แรงงานท่องเที่ยวขาดหนัก แย่งตัวอุตลุด จ้างแม่บ้าน 1,500 บาท/วัน

โรงแรม แรงงาน

แรงงานท่องเที่ยววิกฤตหนัก “ภูเก็ต-หาดใหญ่” ขาดแรงงานกว่า 2 หมื่นคน โรงแรมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทำสัญญาระยะสั้น 3-6 เดือน อัดค่าแรง “แม่บ้าน” สูงถึง 800-1,500 บาท/วัน “เด็กยกกระเป๋า” พันบาท/วัน เร่ง MOU มหาวิทยาลัย-วิทยาลัยอาชีวะทั่วไทย “เหนือ-ใต้-อีสาน” จูงใจ “ฝึกงานมีค่าจ้าง-ที่พัก-อาหาร-รถรับส่งฟรี” ระบุเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างชงปลดล็อกกฎหมายกีดกันแรงงานต่างด้าว “ปากีสถาน-อินเดีย” เก่งภาษา

นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในช่วงไฮซีซั่นในปีนี้ค่อนข้างคึกคัก โดยในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 100,000 คน ส่งผลให้สถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก รวมแล้วร่วม 2 หมื่นตำแหน่ง โดยหลายโรงแรมในภูเก็ตอยากกลับมาเปิดกิจการให้ได้ 100% แต่ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่มีดีมานด์ของลูกค้า เพราะมีแรงงานไม่เพียงพอให้บริการลูกค้า

ปัจจุบันโรงแรมในภูเก็ตแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่ม 1 กลับมาเติบโต มีนักท่องเที่ยวเท่ากับก่อนเกิดโควิด กลุ่ม 2 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 80% กลุ่ม 3 กลับมา 50-60% และกลุ่ม 4 ยังไม่เปิดกิจการ เพราะติดปัญหาหลายเรื่อง โดยหลัก ๆ คือขาดแหล่งเงินทุนเพื่อกลับมาเปิดกิจการ และขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดทั่วโลก เช่น ตอนยุโรปเปิดประเทศใหม่ ๆ 4-5 เดือนก่อน มีปัญหากระเป๋าโดนกองทิ้งในสนามบิน เพราะหาคนทำงานไม่ได้

โรงแรมจ่ายแม่บ้าน 1,500/วัน

นอกจากนี้ หลายโรงแรมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตั้งแต่ 1.ให้พนักงานมีทักษะการทำงานได้หลายอย่าง (Multitasking skills) 2.เพิ่มชั่วโมงการทำงานนานขึ้น (take work hours long) โดยจ่ายค่าล่วงเวลา เพื่อให้ธุรกิจเดินไปได้ 3.จ้างพนักงานชั่วคราว (casual) โดยยอมจ่ายอัตราสูง เช่น ตำแหน่งงานแม่บ้านจ่ายสูง 1-2 เท่า เช่น 1,000-1,200 บาทต่อวัน มีอาหารฟรีให้ 2 มื้อ จากก่อนโควิดจ่ายค่าจ้างแม่บ้าน พนักงานเก็บผ้า 400-500 บาท

รวมถึงพนักงานยกกระเป๋า (BellBoy) บางครั้งมีลูกค้าเข้าจำนวนมากจ่ายให้ 1,000 บาท/วัน และ 4.โรงแรมเปิดรับสมัครพนักงานโดยตรงกับสถานศึกษา หรือทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ให้เรียนไปทำงานไป และเสนอผลประโยชน์ที่มากกว่าเงินเดือน เช่น ที่พักฟรี เป็นต้น

รุกเซ็น MOU สถาบันการศึกษา

สำหรับการทำ MOU กับสถาบันการศึกษาแบ่งเป็น 3 ส่วน 1.เอกชนโรงแรมทำ MOU ตรงกับสถาบันการศึกษา 2.สมาคมต่าง ๆ ทำ MOU เช่น สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต หารือกับหลายสถาบันการศึกษา ทั้งสถาบันราชภัฏ และวิทยาลัยอาชีวศึกษา ทั้งภาคใต้ เหนือ และอีสาน ซึ่งเป็นตลาดแรงงานใหญ่

รวมถึงจัดงาน Job Fair 3.กรมพัฒนาฝีมือแรงงานทำ MOU ให้ 4.ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตาราง 1 วันในทุกสัปดาห์ประชุมกับทุกฝ่ายเรื่องแรงงาน เพื่อประสานในการแก้ปัญหา ซึ่งตอนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตอยากให้โอกาสกับคนฐานล่างที่ด้อยโอกาสการศึกษา จึงพยายามหาโรงแรม หาเด็กที่อยากทำงานมาช่วยกัน รวมถึงนักโทษที่ใกล้พ้นโทษ ให้โอกาสคนที่ผิดพลาดกลับเข้าสู่สังคม เป็นต้น

