บุณยเกียรติ ไอศกรีม เพชรบูรณ์ ใช้ FTA ดันแบรนด์ SALI บุกตลาดโลก

“ไอศกรีม” หนึ่งในธุรกิจที่ประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 4 ของโลก และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ไอศกรีมของไทยได้รับความนิยมมาจากความอุดมสมบูรณ์ของผลไม้หลากหลายชนิด

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตไอศกรีม และสัมภาษณ์ “สมเกียรติ กิตติธรสมบัติ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุณยเกียรติ ไอศกรีม จำกัด

“สมเกียรติ” บอกเล่าถึงความเป็นมาของบริษัทว่า ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2525 เริ่มผลิตไอศกรีมออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “Panda” (แพนด้า) เจาะตลาดภายในประเทศ หลายรูปแบบ เช่น ไอศกรีมแท่ง ไอศกรีมถ้วยตัก ต่อมาได้พัฒนาไอศกรีมระดับพรีเมี่ยม เพื่อสร้างจุดแข็งทางการตลาดเพื่อให้แข่งขันกับไอศกรีมแบรนด์ดังจากต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ “SALI” (สาลี)

โดยใช้วัตถุดิบเป็นผลไม้ภายในประเทศ สัดส่วนร้อยละ 40 เช่น ทุเรียนของ จ.จันทบุรี มะม่วง มะพร้าวทับสะแก จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเสาวรสของ จ.เพชรบูรณ์

ภาพรวมธุรกิจไอศกรีมก่อนช่วงโควิด-19 ขายดีมาก ปัจจุบันตลาดเริ่มกลับมาดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่ดีเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด ที่ผ่านมาถือเป็นโอกาสดี ทางบริษัทได้เข้าร่วมโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” ตั้งแต่ปี 2562 อย่างต่อเนื่องทุกปี

ทำให้ได้ขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้พาเดินทางไปสำรวจศักยภาพตลาดและจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าตลาดจีน สิงคโปร์ และกัมพูชา

ไอศกรีมเพชรบูรณ์

ในช่วงปี 2564-2565 ทางกรมได้แนะนำให้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ โดยจัด Live Sale และนำสินค้าขึ้นไปวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน คือ “เถาเป่า” ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ไอศกรีมได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีน จึงเป็นโอกาสทางการค้าในการขยายการส่งออกไอศกรีมไปในตลาดจีน

ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 แบรนด์ คือ ไอศกรีมแบรนด์ “แพนด้า” และไอศกรีมแบรนด์ “SALI” (สาลี) สำหรับไอศกรีมแบรนด์ “แพนด้า” จำหน่ายผ่านร้านค้าชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง ชัยภูมิ และยโสธร ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ไอศกรีมแท่ง ไอศกรีมโคน ไอศกรีมถ้วย

และไอศกรีมบรรจุกล่องแบบตัก และมีหลากหลายรสชาติ เช่น รสผลไม้ รสช็อกโกแลต รสวานิลลา เป็นต้น

ส่วนไอศกรีมแบรนด์ “SALI” (สาลี) เป็นไอศกรีมที่มีส่วนผสมของเนื้อผลไม้ เช่น รสเสาวรส รสทุเรียน รสมะม่วง และรสกะทิรวมมิตร ถ้วยละ 59 บาท วางจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรด เช่น เอ็มโพเรียม, พารากอน, เอ็มควอเทียร์, Tops Supermarket

ด้านตลาดส่งออกแบรนด์สาลี กำลังจะส่งไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และตั้งเป้าอยากส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐ เวียดนาม ส่วนแบรนด์แพนด้าจะส่งออกไปยังประเทศกัมพูชา กลางปี 2566 วางจำหน่ายห้างโมเดิร์นเทรด และค่อยกระจายไปยังร้านค้าต่าง ๆ ตามชุมชน นอกจากนี้ยังมีความต้องการส่งออกไปประเทศลาว เมียนมา

“จุดเด่นผลิตภัณฑ์ของเราเน้นความเป็นผลไม้ไทย หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งทั้งสีและกลิ่น ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการบริโภคน้ำตาล ทางเราจึงมีการปรับสินค้าไม่ให้หวานจนเกินไป ใช้น้ำตาลในปริมาณที่กำหนด ตอนนี้กำลังการผลิตอยู่ที่วันละ 10 ตัน รวมประมาณ 3,600 ตันต่อปี ซึ่งใน 1 ปีใช้วัตถุดิบค่อนข้างมาก อาทิ มะพร้าว ใช้ประมาณ 250,000 ลูก เนื้อทุเรียน ใช้ประมาณ 10 ตัน (10,000 กิโลกรัม) ส่วนยอดขายตั้งเป้าเติบโตประมาณ 15-20%”

ปัจจุบันบริษัทได้รับมาตรฐาน GMP HACCP ฮาลาล ISO GACC และ Est. No. ได้รับรางวัล OPOAI (One Province One Agro-Industrial Product) ประจำปี 2557 จากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับรางวัล MDICP (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme) ประจำปี 2558 จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับรางวัล SME Provincial Champions ประจำปี 2561 จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ด้าน “บุณิกา แจ่มใส” รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และใช้ประโยชน์ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศคู่ค้า ที่มีการลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าศุลกากรสินค้าให้เหลือร้อยละ 0 หรือน้อยที่สุด จำนวน 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ

สำหรับบริษัท บุณยเกียรติ ไอศกรีม จำกัด เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยใช้ประโยชน์จาก FTA ซึ่งแบรนด์ “สาลี” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากผลไม้ไทย สัดส่วนร้อยละ 40 เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ ทุเรียน มะพร้าว เป็นต้น

ไอศกรีมบุณยเกียรติเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งทางกรมมั่นใจว่าเป็นที่ต้องการของตลาดโลกแน่นอน ตอนนี้ทางบุณยเกียรติได้ใช้ FTA สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและประสบความสำเร็จในการส่งออกไอศกรีมแบรนด์ “สาลี” ไปยังตลาดประเทศจีน

ปี 2565 ประเทศไทยมีการส่งออกไอศกรีมไปตลาดโลก ประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ มีประเทศส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.มาเลเซีย 2.เวียดนาม 3.เกาหลีใต้ 4.สหรัฐ 5.กัมพูชา เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกปี 2564 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง