เปิดลิ้นชักเที่ยวเสริมพลัง ปี 2565 สะพัดเฉียด 7 พันล้านบาท

เที่ยวสายมู

กระแสการท่องเที่ยวด้านความเชื่อ และความศรัทธา ได้สร้างรายได้ให้หลายจังหวัดหลายพันล้านบาท ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้เป็นอย่างดี

ในช่วงปี 2565 5 สถานที่ท่องเที่ยวหลักที่นักท่องเที่ยว “สายมูเตลู” นิยมเดินทางไปกราบไหว้ เช่น เส้นทางพลังศรัทธาสายนาคา องค์พญาศรีสัตตนาคราช ถ้ำนาคี จ.นครพนม, “ถ้ำนาคา” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ, “วังนาคินทร์คำชะโนด” อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

รวมถึงไอ้ไข่ ที่วัดเจดีย์ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และ “ท้าวเวสสุวรรณ” วัดจุฬามณี อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลองสำรวจจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไป และเงินที่สะพัดหลั่งไหลในพื้นที่

ท้าวเวสสุวรรณ สะพัดพันล้าน

ท้าวเวสสุวรรณ ณ วัดจุฬามณี อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นักท่องเที่ยวสายมู เดินทางไปกราบไหว้ วัดจุฬามณี ถือเป็นวัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ที่สันนิษฐานว่า ท้าวแก้วผลึก (น้อย) นายตลาดบางช้าง ต้นวงศ์ราชนิกูลบางช้างเป็นผู้สร้างขึ้น หากใครไปท่องเที่ยววัดนี้มี 3 ไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ 1.สังขารไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่อเนื่อง โกวิท อดีตเจ้าอาวาส

2.อุโบสถจัตุรมุขหินอ่อนที่มีความสวยงาม โดยอุโบสถหลังนี้มีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ปูพื้นด้วยหินหยกสีเขียวจากเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน ภายในประดิษฐานพระประธานบนฐานสูง บานหน้าต่างด้านนอกลงรักฝังมุกเป็นภาพตราพระราชลัญจกร

ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบัน พระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่าง ๆ

นอกจากนี้ บริเวณฝาผนังโดยรอบพระอุโบสถ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและนิทานชาดกที่ประณีต ฝีมือของจิตรกรหญิงนิตยา ศักดิ์เจริญ ซึ่งใช้เวลาในการวาดนานถึง 6 ปี 3.องค์ท่านพ่อท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวเวสสุวัณ

ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนาที่มีสี่ภาค รวมทั้งคาถาขอพร-ร้านขายขนมทองม้วนสูตรโบราณที่สืบทอดวิธีการทำมาแต่ดั้งเดิม ตั้งอยู่บริเวณถนนทางเข้าวัด เปิดเข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

นายอรรถพล วรรณกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสมุทรสงคราม (สมุทรสงคราม สมุทรสาคร) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการสอบถามทางไวยาวัจกรวัดจุฬามณี ให้ข้อมูลว่า

วัดจุฬามณี

ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 มีคนเดินทางมาท่องเที่ยวทำบุญที่วัดจุฬามณีมากที่สุด เฉลี่ยประมาณ 30,000-50,000 คนต่อวัน การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณ 500-1,000 บาทต่อคน เทียบกับช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มีคนเดินทางมาท่องเที่ยวทำบุญเฉลี่ยประมาณ 10,000-20,000 คน

การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณ 300-500 บาทต่อคน รวมเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ คาดการณ์ว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 30 ธันวาคม 2565-5 มกราคม 2566 จะมีคนเดินทางมาท่องเที่ยวทำบุญประมาณ 30,000-40,000 คน/วัน เนื่องจากเป็นเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน รวมถึงมีการจัดการท่องเที่ยวให้เดินทางเป็นหมู่คณะมากขึ้น เช่น รถบัส จากโรงเรียน, อบต., ท้องถิ่น จากจังหวัดอื่น ๆ ด้วย

“การมาท่องเที่ยววัดจุฬามณีสามารถเข้านมัสการหลวงพ่อเนื่อง ซึ่งมรณภาพมากว่า 20 ปี แต่สังขารไม่เน่าไม่เปื่อย ชมพระอุโบสถซึ่งเป็นอาคารจัตุรมุขปูด้วยหินหยกสีเขียวจากเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน และขอพรองค์ท่านพ่อท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวเวสสุวัณ ที่ตามความเชื่อของพุทธศาสนามีถึงสี่ภาค ซึ่งวัดจุฬามณีก็ค่อนข้างมีชื่อเสียงเรื่องวัตถุมงคลมาก ๆ โดยสามารถเช่าวัตถุมงคล บูชาเพื่อเสริมสิริมงคลแก่ตนเองได้อีกด้วย”

ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม ได้จัดทำแผนการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยว “โครงการ Let’s ชิลล์ทั้งปีที่สมุทรสงคราม #2” เพื่อตอกย้ำแคมเปญการท่องเที่ยว ให้เกิดการรับรู้ และสร้างกระแส ตลอดจนกระตุ้นให้เดินทางท่องเที่ยวมายังจังหวัดสมุทรสงครามเพิ่มมากขึ้น

โดยร่วมกับผู้ประกอบการและพันธมิตร การท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสงคราม จัดโปรโมชั่นพิเศษส่งเสริมการท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์ 6 พลังบวก เสน่ห์วิถีแห่งสายน้ำ โดยนำเสนอเส้นทาง “เที่ยวเสริมพลังใจสายมู อิ่มอร่อยเมนูปลาทูแม่กลอง ล่องเรือชมสีสันหิ่งห้อย ร้อยเรียงเคียงสายน้ำ”

และ “เที่ยวเพิ่มพลังกาย อร่อยเด็ด ส้มโอ ลิ้นจี่ เมืองสามน้ำ เปิดประสบการณ์ พาย Sup Board ชมวิถีถิ่นแม่กลอง”

โดยมอบคูปองให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวและเข้าพักโรงแรมในจังหวัดสมุทรสงครามที่เข้าร่วมโครงการ (1 ห้อง/คูปอง 2 ใบ) สำหรับนำไปใช้ในการล่องเรือไหว้พระทางน้ำ ล่องเรือชมหิ่งห้อยฟรี (มูลค่า 60 บาท) และหรือใช้ในการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม แลกซื้อผลไม้ในสวน (ส้มโอและลิ้นจี่) มูลค่า 100 บาท

กับผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ และสวนผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 80 แห่ง รวมจำนวนคูปอง 5,000 ใบ เริ่มตั้งแต่บัดนี้ถึงเดือนมิถุนายน 2566 หรือเมื่อครบสิทธิ !!

ทั้งนี้ สามารถเช็กสถานประกอบการที่พัก ร้านอาหาร คาเฟ่ สวนผลไม้ และท่าเรือนำเที่ยว ที่เข้าร่วมโครงการ Let’s ชิลล์ทั้งปี๊ที่สมุทรสงคราม #2 ได้ที่ www.tiewpakklang.com หรือคลิก https://tiewpakklang.com/post/9735

“วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)” โตพันล้าน

ประวัติ “ไอ้ไข่” มีการเล่าสืบต่อกันมา สถานที่ตั้งวัดเจดีย์ปัจจุบันนั้นเมื่อก่อนหลวงปู่ทวด ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ดังได้มาปักกลด เดินธุดงค์อยู่บริเวณนั้น ส่วนไอ้ไข่นั้นเชื่อว่าเป็นวิญญาณเด็กอายุประมาณ 9-10 ขวบ เป็นลูกศิษย์ซึ่งติดตามหลวงปู่ทวด

เมื่อหลวงปู่ทวดมาถึงสถานที่ดังกล่าวพบว่ามีทรัพย์สมบัติและศาสนสถานที่สำคัญเป็นจำนวนมาก จึงให้ไอ้ไข่สิงสถิตเฝ้าทรัพย์สมบัติดังกล่าว ที่ผ่านมามีชาวบ้านที่นับถือศรัทธานำของมาถวายแก้บน เช่น รูปไก่ชน ชุดทหาร หนังสติ๊ก ของเล่นต่าง ๆ รวมถึงประทัดจำนวนมาก

นายพิจิตร เรืองฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และดูแลงานจราจร วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอดปีที่ผ่านมามีประชาชนจากทั่วประเทศเดินทางมากราบไหว้ขอพร

วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)

และแก้บนที่วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) จำนวนมาก ในวันธรรมดาจันทร์-ศุกร์ มีคนเดินทางมาเฉลี่ยประมาณ 4,000-5,000 คนต่อวัน ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีคนเดินทางมาเฉลี่ยประมาณ 15,000-17,000 คนต่อวัน ยิ่งช่วงนี้ใกล้เทศกาลปีใหม่ 2566 มีคนเดินทางมาจำนวนมากกว่าปกติ ส่งผลให้เงินสะพัดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเฉลี่ยทั้งปีนับพันล้านบาท

“วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) ดึงคนเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้เป็นจำนวนหลายล้านคนต่อปี ทุกภาคส่วนได้รับอานิสงส์ตั้งแต่สายการบิน รถตู้ รถแท็กซี่ โรงแรม รีสอร์ต และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ หลังจากคนมากราบไหว้ที่วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) แล้ว จะไปท่องเที่ยวยังวัดอื่น ๆ สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในจังหวัด ทำให้เกิดการจับจ่ายเงินสะพัดทั่วจังหวัดนับพันล้านบาทต่อปี”

นายพิจิตรกล่าวต่อไปว่า เฉพาะร้านค้ารอบวัดประมาณ 200 ร้านค้า ธุรกิจของแก้บนมีรายได้ดีที่สุด เช่น ร้านประทัด มีคนซื้อแก้บนกันจำนวนมาก มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 20-30 ล้านบาท หรือประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปีแล้ว

ขณะที่ร้านขายไก่ปูนปั้นสำหรับแก้บนขายยกเป็นคู่ก็ขายดีมาก รวมถึงร้านขายของฝาก ของที่ระลึก ร้านขายของกินทั้งอาหาร และขนมในชุมชนต่างก็ได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า

อุดรฯ สะพัด 2 พันล้านบาท

“วังนาคินทร์คำชะโนด” ป่าคำชะโนด เป็นสถานที่สำคัญปรากฏในตำนานพื้นบ้านอีสาน ประชาชนในพื้นที่เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของพญานาค ปู่ศรีสุทโธ ย่าศรีประทุมมา และสิ่งลี้ลับต่าง ๆ นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ททท.เดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นท่องเที่ยวจังหวัดภาคอีสาน กับ 3 ธรรม ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม

พร้อมยกความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นเรื่อง “นาค” soft power สำคัญ สัญลักษณ์แห่งสายน้ำและความอุดมสมบูรณ์

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวไฮไลต์ คือ เส้นทางอุดรธานี ท้าวเวสสุวรรณ-วัดสระมณี-วัดป่าดงหนองตาล/เส้นทางหนองคาย พระธาตุพังพวน-วัดโพธิ์ชัย-พระธาตุหล้าหนอง/เส้นทางบึงกาฬ วัดสุวรรณราชดาราม-วัดป่าเมืองเหือง-ถ้ำนาคา-เกาะดอนโพธิ์ (ปู่อือลือ)

คำชะโนด

กิจกรรม #มูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเชื่อมโยง เพิ่มวันพำนักพักค้าง และทำกิจกรรมขอพร มูปัง ดัง เฮง ได้ทั้ง 24 ชั่วโมง โดยมีเส้นทางตัวอย่าง คือ เส้นทางองค์ศรีสุขคเณศ-ท้าวเวสสุวรรณ-ศาลเทพารักษ์-กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

นอกจากนี้ ททท.ยังมุ่งสร้างการรับรู้แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ รณรงค์ให้ลดการจุดธูปเทียน กิจกรรมที่เป็นการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ ททท.คาดการณ์ว่ากิจกรรมจะทำให้เกิดการเดินทางเส้นทางท่องเที่ยวสายมู ประมาณ 30,000 คน สร้างรายได้หมุนเวียนกว่า 120 ล้านบาท ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2565-เดือนกุมภาพันธ์ 2566

อนึ่ง ททท.รายงานข้อมูลปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 950,105 คน ขณะที่ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ 2,826,371 คน

นครพนมเที่ยวมูพุ่ง 2 พันล้านบาท

สำหรับ “ถ้ำนาคี” ที่มีการค้นพบอยู่ทางฝั่ง อ.บ้านแพง จ.นครพนม ซึ่งเป็นเทือกเขาลูกเดียวกันกับถ้ำนาคา มีลักษณะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ มีพื้นผิวแตกลายซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทำให้มีลวดลายคล้ายเกล็ดของพญานาคขนาดใหญ่กำลังนอนขดตัว โดยมีมอสสีเขียวที่ขึ้นตามโขดหิน ทำให้ลวดลายซันแครกเด่นชัดขึ้นไปอีก

นางสาวกนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ที่ผ่านมา จังหวัดนครพนมในช่วงโรคระบาดโควิด ทาง ททท.พยายามใช้สื่อออนไลน์ในการโปรโมตการท่องเที่ยว

ถึงแม้ในช่วงดังกล่าวจะมีการชะลอการเดินทาง ททท.นครพนม ใช้วิธีการทำคอนเทนต์สื่อสารตลอดเวลา อีกทั้งเมืองนครพนมถือว่าเป็นเมืองแห่งความสุข สุขที่สุดที่นครพนม โดยมี 3 ที่สุด ได้แก่ 1.ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คือ องค์พระธาตุพนม 2.สวยที่สุด คือ สะพานมิตรภาพไทย (นครพนม)-ลาว (คำม่วน) แห่งที่ 3

ซึ่งการสร้างสถาปัตยกรรมบริเวณสะพานจะมีเอกลักษณ์ เพราะฉะนั้นจึงมีความสวยงามมากที่สุด 3.งดงามที่สุด คือ มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะเส้นสวรรค์ชายโขง ซึ่งเป็นเส้นริมแม่น้ำโขง สามารถปั่นจักรยาน เดินวิ่งออกกำลังกายได้ เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางออกกำลังกายที่สวยที่สุดในประเทศไทย เพราะมองเห็นวิวประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ เรื่องแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ตอกย้ำว่า พื้นที่นครพนมเป็นเส้นทางพลังศรัทธา มีทั้งเส้นทางความเชื่อ ทั้งองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง รวมถึงพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำวันเกิด และเส้นทางศรัทธาสายนาคา องค์พญาศรีสัตตนาคราช ถ้ำนาคี

ถ้ำนาคี

จากตัวเลขเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของ ททท.พบว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาถึงเดือนตุลาคม มีประชาชนนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่มากกว่า 1.6 ล้านคน มีอัตราการเข้าพัก จากโรงแรมที่พัก จำนวนกว่า 3,000 ห้อง เข้าพักเฉลี่ยถึง 75% ที่สำคัญ มีตัวเลขเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภาพรวม

สร้างรายได้เงินหมุนเวียนสะพัด ตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงเดือนตุลาคม มากกว่า 1,655 ล้านบาท ถือว่าจังหวัดนครพนมมีจุดแข็งเรื่องการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

และจากข้อมูลกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า ในช่วงงบประมาณปี 2565 พบว่าภาคอีสานมีจำนวนนักท่องเที่ยว 2,789,487 คน แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวคนไทย 2,680,022 คน และนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ 109,465 คน

อีกทั้งยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 4,829 ล้านบาท โดยรายได้หลักยังคงมาจากคนในประเทศ

อีกทั้งยังมี 3 จังหวัดภาคอีสาน ที่มีการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยสูงสุด ในปี 2565 เทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด

ประกอบด้วย อันดับ 1.นครพนม ฟื้นตัว 132% อันดับ 2.บุรีรัมย์ ฟื้นตัว 130% อันดับ 3.บึงกาฬ ฟื้นตัว 123% จึงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้ประชาชนมีรายได้จากเศรษฐกิจการท่องเที่ยวมากขึ้น

โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก มีแนวโน้มสร้างรายได้มากขึ้นในปี 2566

“ถ้ำนาคา” บูมสะพัด 800 ล้านบาท

ถ้ำนาคา เป็นถ้ำที่ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์วินิจ สุเมโธ จากวัดถ้ำชัยมงคล ได้บันทึกภาพกลุ่มหินที่เกิดการกัดกร่อน มีลวดลายคล้ายเกล็ดปลาหรือเกล็ดงู ประกอบกับการโค้งตัวของหินทำให้รูปร่างโดยรวมคล้ายกับการขดตัวของงูใหญ่

หรือพญานาค และโพสต์รูปภาพเหล่านั้นขึ้นบนสื่อโซเชียล และเกิดการกระจายข่าวไปตามความเชื่อส่วนบุคคลจนเป็นที่โด่งดัง

นายทวีป คำแพงเมือง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดบึงกาฬ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวถ้ำนาคา ปี 2565 ถือว่าคึกคักมาก ทำให้การท่องเที่ยวโตขึ้นกว่า 5% ซึ่งช่วงวันจันทร์-ศุกร์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 350-400 คนต่อวัน

ช่วงวันหยุดยาว หรือวันเสาร์-วันอาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 600 คนต่อวัน โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวไทย 95% ต่างชาติ 5%

ถ้ำนาคา

สำหรับแผนโปรโมตการท่องเที่ยวในปี 2566 จะมีการปรับกลยุทธ์ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ โดยจะเน้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ อารยธรรมและวัฒนธรรม และมีดารา นักแสดง เป็นสื่อในการโปรโมต ซึ่งจะสร้างรายได้มากยิ่งขึ้นและเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่ ปัจจุบันทางอุทยานมีอาสานำเที่ยวที่ผ่านการอบรมของการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดทั้งหมด 800 คน

สร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 3,000-10,000 บาทต่อคนต่อเดือน ทั้งนี้ จากการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยาน สร้างรายได้กว่า 5-6 แสนบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ รายงานสถานการณ์ท่องเที่ยว จ.บึงกาฬ ปี 2565 พบว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ประมาณ 600,826 คน มีรายได้กว่า 780 ล้านบาท