“หลายโรงแรมยอมจ่ายแพง ๆ เพื่อดึงคนมาทำงาน เช่น โรงแรมที่มีลูกค้ารออยู่ก็ทำสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวสั้น ๆ 3-6 เดือน เช่น ทำสัญญา ธ.ค. 2565-ก.พ. 2566 ช่วงไฮซีซั่น และอาจต่อสัญญาเดือนต่อเดือนในช่วงโลว์ซีซั่น บางโรงแรมอาจเริ่มรับพนักงานตั้งแต่ พ.ย. ช่วงพีกไฮซีซั่น ธ.ค.-ม.ค-ก.พ. ยอมจ่ายล่วงหน้าเดือนหนึ่ง ก่อนการจ้างงานลักษณะแคชวลตรงกับพฤติกรรมของเด็กสมัยใหม่นี้ที่ไม่อยากทำงานรูทีน เช่น ยอมทำงานหนัก 6 เดือน เก็บเงิน และหยุด 6 เดือน กลุ่มนี้โรงแรม 5 ดาว มีความได้เปรียบ คนอยากเข้าไปทำงานเป็นพนักงานชั่วคราว”

นายธเนศกล่าวว่า ปัญหาที่คนไม่มาทำงานที่จังหวัดภูเก็ตมี 2 เรื่องคือ 1.ทุกคนรู้สึกว่าภูเก็ตมีค่าครองชีพสูง 2.คนกลุ่มเดิมที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ออกไป หลายคนกลับไปทำโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟที่บ้าน อาจมีความกังวลหรือมีความกลัวที่จะกลับมา ซึ่งตามตัวเลขเมื่อ 2 ปีก่อน มีแรงงานออกจากระบบประกันสังคมเกิน 50,000 คน

ชงแก้ กม.ดึงปากีสถาน-อินเดียมาทำงาน

นายรังสิมันตุ์ กิ่งแก้ว กรรมการบริหารสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต ที่ผ่านมาได้มีการวางแผนการแก้ไขไว้ล่วงหน้า แต่กระบวนการดำเนินงานไม่ง่าย แบ่งเป็น 2 ส่วน 1.กลุ่มคนที่พร้อมมาทำงาน หรือที่จบการศึกษา หรือกำลังจะจบ ได้ประสานงานไปยังกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานจัดหาจังหวัดภูเก็ต ประสานไปยังสำนักงานจัดหางานทั่วประเทศ ในการส่งข้อมูลตำแหน่งงานว่างไปยังจังหวัดอื่น โดยใช้ภาครัฐช่วย ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนแต่ละรายก็ประกาศรับสมัครงานด้วยตัวเอง

2.ร่วมกับสถาบันการศึกษาทำ MOU ขณะนี้สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตกำลังร่าง MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาในภาคเหนือ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภาคใต้ ปรับหลักสูตรให้นักศึกษาปี 3-4 เทอม 2 สาขา การโรงแรมเข้ามาฝึกงานในจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะเกิดผลในปี 2566 ส่วนภาคอีสานคุยไว้แต่ยังมีลงในรายละเอียด

สำหรับการทำ MOU จะวางเงื่อนไขเป็นมาตรฐานคือ มีหอพักให้นักศึกษาฝึกงาน มีรถรับส่ง มีอาหาร รวมถึงมีค่าจ้างระหว่างการฝึกงาน อยู่ระหว่างหารือกัน และอาจขึ้นอยู่กับสถานประกอบการแต่ละแห่ง เช่น ปกตินักศึกษาฝึกงานจะจ่ายกัน 100-150 บาทต่อวัน เพราะยังไม่มีความชำนาญ และมหาวิทยาลัยต้องส่งเด็กมาฝึกงานในจังหวะที่ผู้ประกอบการต้องการด้วย

“ปัจจุบันโรงแรมจ้างนักศึกษาบางส่วนที่ปิดภาคเรียนมาเป็นพนักงานชั่วคราว โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยนานาชาติ ซึ่งจ่ายค่าแรงสูงมาก แม้ยังไม่มีสกิลมากนัก โดยเฉพาะโรงแรม 5-6 ดาว จ่ายให้ 800-1,500 บาท/วัน จากปกติก่อนโควิดจ่าย 400-500 บาท/วัน ถือว่าสูงมาก โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งแม่บ้านกับพนักงานห้องอาหารและหน้าฟรอนต์ที่ขาดแคลนมาก”

นายรังสิมันตุ์กล่าวต่อว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นระยะสั้น แต่อาจกลายเป็นปัญหาระยะยาว เพราะโรงแรมกลับมาเปิดไม่เต็ม 100% ยังมีปัญหาขนาดนี้ ถ้ากลับมาเปิดครบเชื่อว่าจะมีปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลนหนักกว่านี้ การแก้โดยนำเด็กมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยเป็นการแก้ปัญหาแค่ชั่วคราว

ขณะที่ปัญหาหลักของประเทศไทยตอนนี้ คือคนในตลาดแรงงานน้อยลงเรื่อย ๆ ก่อนหน้านี้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาชดเชย แต่ประเทศรอบข้างกำลังเติบโต มีการจ้างงาน ต่อไปแรงงานต่างด้าวอาจไม่ใช่คนจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็น ปากีสถาน อินเดีย หรืออื่น ๆ โดยต้องแก้กฎหมายในหลายประเด็น เนื่องจากบังคับให้จ้างแรงงานคนไทย ถ้าจ้างต่างชาติต้องมีเรตราคากำหนด ขึ้นอยู่กับกลุ่มประเทศนั้น ๆ เช่น หน้าฟรอนต์ขาดแคลนมาก พนักงานต้องเก่งภาษาอังกฤษ เมื่อไม่มีแรงงานคนไทยอาจต้องจ้างคนอินเดีย แต่ติดกฎหมายค่าแรง ต้องจ่าย 3-4 หมื่นบาท แม้แรงงานจะยอมรับได้ที่ 2 หมื่นบาท

หาดใหญ่ขาดแรงงานหลายพันคน

แหล่งข่าวจากโรงแรมหาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หลายโรงแรมที่กลับมาเปิดกิจการใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีปัญหาขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีพนักงานไม่เพียงพอ บางแห่งพนักงาน 1 คนทำหลายหน้าที่ เนื่องจากเดิมก่อนเกิดโควิด บางโรงแรมมีพนักงาน 130 คน ปัจจุบันเหลือ 30 คน โดยพนักงานโรงแรมส่วนใหญ่ในหาดใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น และจากจังหวัดใกล้เคียง มีจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงเล็กน้อย ส่วนแรงงานต่างด้าวยังไม่ปรากฏ

ดร.สิทธิพงศ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงแรม จ.สงขลา เข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานหลายพันคน ตอนนี้หากมาสมัคร 100 คนจะรับทั้งหมด สาเหตุเพราะในช่วงโควิด พนักงานไปประกอบอาชีพอื่น โดยตำแหน่งที่ต้องการมาก เช่น แม่บ้าน พนักงานต้อนรับ ฯลฯ ทางสมาคมจึงทำเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา (มทร.ศรีวิชัย) รับนักศึกษาระดับหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาบริหารธุรกิจ เข้าฝึก และทำงานกับโรงแรมในชั้นปีที่ 4 มีเงินเดือนประจำ สวัสดิการเหมือนพนักงานประจำ

โรงแรม แรงงาน

ส.โรงแรมขอนำเข้าแรงงานต่างชาติ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงโรงแรมอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มทยอยเปิดประเทศปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น

สำหรับภาคธุรกิจโรงแรมปัญหาที่ประสบขณะนี้มี 3 ประเด็นหลักคือ 1.ขาดแคลนพนักงานในทุก ๆ ตำแหน่ง 2.แรงงานที่เข้ามาเป็นกลุ่มที่ขาดทักษะ เนื่องจากแรงงานเดิมที่กลับท้องถิ่นไปไม่กลับมา ธุรกิจต้องหาพนักงานใหม่ และ 3.ธุรกิจขาดเสน่ห์ ไม่มีแรงจูงใจ เนื่องจากกลุ่มนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าธุรกิจกลับมาอย่างมั่นคงหรือไม่ จะได้ Service Charge หรือได้ผลตอบแทนที่ดีเหมือนเดิมหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานภาคบริการไทยออกไปทำงานในต่างประเทศ เพราะต่างประเทศก็ขาดแคลน และต้องการบุคลากรเช่นกัน และด้วยจุดเด่นในด้านการบริการของคนไทย ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ

นางมาริสากล่าวด้วยว่า เพื่อแก้ปัญหาด้านแรงงานที่ผ่านมา สมาคมโรงแรมได้ร้องขอไปยังกระทรวงแรงงานและภาครัฐปลดล็อกให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานบางตำแหน่ง ในภาคธุรกิจโรงแรมกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ของบฯอบรมคอร์สระยะสั้น

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาแรงงานขาดแคลนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นปัญหาใหญ่ และต่อเนื่องมาตั้งแต่ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง และยังเป็นปัญหาในปัจจุบัน โดยเฉพาะแรงงานที่ต้องมีทักษะเฉพาะด้าน เนื่องจากบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวและบริการไหลออกจากตลาดไปตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด และไม่ยอมกลับเข้ามาสู่ระบบเหมือนเดิม ทำให้หลายธุรกิจประสบปัญหาเรื่องมาตรฐานการให้บริการที่ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนโควิด

โดยที่ผ่านมา สทท. ในฐานะองค์กรภาคเอกชนที่ดูแลธุรกิจท่องเที่ยว ได้นำเสนอภาครัฐเพื่อขอให้จัดสรรงบประมาณสำหรับอัพสกิลและรีสกิล ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน พร้อมนำเสนอเพื่อของบประมาณสนับสนุนการการเรียนการสอนระยะสั้น เพื่อสร้างบุคลากรเข้าสู่ระบบแรงงานแบบเร่งด่วนไปแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการตอบรับนัก

“ม.อ.ภูเก็ต”เนื้อหอมแย่งนักศึกษา

ผศ.ดร.พรพิษณุ พงศ์ศิวพัลลภ คณบดีคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จ.ภูเก็ต(ม.อ.ภูเก็ต) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนเยอะมาก โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายปี 2565 แม้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาเข้ามาทดแทน ทำให้เกิดความขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมบริการค่อนข้างมาก ทำให้มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวในจังหวัดติดต่อมายังสถาบันจำนวนมาก

เนื่องจากคณะการบริการและการท่องเที่ยวในระดับปริญญาตรีมี 3 สาขา คือ สาขาวิชาการจัดการการบริการ, สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว และสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมการบริการ ทั้งหมดเป็นหลักสูตรนานาชาติ โดยแต่ละปีผลิตบัณฑิตได้ประมาณ 120 คน ขณะที่ระดับปริญญาโท ผลิตมหาบัณฑิตได้ 15 คน/ปี และในปีการศึกษาหน้า (ส.ค.) เตรียมเปิดระดับปริญญาเอกอีก 10 คน/ปี และที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนโควิด มีนักศึกษาเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมภาคบริการและการท่องเที่ยว 100%

“เมื่อสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน ภาคบริการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ภาคอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวภายในภูเก็ต จึงขอให้เราส่งนักศึกษาไปช่วยทำงานพาร์ตไทม์บ้าง และอีกส่วนก็ขอให้ช่วยติดต่อศิษย์เก่าให้กลับมา เพื่อมาช่วยรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น”

ขณะดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ upskill-reskill สำหรับคนที่จะเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมบริการ เพื่อหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไปพร้อมกัน โดยเฉพาะหลักสูตรระยะสั้นที่มีความร่วมมือกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ผลิตบุคลากรให้กับแอร์พอร์ตกราวด์เซอร์วิส และอื่น ๆ รวมถึงร่วมกับโรงแรมบันยันทรี ภูเก็ต นำนักศึกษาไปอบรมในโครงการแมเนจเมนต์ บันยันทรี โปรแกรม เพื่อเรียนรู้การบริหารธุรกิจโรงแรม และเตรียมตัวสู่การเป็นผู้บริหารต่อไป

“สุชาติ” เร่งแก้แรงงานขาด

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานวางแนวทาง 3 ด้าน สำหรับเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต คือ 1.สนับสนุนการทำงานแบบพาร์ตไทม์ในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา โดยการประสานกับวิทยาลัยจังหวัดพังงา นำนักเรียนเข้ามาทำงานในพื้นที่ภูเก็ต พร้อมกับช่วยให้สถานประกอบการในภูเก็ตมีแรงงานขับเคลื่อนกิจการในช่วงเทศกาลปีใหม่ และฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง


2.จัดงานวันนัดพบแรงงานจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 27 ธ.ค. 2565 พร้อมประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างเฟซบุ๊ก สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต และทางไลน์ open chat และ 3.เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นระบบ ในขณะนี้ได้ประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่งที่มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก แต่ติดปัญหามีตำแหน่งงานว่างไม่เพียงพอรับเข้าทำงาน ทำให้ต้องแก้ด้วยการประสานการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