“บ.เอกณรงค์” ดันปลูกกาแฟ พร้อมซื้อคืนส่งร้านอเมซอน

เอกณรงค์ดันปลูกกาแฟ

‘เอกณรงค์’ หนุนเกษตรกรพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างปลูกกาแฟกว่า 2 แสนต้น ทำเกษตรพันธสัญญารับซื้อคืน เตรียมส่ง “ร้านอเมซอน” เผยห่วงเกษตรกรภาคใต้ที่มีบริษัทต่าง ๆ ไปส่งเสริมการปลูกโกโก้ไว้ถึง 1 ล้านต้น อีก 5 ปี ผลผลิตออก หวั่นไม่มีตลาดรองรับ

นายจีระวัฒน์ ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกณรงค์ หมากไทย จำกัด อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกกาแฟ ตามนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชผลไม้ร่วมยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

โดยได้ส่งเสริมการปลูกกาแฟร่วมยางพาราไปแล้วเมื่อปี 2565 จำนวน 15,000 ต้น ในพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ และปี 2567 เตรียมจะปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าอีกประมาณ 200,000 ต้น ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

โดยเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส ซึ่งทางบริษัทเอกณรงค์ฯได้ทำเกษตรพันธสัญญารับซื้อคืนจากเกษตรกร โดยทางบริษัทเอกณรงค์ฯมีตลาดรองรับแน่นอน คือกลุ่มร้านกาแฟอเมซอน สำหรับกาแฟในปัจจุบันราคาประมาณ 60 บาท/กก.ขึ้นไป

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้ากาแฟปีละหลายหมื่นตัน เนื่องจากไทยปลูกกาแฟได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภค โดยในพื้นที่ภาคใต้จังหวัดชุมพรถือว่ามีการปลูกกาแฟกันมาก แต่เมื่อทุเรียนราคาดี ชาวสวนหันไปปลูกทุเรียนกัน ทำให้ราคากาแฟปรับตัวลดลง จึงต้องหันมาส่งเสริมปลูกกาแฟร่วมยางพาราทางภาคใต้ตอนล่าง เพื่อรองรับการตลาดให้พอเพียง” นายจีระวัฒน์กล่าว

นายจีระวัฒน์กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริมการปลูกกาแฟของบริษัทมีตลาดรองรับที่แน่นอน แต่ที่น่าเป็นห่วงสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่ไปเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกโกโก้กับบริษัทต่าง ๆ กระจายตั้งแต่ จ.ตรัง จ.พัทลุง ฯลฯ ประมาณ 10,000 ไร่

เท่าที่ทราบบางส่วนมีบริษัททำเกษตรพันธสัญญาจะรับซื้อโกโก้คืนจากเกษตรกร น้ำหนัก 8 ขีด-1 กก. ประมาณ 10 บาท/กก. ราคาประกันอยู่ที่ 7 บาท/กก. แต่ในส่วนเกษตรกรรายย่อยอีกจำนวนมากที่ไปลงทุนปลูกตามคนอื่น ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่มีตลาดรองรับ

เอกณรงค์ดันปลูกกาแฟ

ดังนั้นในอนาคตทางรัฐบาลควรมีการวางแผนการตลาดรองรับ เพื่อช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้ ซึ่งอีก 5 ปีโกโก้จะให้ผลผลิตได้ และจะต้องมีการตั้งศูนย์รับซื้อโกโก้ เนื่องจากมีการปลูกกระจายแต่ละจังหวัด 2-3 จุด เพื่อรวบรวมส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าโกโก้ประมาณ 30,000 ตัน/ปี

นายจีระวัฒน์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเครือข่ายของบริษัทมีเกษตรกรทั้งกลุ่มชาวสวนยางพารา กลุ่มชาวนา กลุ่มสวนปาล์มน้ำมัน กลุ่มสวนกาแฟ กลุ่มสวนโกโก้ กลุ่มชาวสวนหมาก กลุ่มชาวสวนกล้วย ซึ่งพืชส่วนใหญ่ราคาดี ยกเว้นยางพาราระยะนี้ราคาเคลื่อนไหวในระดับต่ำ และในปี 2567 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) มีกฎระเบียบบังคับผลิตภัณฑ์จากยางพาราของประเทศไทย ทั้งน้ำยาง, ยางก้อนถ้วย, ยางเครป, ยางแผ่นดิบ, ยางแผ่นรมควัน

ต้องดำเนินการตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างเข้มงวด เป็นการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ขององค์กรภาคเอกชน หรือกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Product) ของสหภาพยุโรป

ซึ่งเท่าที่ทราบ กยท.บอกว่า สวนยางพารามีความพร้อมในกฎระเบียบ EUDR แล้วประมาณ 17 ล้านไร่ จะส่งผลให้ยางพารามีแนวโน้มที่จะปรับราคาขึ้นประมาณ 30% ประมาณ 60 บาท/กก. เพราะกลุ่ม EU จะรับซื้อยางพาราจากกลุ่มประเทศที่ดำเนินการตามกฎ ระเบียบ EUDR ได้

นายจีระวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมเรื่องหมากที่ยังมีปัญหา ปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้มีบริษัทต่าง ๆ เข้ามาส่งเสริมปลูกหมากประมาณ 1 ล้านต้น แบ่งเป็นของบริษัทส่งเสริมการปลูกหมากไปประมาณ 500,000 ต้น ยังไม่นับรวมถึงหมากเก่า ตั้งแต่ จ.ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส

ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลผลิตหมากจะออกสู่ตลาดประมาณ 30 ล้านตัน/ปี หรือประมาณ 3 ล้านตัน/เดือน ซึ่งทางรัฐบาลจะต้องวางแผนรองรับทางด้านการตลาด โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศด้วย