แก้วิกฤตมังคุดหมื่นล้าน ตั้งสมาคมใหม่พัฒนาคุณภาพ

ปัทมา นามวงษ์
ปัทมา นามวงษ์
สัมภาษณ์พิเศษ

“มังคุด” เป็นผลไม้ส่งออกมูลค่าสูง ปี 2564 ปริมาณส่งออกผลสด 256,379 ตัน มูลค่า 17,099 ล้านบาท ปี 2565 ปริมาณ 205,786 ตัน มูลค่า 13,535 ล้านบาท อัตราการขยายตัวลดลง -26.24% และปี 2565 มังคุดส่งออกผลไม้ติดอันดับ 3 ของไทย ปริมาณใกล้เคียงกับลำไย 17,434 ล้านบาท อันดับ 2 แต่ทิ้งห่างจากทุเรียนที่ขึ้นอันดับ 1 มูลค่า 110,144 ล้านบาท

3-4 ปีที่ผ่านมา สวนมังคุดภาคตะวันออกได้ถูกตัดโค่นลงเพื่อใช้พื้นที่ปลูกทุเรียน แต่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการผลิต จากธรรมชาติแปรปรวน ทำให้ปริมาณผลผลิตโดยภาพรวม ปี 2566 ลดลงเหลือ 170,046 ตัน ลดลงจากปีก่อน -23.35%

แต่เกษตรกรบางรายลดลงถึง 30-50% และยังมีปัญหาการตลาดราคาตกต่ำเป็นวัฏจักรเหมือนทุก ๆ ปี ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ปัญหาเรื้อรังนี้อาจนำไปสู่วิกฤตของ “มังคุด”

จึงได้มีการผลักดันในการตั้ง “สมาคมมังคุดไทย” (Thai Mangosteen Association) ภายใต้แกนนำ “ปัทมา นามวงษ์” อดีตเกษตร จ.จันทบุรี และ “ชลธี นุ่มหนู” อดีตผู้อำนวยการ สวพ.6 ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับวงการมังคุดมาโดยตลอด

ทั้งนี้ สมาคมเตรียมเปิดตัวในงานเกษตรแฟร์ที่จันทบุรี 28 เมษายนนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ปัทมา นามวงษ์” นายกสมาคมมังคุดไทยป้ายแดง ถึงทางออก ทางรอด โอกาสของมังคุดไทยในอนาคต

ปมวงจรผลิต-ตลาดมังคุด

สมาคมมังคุดไทย มีเครือข่ายภาคตะวันออกและภาคใต้แหล่งผลิตสำคัญ คณะทำงานได้ขับเคลื่อนพบปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมมาและปัญหาวนลูปมาในช่วงฤดูกาลนี้ จากการเปิดกลุ่มไลน์ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูล ปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน มีสมาชิกในกลุ่มไลน์ตอนนี้ประมาณ 1,200 คน แต่การรับสมัครสมาชิกจะเปิดที่บูทของสมาคมงานเกษตรแฟร์ที่จันทบุรี ปลายเดือนเมษายน 2566 คาดว่าเป้าหมายประมาณ 3,000 คน

วิกฤตปัญหามังคุดเป็นปัญหาที่มีมานาน ไม่ได้รับการแก้ไขทั้ง ๆ ที่มังคุดเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ปี 2565 มูลค่า 13,535 ล้านบาท ติดอันดับ 3 ปัญหาหลัก ๆ ที่รวบรวมได้ คือปัญหาจากตัวเกษตรกรเองยังทำมังคุดไม่ได้มาตรฐานของตลาดปลายทาง

ด้วยความรู้ ด้านวิชาการ การเก็บ การคัดแยก และเกษตรกรรวมตัวยังไม่เข้มแข็งอยู่ในระดับกลาง ๆ ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่รวมกลุ่มอีกมาก และปัญหาที่ควบคุมไม่ได้จากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ กระจุกตัว หรือไม่ได้ผลผลิต

