถดูแล-ป้องกันความเสี่ยงในการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเองได้

ตัวตนของ เหรียญคริปโตฯ-โทเค็น

สิ่งแรกที่ทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน คือ สินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าจะเรียกว่า คริปโตฯ คอยน์ เหรียญ หรือโทเค็น คือสิ่งที่มี “ตัวตน” ในโลกดิจิทัล สิ่งที่ยืนยันการมีอยู่ของเหรียญและธุรกรรมต่างๆ ที่ยืนยันว่าเราเป็นเจ้าของ เราขายให้ใคร เราโอนไปที่ใด คือสิ่งที่เรียกว่าระบบฉันทามติ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละเครือข่ายบล็อกเชน
ดังนั้น แม้สินทรัพย์ดิจิทัลจะล่องลอยอยู่ในอากาศท่ามกลางสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโค้ดคอมพิวเตอร์ สิ่งที่ยืนยันที่อยู่ของมัน คือ “คอมพิวเตอร์” ที่เข้าร่วมเป็นโหนดหรือเป็นเครือข่ายระบุพร้อมๆ กัน ว่า “มันอยู่ตรงไหน”

ที่อยู่ของเหรียญ

คำถาม “เหรียญอยู่ตรงไหนในโลกบล็อกเชน” ที่อยู่หรือ Address ของมันอยู่ทุกที่ที่มีฐานข้อมูลของบล็อกเชนนั้นๆ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลชุดหนึ่งที่เขียนขึ้นมาแล้วถูกยืนยันจากคอมมพิวเตอร์มหาศาล ที่อยู่นั้นจะเป็นตัวเลขผสมอักขระ 26-35 ตัว ที่มีความซับซ้อนยากแก่การเดาสุ่มเพื่อโจมตี เช่นเครือข่ายบิทคอยน์ ที่อยู่ 1F1tAaz5x1HUXrCNLbtMDqcw6o5GNn4xqX สามารถนำไปค้นหาบนเครือข่ายได้ หรือ เครื่อข่ายอีเธอเรยมนิยมขึ้นต้นด้วย 0x เช่น 0x178D8bE30AaB1cFB2790E4e0e0d1A587bc6d30c2
บางครั้ง “ที่อยู่” แบบนั้น ถูกเรียกว่า “Wallet” หรือ “กระเป๋าเงิน” ซึ่งจริงๆ มีความต่างกันเล็กน้อยในเชิงเทคนิค

Address ของเหรียญเราจะเรียกอีกอย่างว่า Public Key ซึ่งสามารถเปิดเผยให้เห็นได้ ทุกคนที่เข้าถึงบล็อกเชนจะค้นหาเพื่อดูว่ากระเป๋านั้นมีจริง มีเงินอยู่จริงได้ แต่ไม่สามารถทำอะไรกับข้อมูลในนั้นได้ เพราะ “ไม่มีกุญแจ”

Wallet จะเป็นซอฟแวร์หรืออินเทอร์เฟสที่ทำให้เราเข้าถึงแอดเดรสที่เก็บเงินไว้ได้ง่ายขึ้น หมายความว่าถ้าเรามีแอดเดรสและมี Private Key เราก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ Wallet ในเครือข่ายบล็อกเชนเดียวกันได้หมด หรือจะใช้ Wallet ช่วยสร้าง Address ใหม่ ๆ ขึ้นมาก็ได้

”Your Key”

ตัวเลขรหัสลับอีกชุดที่มาคู่กันกับแอดเดรส คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด เรียกว่า Private Key เลขชุดนี้ คือ “กุญแจ” ที่เราพูดถึง และทำให้เหรียญคริปโตฯ-โทเค่นที่เราซื้อเป็นของเราอย่างแท้จริง Private Key เป็นการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์เพื่อแปรผลกลับมายัง Public Key จึงเป็นเหมือนลายเซ็นต์กำกับการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับ Public Key หรือพูดง่ายๆ คือ การโอน ย้ายเปลี่ยนที่อยู่ทำได้โดยการนำรหัสชุดนี้ไปต่อเชื่อม หรือ “ลงนาม” ด้วยรหัสลับ

ดังนั้น เมื่อเราซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วโอนออกไปยัง Address ปลายทางที่อยู่ทั่วบล็อกเชน มันจะถูกเก็บไว้อย่างนั้นจนกว่าเราจะเอา Private Key ไปเชื่อมต่อเพื่อขอทำธุรกรรมใดๆ ก็ตามที่ต้องการ
Private Key คือที่มาของคำว่า “Not Your Key Not Your Coins”

ข้อพึงระวัง

1. Seed Phase/Recovery Phase

คนส่วนใหญ่มักจะใช้บริการ Wallet เพื่อขอให้ Generate กระเป๋าเงิน แอดเดรส หรือ หรือแม้กระทั่ง Private Key ผู้ให้บริการ Software Wallet ที่นิยมที่สุดที่คงได้ยินบ่อยคือ Metamask ให้บริการบนเครือข่าย Ethereum เป็นหลักแต่ก็สามารถเชื่อมต่อบล็อกเชนอื่นๆ ได้ในขณะนี้ สิ่งสำคัญที่เราต้องเก็บรักษาไว้เท่าชีวิต คือ “Seed Phase” หรือ กลุ่มคำศัพท์ 12 คำบ้าง หรือ 24 คำบ้าง ตามแต่ความสามารถในการสร้างของซอฟท์แวร์ที่เราขอใช้บริการ

กลุ่มคำศัพท์เหล่านี้ ห้ามให้ใครเห็นเด็ดขาด และห้ามนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์หรืออิเล็กทรอนิกส์ ให้เขียนบนกระดาษ หรือตอกสลักแยกไว้ เวลาเราเปลี่ยนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เปลี่ยนแอปพลิเคชั่น สามารถ Seed Phase เหล่านี้จะเป็นตัวกู้คืนที่อยู่ของเงินเรา

Seed Phase ทั้ง 12 หรือ 24 คำ เมื่อแปลงคำศัพท์กลับเป็นตัวเลขสลับอักขระก็จะเป็น Private Key ที่คุ้นเคยนั่นเอง

2. มองหา Hardware Wallet

Wallet ที่สามารถสร้าง address ได้นั้นยังมีรูปแบบฮาร์ดแวร์ เพื่อตัดขาดรหัสลับของเราออกจากระบบอินเทอร์เน็ต ป้องกันการแฮ็กโดยไม่รู้ตัวได้ เพราะการเชื่อมต่อ Private Key จาก Hardware Wallet จะใช้การกดปุ่มอนุญาตบนอุปกรณ์จากมือของเรา ซึ่งคงไม่มีใครแฮ็กมือเราได้นั่นเอง
Hardware Wallet จึงเป็นเครื่องมือที่ชาวคริปโตฯ ยอมรับว่าปลอดภัยมากที่สุดในการถือครองกุญแจเข้าถึงสินทรัพย์ Private key ที่ผูกกับ Hardware Wallet มักเป็นสิ่งที่ชาวคริปโตฯ บอกกล่าวแนะนำเมื่อมีคนพูดขึ้นว่า “Not your keys, Not your coins”

จากที่กล่าวมา หากเกิดวิกฤตปิดระบบการโอน/ฝาก/ถอน ของกระดานเทรดเช่นที่เพิ่งเกิดนี้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าสินทรัพย์ของเรามีกระดานเทรดเป็นผู้ถือ Private Key หรือพูดง่ายๆ คือ เขายังเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
มีคนเปรียบเทียบว่าแม้คริปโตฯ ไม่ใช่สินทรัพย์ก็ถือว่าเป็น “ของสะสม” อย่างหนึ่ง
ไม่ว่าเราจะมองว่าคริปโตฯ เป็นทรัพย์สินหรือของสะสมก็ควรที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าทำอย่างไรให้ คริปโตฯเหล่านั้นเป็นของเราอย่างแท้จริง