KBTG อัพสปีดสู่ “เทคคอมปะนี” ปั้นรายได้ 5 พันล้าน จาก New S-curve ใน 5 ปี

แม่ทัพ KBTG มองโลกการเงินดิจิทัล เมื่อแบงก์จะเป็น “เทคคัมปะนี”

KBTG เดินหน้าผลักดันองค์กรผู้นำเทคคอมปะนีอาเซียน ย้ำบุคลากรหัวใจพัฒนานวัตกรรมโลกใหม่ เล็งรับคนเพิ่ม 1 พันคน รองรับการขยายตลาดใน AEC+3 ตั้งเป้าปั้นรายได้ 5 พันล้านบาท จาก New S-curve ภายใน 5 ปี อัพสปีดธนาคารกสิกรไทยสู่ Best Bank

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายทางเศรษฐกิจ แวดวงเทคโนโลยีและ Fintech ยังคงแข็งแกร่ง เห็นได้จากการเติบโตของเม็ดเงินลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยในอาเซียนมีเงินลงทุนด้านนี้มากถึง 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ

“เราอยู่ใน New Era ทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการเงิน และเรากำลังอยู่ถูกที่ถูกทาง ธนาคารกสิกรไทยเองก็ได้ลงทุนด้านนี้โดยเฉพาะ 3 หมื่นล้านบาท แล้วขยายไปในเวียดนามและมาเลเซีย นั่นทำให้ KBTG ผู้ส่งเทคโนโลยีให้ธนาคารกสิกรฯไม่ใช่บริษัทเทคของไทยอีกต่อไป แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือเทคคอมปะนีระดับภูมิภาค” นายเรืองโรจน์กล่าว

ชูผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง

โดย KBTG มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านตัวเลขผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ที่เป็นผู้นำ อาทิ K PLUS ที่มียอดผู้ใช้งานเกิน 13.6 ล้านราย มีการทำธุรกรรมมากถึง 23 ล้านล้านบาท

แอปพลิเคชั่นขุนทอง แอปช่วยจัดการการเงิน มีสมาชิกมากกว่า 850,000 คน มียอดผู้ใช้งานกว่า 400,000 ราย และการเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมบริการใหม่ และยังมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดตัว Kubix ที่ให้บริการ ICO Portal ระบบเสนอขายโทเค็นดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จในการจัดจำหน่าย DESTINY TOKEN และ Coral แพลตฟอร์มจำหน่าย NFT ชั้นนำของไทยที่พัฒนาขึ้นโดย Kasikorn X

สำหรับวิสัยทัศน์ของ KBTG 2025 ที่เรียกว่า Human First, Universe of Technology เป็นการมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร KBTG ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งมอบอำนาจให้กับผู้ใช้งาน พันธมิตร และสังคม และต้องการสร้างความพร้อมทางเทคโนโลยี และขยายขีดความสามารถเพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องการบริการธนาคารมาตรฐานที่กำลังขยายออกไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอีก 3 ประเทศพันธมิตร (AEC+3) และตอบโจทย์ความต้องการในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“เทคคอมปะนี” ที่ดีที่สุดในอาเซียน

ในการเดินทางสู่ “เทคคอมปะนี” ที่ดีที่สุดในอาเซียน จึงต้องมีความพร้อม 3 ด้าน ดังนี้

1.ด้านบุคลากร เป็นส่วนสำคัญที่สุด เนื่องจากลักษณะการทำงานในปัจจุบันของคนรุ่นใหม่มีการเปลี่ยนงานบ่อย และแรงงานด้านเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญยิ่ง จึงมีการดำเนินการสองส่วน คือ สร้างหลักสูตรและการอบรม พร้อมทดสอบเพื่อฝึกฝนบุคลากรด้านไอที โดยเฉพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้เพื่อนบุคลากรในวงการไอทีอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเปิดรับพนักงานที่มีทักษะความสามารถทั้งด้าน Dev, Data, Design รวมถึงสาย DeFi, Blockchain เพื่อบุกเบิกบริการใหม่

“ปัจจุบันเรามีนักพัฒนากว่า 1,100 คนที่กำลังทำงานในไทย และมีที่ต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่ง และยังมีบุคลากรสายงานต่าง ๆ อีกมาก เรามีอัตราการมีส่วนร่วมของพนักงานที่เติบโตขึ้นห่างจากคะแนนของบริษัทที่คนอยากทำงานด้วยที่สุด อันดับหนึ่งในอาเซียนแค่ 7% นั่นเป็นเป้าหมายด้านบุคลากรที่อยากสร้าง เรามอบความท้าทายและการสนับสนุนการทำงานในทุกมิติในการทำงานจากทุกที่ เพื่อนพนักงานมีการดูแลทั่วถึงคอมฯเสียก็เอาคอมฯไปให้เพื่อนถึงที่ ทีมฝ่ายบุคคลคิดหาวิธีสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างดี”

รับพนักงานเพิ่มอีก 1,000 คน

นายเรืองโรจน์คาดด้วยว่า ภายในสิ้นปี 2565 KBTG จะรับพนักงานใหม่ในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ +3 รวมกว่า 700-1,000 คน ปัจจุบันมีพนักงานประจำราว 2,000 คน รวมถึงพนักงานเอาต์ซอร์ซอีกจำนวนมาก

2.การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี เตรียมความรู้ที่สอดคล้องกับเทรนด์การใช้งานทั้งโลกบริการทางการเงินปัจจุบันและโลกอนาคต ด้วยงบประมาณการลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท
ตั้งกองทุน KX Endless Capital โดย KASIKORN X กำลังจะมีแผนการเปิดตัวการลงทุนแรกในโลกของ DeFi, Web3 และ Blockchain รวมถึงเทคโนโลยีในอนาคตที่ต้องศึกษา เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์

3.การยกระดับขีดความสามารถทางนวัตกรรม ด้วยการพลิกโฉมทีม KBTG Labs หน่วยงานที่รวมพลคนที่มีความรู้เฉพาะกิจและผลิตภัณฑ์ การออกแบบ UX/UI และการทำวิจัยทางด้านเทคโนโลยี

พร้อมช่วยกันคิดค้นเทคโนโลยีทางการงินเพื่อสร้างประโยชน์ได้จริง และเพิ่มอำนาจให้กับสังคม ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Innovation Runway ประกอบเข้ากับความเชี่ยวชาญทางด้าน Deep Tech Research ที่ช่วยให้ KBTG Labs สามารถผลิตนวัตกรรมได้เร็วขึ้น

ตัวอย่างโปรเจ็กต์ที่กำลังนำมาใช้งาน เช่น Smart Checkout การคิดเงินค่าสินค้าโดยไม่ต้องสแกนบาร์โค้ด แค่วาง-จ่าย-จาก (Place-Check-Go) และ Smart Retail เทคโนโลยีจำลองประสบการณ์ช็อปปิ้งออนไลน์ พร้อมผู้ช่วยเสมือนจริง Virtual Assistance ที่สามารถพูดคุยให้ความช่วยเหลือได้

ด้านนางวรนฺช เดชะไกศยะ Executive Chairman กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวเพิ่มเติมว่าภารกิจหลักของ KBTG คือ การสนับสนุนธนาคารกสิกรไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นธนาคารที่ดีที่สุด รวมทั้งบทบาทในการพัฒนา Solution ร่วมกับพันธมิตรใน Ecosystem ต่าง ๆ

“ลึก ๆ แล้ว KBTG เป็นส่วนที่สำคัญของธนาคารกสิกรไทย ที่ต้องการเป็น 3 อย่างคือ Best Bank คือเป็นธนาคารที่ดีที่สุด ซึ่งคือมีความยั่งยืนที่สุด Best Tech Company เป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อพร้อมรับมือกับเทคโนโลยี พฤติกรรมลูกค้า และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อเดินหน้าสนับสนุนธุรกิจธนาคารยุคใหม่ และ Best Costumer Experience/Empowerment ที่ช่วยตอบสนองการใช้งานของลูกค้าควบคู่กับการสร้างสรรค์บริการเพื่อโลกการเงินการลงทุนยุคใหม่ เราอยากอยู่ในใจของลูกค้าทุกกลุ่ม และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นองค์กรที่ดีที่สุดในใจของพนักงานของเราเอง”

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับการทำงาน

ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับการทำงาน ดังนี้ 1.ขยายระบบเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาระบบเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมจากฐานลูกค้าในไทยกว่า 21 ล้านรายของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน และธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง เช่น บริการ Digital Lending เพื่อให้บริการธนาคารดำเนินไปได้อย่างไม่สะดุด

2.KBTG จะช่วยพัฒนาศักยภาพระบบแอปพลิเคชั่น K PLUS รองรับการขยายธุรกิจธนาคารสู่ระดับภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมียอดผู้ใช้งานถึง 40 ล้านราย ในปี 2570 ขยายทีมงานเพื่อรองรับธุรกิจธนาคารในภูมิภาค โดยขณะนี้ทาง KBTG มีการสนับสนุนงานระบบไอทีของ Core Banking, Product (ATM, eWallet, Internet Banking), Infrastructure, IT เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อรองรับเครือข่ายธุรกิจธนาคารที่จะขยายไปในลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม ฮ่องกง และอินโดนีเซีย

โดย KBTG ช่วยพัฒนาและบำรุงรักษาระบบจนมีอัตราการล่มและเกิดปัญหาน้อยที่สุด ทำให้รักษาความเสียหายได้ดีขึ้นตามลำดับ

“K Plus เป็นส่วนสำคัญของเราที่เราต้องดูแลระบบให้ดี แม้ว่าจะไม่ได้เป็นโมบายแบงกิ้งที่มีผู้ใช้งานมากอันดับหนึ่ง แต่ปริมาณธุรกรรมเรามากที่สุดคือมีมูลค่า 40% ของธุรกรรมโมบายแบงกิ้งทั้งประเทศ ดังนั้นถ้า K Plus ล่มครั้งหนึ่ง หมายถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ”

ปั้นรายได้ 5 พันล้าน จาก New S-curve

นายเรืองโรจน์กล่าวเสริมว่า แม้ KBTG จะอยู่ใต้ธนาคารกสิกรไทย และต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้กับกสิกรฯ หรือเป็น “ลมใต้ปีก” แต่กระนั้น KBTG ก็มีเป้าหมายของตัวเอง คือ การพัฒนาและส่งออกเทคโนโลยีให้มากขึ้น 10 เท่า และมีรายได้จากนวัตกรรมที่เป็น New S-curve 5 พันล้านบาท ใน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ด้วยการเติบโตของบุคลากรเทคโนโลยี และการตั้งเป้าหมาย จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ภายในปี พ.ศ. 2568 หรือเป็น Visions 2025 ของ KBTG