และที่ฮอตมากของทุก ๆ ปี คือ การผันผวนของราคามังคุด ปี 2565 ราคามังคุดวันเดียวลงถึง 50 บาท เหลือ 8-10 บาท/กก. ค่าแรงเก็บ 8-10 บาท/กก. มาปีนี้ มังคุดต้นฤดูทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะมีผลผลิตเพียง 13% ราคามังคุดลงเร็วมาก จากปลายมีนาคม กก.ละ 200-220 บาท ต้นเมษาฯลงมาเรื่อย ๆ กลางเดือนเหลือ 70-80 บาท เกษตรกรเกรงว่าในช่วงพีกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปริมาณผลผลิตมากถึง 50-30% ราคาจะดิ่งลงเหมือนปี 2565

และปีนี้ด้วยปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ค่าปุ๋ยบางตัวสูงขึ้นกว่า 100% สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้เกษตรกรตัดต้นมังคุดทิ้งเพื่อปลูกทุเรียนไปเรื่อย ๆ น่าเสียดายที่มังคุดดูแลง่ายกว่า อายุเก็บผลผลิตได้ยาวนานกว่า 50 ปี จึงได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมมังคุดไทย เพื่อเป็นข้อต่อประสานให้หน่วยงาน เครือข่ายเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนามังคุดให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล เพื่อความยั่งยืน

วิจัย-ทำแบรนด์เพิ่มมูลค่า

สมาคมจะเชื่อมกับเกษตรกรทำมังคุดคุณภาพให้ตรงต่อความต้องการตลาดปลายทาง มีการรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง และบริหารจัดการผลผลิตให้ได้ราคา ด้วยการตัดแยกผลผลิตให้ตรงกับช่องทางการตลาด และประเภทของการแปรรูป ซึ่งมังคุดมีช่องทางมากกว่าทุเรียน ไม่ได้ส่งออกผลสดอย่างเดียว มีช่องทางแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ ควรยกระดับเกรดแปรรูปให้ราคาจูงใจ ไม่ใช่รับซื้อเป็นตกไซซ์ราคาต่ำ ทั้งที่ต้นทุนการผลิตเท่ากัน

มังคุดที่เข้าสู่ระบบแปรรูปจึงมีน้อยมาก สมาคมจะเข้ามาช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข เพื่อยกระดับราคาและขยายตลาดมังคุดสู่ภาคอุตสาหกรรม การใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า

โดยร่วมกับหน่วยราชการและสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตจันทบุรี) มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ที่มีงานวิจัยต่าง ๆ อยู่บ้างแล้ว เช่น การทำน้ำมังคุด การสกัดทำเครื่องสำอาง ไวน์ ซึ่งต้องพัฒนาให้ได้มาตรฐาน สร้างแบรนด์

ส่วนการตลาดซื้อ-ขายมังคุดจากชาวสวนเบื้องต้นเริ่มจากปีนี้ สมาคมสนับสนุนและผลักดันการประกาศราคารับซื้อมังคุดหน้าล้งเช่นเดียวกับทุเรียน ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี ที่ดูแลรับผิดชอบให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

โดยขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ (ล้ง) 3-4 ราย ให้ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อแยกเกรดให้ชัดเจนทุกวันตอนเช้า เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่สมาชิกที่เป็นสาขารับซื้อให้ล้งและขอให้สมาชิกให้ความร่วมมือ เพื่อให้เกษตรกรตรวจสอบราคาและตัดสินใจ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากล้ง ผู้ประกอบการประกาศราคารับซื้อบ้างแล้ว 2-3 ราย

“การปิดราคาหน้าล้งมีความยาก ที่จะให้ผู้ประกอบการยอมรับ แต่น่าจะทำได้เหมือนทุเรียน ถ้าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือจริงจัง ล้งรับซื้อทุเรียนมีเกือบ 700 ล้ง มังคุดมี 70-80 ล้ง ผู้ส่งออกรายใหญ่มีเพียง 4-5 ราย การแข่งขันน้อยกว่ากรณีมีปัญหาต่าง ๆ ล้งหยุดรับซื้อมังคุดราคาจะตกต่ำทันที และการซื้อมังคุดมีความอ่อนไหวมาก มีพ่อค้ารายย่อยรับซื้อมาก และการรับซื้อมีการแบ่งแยกเกรดหลายราคา ถ้าปิดป้ายราคาได้จะป้องกันปัญหาราคามังคุดตกต่ำอย่างรวดเร็ว หรือการเปลี่ยนแปลงราคากันในวันเดียว” นายกป้ายแดงกล่าว

รวมกลุ่มนำร่องส่งออก

ขณะที่เกษตรกรยังขาดการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่น ทำให้มีปัญหาเรื่องการต่อรองราคา ต่างคนต่างขายไม่พัฒนาคุณภาพแยกเกรด หรือทำตลาดด้วยการประมูล ทำให้ราคาขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการส่งออก เช่น ปีนี้เปิดตลาดสูงมาก กก.ละ 400 บาท แต่เป็นราคาที่ล้งรับซื้อขาประจำ เป็นราคาเปิดล้งเอาใจลูกค้า ซึ่งมังคุดมีออกน้อยมากคนละ 1-3 กก.เท่านั้น จากนั้นราคา 200-230 บาท

และในช่วงปลายมีนาคมต้นเดือนเมษายน ราคาทยอยลงมาเหลือเพียง กก. 110-80 บาท ทำให้น่ากังวลว่าในช่วงพีกราคาจะหลุดร่วงลงมาชนิดจ่ายค่าเก็บแล้วไม่เหลืออะไรเลย

โอกาสและทางรอดของมังคุดไทย เห็นว่าเกษตรกรต้องพัฒนาคุณภาพ การคัดแยกเกรดมังคุดและการจัดการประมูลเป็นกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง หรืออาจขายรวมกันเป็นกลุ่มตกลงราคากับพ่อค้าในแนวทางเดียวกัน โดยที่มีกลุ่มมังคุดหลายแห่งประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยที่ราคาไม่จำเป็นต้องโดดขึ้นไปสูง เพียงแต่เป็นไปตามกลไกตลาดและคุณภาพ

ปัญหาต่าง ๆ สมาคมสะท้อนไปยังภาครัฐ ผู้ประกอบการ ชาวสวน บางอย่างต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาเจาะปัญหา โดยเฉพาะราคาที่ลงมาจากปลายมีนาคม 110-120 บาท เหลือ 75-80 บาท ทั้งที่มังคุดยังเพียงต้นฤดูปริมาณน้อย ถ้าถึงช่วงพีก มังคุดลงราคามาก ขณะที่ค่าจัดเก็บ กก.ละ 10 บาท เกษตรกรผู้ปลูกมังคุดจะอยู่ได้อย่างไร

อนาคตระยะยาวมังคุดต้องพัฒนาทั้งระบบ สร้างคุณภาพทำให้มังคุดไทยทานได้ทุกลูก รัฐบาลดูแลเชื่อมโยงการตลาดต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย ซึ่งการนำเข้ามังคุด ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไม่ต้องอบไอน้ำกำจัดแมลงวันผลไม้เป็นอีกหนึ่งช่องทางการส่งออก

จริง ๆ แล้วมังคุดมีกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ มีโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐาน GMP มีทะเบียนส่งออก DOA หรือสหกรณ์การเกษตร เริ่มจากต้นแบบนำร่อง ทำโรงคัดบรรจุเอง หน่วยงานรัฐช่วยสนับสนุนโรงเรือน เครื่องมือต่าง ๆ และสนับสนุนให้ส่งออก น่าจะเป็นทางออกของวิกฤตมังคุดไทย ที่ราคาทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กำหนด