อีสท์วอเตอร์-วงษ์สยาม สงครามน้ำ EEC ยังไม่จบ

ท่อส่งน้ำ

แม้ว่า บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จะเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ มาตั้งแต่ปี 2565 โดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ จะต้องส่งมอบสินทรัพย์ส่งคืนให้กับ กรมธนารักษ์ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย มูลค่าโครงการ 772.09 ล้านบาท 2) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อมูลค่าโครงการ 2,205.05 ล้านบาท และ 3) โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) มูลค่าโครงการ 254.87 ล้านบาท รวมถึง สถานีสูบน้ำ จากในอดีตที่ท่อส่งน้ำเหล่านี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอีสท์วอเตอร์ มาตั้งแต่ปี 2537 มีระยะเวลาการเช่า 30 ปี (เฉพาะท่อส่งน้ำดอกกราย จะครบกำหนดสัญญาเช่าในปี 2566)

โดยท่อส่งน้ำดิบเหล่านี้ได้เชื่อมต่อกับ อ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันออก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย มีปริมาตรความจุอ่าง 71.40 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีปริมาตรความจุอ่าง 163.75 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ มีปริมาตรความจุอ่าง 21.40 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมลุ่มน้ำระยองและชลบุรีบางส่วน ด้วยปริมาตรความจุน้ำรวมกัน 256.58 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นปริมาณน้ำดิบในอ่างทั้ง 3 “เกินกว่า” ครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำดิบในอ่างทั้งหมดของจังหวัดระยองกับชลบุรีรวมกัน

ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ประมาณการความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออก (รวมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC) ล่าสุด โดยคำนวณจากปีฐาน 2560 ความต้องการใช้น้ำรวมอยู่ที่ 4,167 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 251 ล้าน ลบ.ม. (10.38%) น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 606 ล้าน ลบ.ม. (25.05%) และน้ำเพื่อเกษตรกรรม 1,562 ล้าน ลบ.ม. (64.57%) จนถึงปี 2580 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ปรากฏภาคตะวันออกจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 5,775 ล้าน ลบ.ม.

แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 392 ล้าน ลบ.ม. (12.69%) น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 865 ล้าน ลบ.ม. (28%) และน้ำเพื่อเกษตรกรรม 1,832 ล้าน ลบ.ม. (59.31%) หรือเท่ากับความต้องการใช้น้ำโดยรวมในภาคตะวันออกทั้งภาค นับจากปีฐาน 2560 มาจนถึงน้ำในอนาคตปี 2580 จะเพิ่มขึ้น 1,608 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.5

แต่หากจะคำนวณความต้องการใช้น้ำเฉพาะ 3 จังหวัด ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา ก็จะพบว่า ปี 2560 (ปีฐาน) ทั้ง 3 จังหวัดมีความต้องการใช้น้ำรวม 2,419 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 251 ล้าน ลบ.ม. (10.38%) น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 606 ล้าน ลบ.ม. (25.05%) และน้ำเพื่อเกษตรกรรม 1,562 ล้าน ลบ.ม. (64.57%) จนมาถึงปี 2580 ทั้ง 3 จว.จะมีความต้องการใช้น้ำรวม 3,089 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 392 ล้าน ลบ.ม. (12.69%) น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 865 ล้าน ลบ.ม. (28%) และน้ำเพื่อเกษตรกรรม 1,832 ล้าน ลบ.ม. (59.31%)

นั่นหมายถึง เฉพาะพื้นที่ EEC นับจากปีฐานมาจนถึงปี 2580 จะต้องหาน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 670 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 โดยความต้องการใช้น้ำในภาคอุปโภค-บริโภค จะมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงสุด หรือ 56% รองลงมา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม 43% และภาคการเกษตร 17% จังหวัดที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่สุดในอีก 15 ปีข้างหน้า จะเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรา, ระยอง และชลบุรี ตามลำดับ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้น้ำทั้งในภาคอุปโภค-บริโภค และภาคอุตสาหกรรม รวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้น้ำทั้งหมด

ทว่าการเข้ามาบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักทั้ง 3 เส้นท่อของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด จากข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวที่ดำเนินการจัดหาน้ำและส่งน้ำให้กับลูกค้าในภาคตะวันออก ในขณะที่บริษัท อีสท์วอเตอร์ แม้จะพ่ายแพ้การประมูลไม่สามารถบริหารจัดการท่อส่งน้ำหลักทั้ง 3 เส้นท่อต่อไปได้ แต่ก็ยังให้บริการส่งจ่ายน้ำในพื้นที่ EEC ให้กับลูกค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ต่อไป พร้อมกับการลงทุนก่อสร้างระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง และท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ เพิ่มเติมอีกประมาณ 120 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 4,200 ล้านบาท โดยจัดเป็นโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ Water Grid ที่เชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด

โดย อีสท์วอเตอร์ ได้ระบุแหล่งน้ำที่นำมาใช้บริหารจัดการเป็นน้ำผิวดินที่มาจากแหล่งน้ำต่าง ๆ แหล่งน้ำหลัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ, อ่างเก็บน้ำดอกกราย, อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล, อ่างเก็บน้ำประแสร์, อ่างเก็บน้ำบางพระ, แม่น้ำบางปะกง และแหล่งน้ำเอกชน นั้นหมายความว่า เฉพาะอ่างเก็บหลัก ๆ ที่เป็น “หัวใจ” ของระบบน้ำในภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น อ่างเก็บน้ำดอกกราย-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล-อ่างเก็บน้ำหนองค้อ นั้น อีสท์วอเตอร์ ยังมีสิทธิในการใช้ “น้ำ” ในอ่างอยู่ สวนทางกับบริษัท วงษ์สยามฯ ที่ได้รับสิทธิในการใช้ท่อส่งน้ำดิบทั้ง 3 เส้นท่อจากการชนะประมูล แต่ยังไม่ได้รับสิทธิในการใช้น้ำในอ่างหรือไม่

จากข้อสงสัยข้างต้น นายสุรชัย นำนาผล อำนวยการโครงการชลประทานระยอง กล่าวว่า อีสท์วอเตอร์ ได้ส่งคืนสินทรัพย์คือ สถานีสูบน้ำหนองปลาไหล 1 ให้กับ กรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา แต่อีสท์วอเตอร์ยังมีสถานีสูบน้ำหนองปลาไหล 2 และ 3 อีก 2 แห่งที่อีสท์วอเตอร์สร้างเองเปิดดำเนินการอยู่ โดยโครงการบริหารท่อส่งน้ำภาคตะวันออกในด้านเอกสารข้อกฎหมาย คนที่มีใบอนุญาตคำขอใช้น้ำในปริมาณ 120 ล้าน ลบ.ม./ปี ยังเป็นผู้ใช้น้ำรายเดิมคือ “อีสท์วอเตอร์”

ดังนั้นในทางปฏิบัติ แม้กรมธนารักษ์จะเอาเส้นท่อส่งน้ำดิบที่หมดสัญญากับอีสท์วอเตอร์ไปเปิดประมูล (ท่อส่งน้ำดอกกราย-หนองปลาไหล-หนองค้อ) และได้ผู้บริหารเส้นท่อรายใหม่คือ บริษัท วงษ์สยามฯ ก็ตาม

แต่การขอใช้ “น้ำ” จากอ่างเก็บน้ำข้างต้น จำเป็นที่ผู้บริหารท่อส่งน้ำรายใหม่จะต้องทำเรื่องมาถึง กรมชลประทาน เพื่อขออนุญาตใช้น้ำในปริมาณ 120 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือเท่ากับปริมาณน้ำที่อนุญาตให้อีสท์วอเตอร์ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจาก อีสท์วอเตอร์ ยังไม่ขอ “ยกเลิก” การใช้น้ำในปริมาณดังกล่าว ส่งผลให้ กรมชลประทาน ก็ไม่สามารถอนุญาตให้ทางผู้บริหารเส้นท่อรายใหม่คือ “วงษ์สยามฯ” เข้ามาใช้น้ำได้ เพราะ “มันไปทับซ้อนกับผู้ใช้น้ำรายเดิม” จนกลายเป็นคำถามสำคัญที่ว่า วงษ์สยามฯ ในฐานะผู้บริหารเส้นท่อส่งน้ำหลักรายใหม่ จะสูบน้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานได้หรือไม่

จนเกิดสถานะอันแปลกประหลาดระหว่าง อีสท์วอเตอร์มี “น้ำ” แต่ไม่มีท่อ (ของธนารักษ์) ในขณะที่ วงษ์สยามฯ มี “ท่อ” แต่ไม่มี “น้ำ” ย้อนแย้งกันอยู่ในศึกบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก