ภูเก็ตตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก เป็นเมือง Low Carbon ปี 2030

ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
Photo by Bradley Prentice on Unsplash

ภูเก็ตมุ่งเป้าสู่เมืองโลว์คาร์บอน destination ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกกว่า 400,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ในปี 2030 ขณะที่ข้อมูลของจังหวัดระบุในปี 2030 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะอยู่ที่ประมาณ 4,600,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ 

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำงานให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะอาหาร ที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ต้องจัดการอย่างเป็นระบบภายใต้หลักคิดการมีส่วนร่วม และบูรณาการของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทำงานร่วมกันโดยมุ่งหวังความยั่งยืน

นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต (ทสจ.) กล่าวว่า เรื่องนี้สอดคล้องกับแผนงานการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดของจังหวัดภูเก็ต ที่ ทสจ.ได้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำแผนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และแผนการปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการจัดการประชุมและตั้งคณะทำงานแล้ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานคณะทำงาน และ ทสจ.ภูเก็ตเป็นเลขาฯ

ทั้งนี้ การจัดการขยะอาหารอยู่ในภาคส่วนหนึ่งของ 5 ภาคส่วน ที่จะดำเนินการในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจังหวัดภูเก็ตมีทั้งภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ภาคจัดการของเสีย ภาคเกษตร ภาคป่าไม้ และภาคอุตสาหกรรม

“จากข้อมูลตัวเลขของจังหวัดภูเก็ตขณะนี้ ในฐานปี 2562 มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนของจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 3,100,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2030 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะอยู่ที่ประมาณ 4,600,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

โดยแผนของจังหวัดภูเก็ตตั้งเป้าไว้ที่ 440,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นเป้าหมายทั้งจังหวัดในการลดก๊าซเรือนกระจก คือ 9.51% ต้องทำให้ได้ในปี 2030 ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ขับเคลื่อนกันมารองรับการสอดคล้องแผนพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดที่จะต้องขับเคลื่อนกันไป” นายวัฒนพงษ์กล่าว

ทางด้านผู้แทนสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การจัดการขยะในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบัน ด้วยเตาเผาขยะมีปริมาณนับพันตันต่อวัน หลังจากคัดแยกขยะแล้ว 50% เป็นขยะอาหาร จึงมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดการกับเตาเผา ขยะ ถ้าแยกขยะส่วนนี้ออกมาได้ให้มากที่สุด อาจจะไม่ 100% ค่าใช้จ่ายก็จะลดลงอีกเยอะ

ในฐานะเป็นงานวิชาการจะวางแผนงานวิชาการ 2 แบบ คือ 1.ฮาร์ดแวร์ และ 2.ซอฟต์แวร์ ซึ่งฮาร์ดแวร์ คือ อบจ.ภูเก็ตมีโรงหมักปุ๋ย จะให้มีความร่วมมือกันกับเทศบาลนครภูเก็ตให้จัดการขยะอาหารรับไปจัดการโดยตรงที่โรงหมักปุ๋ยหรือชุมชน อาจจะมีชุมชนกะทู้หรือศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม ส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์ จะทำแพลตฟอร์มให้กับจังหวัดภูเก็ต สามารถเข้าไปเติมข้อมูลได้ว่า ทั้งโรงแรมหรือร้านค้าปลีก ร้านค้าย่อย ห้างสรรพสินค้ามีอาหารส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพสูงปริมาณเท่าไร ซึ่งภาคโรงแรมอาจเข้าไปขอข้อมูลนี้

ส่วนหนึ่งคือแพลตฟอร์มนี้จะมองเห็นซึ่งกันและกันคือคนที่จะรับอาหารส่วนเกิน กลุ่มเปราะบาง โรงเรียน ที่ต้องการอาหารส่วนเกินตรงนี้ก็ไปรับได้ เดิมประสานกับมูลนิธิ SOS ไว้อยู่แล้ว ส่งตรงถึงผู้รับ ถ้ามูลนิธิพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน เข้ามาสอดรับตรงนี้อาจจะมีที่เก็บจากพักอาหารนำส่งอย่างรู้คุณค่ามากที่สุดท้าย และขยะอาหารภายใต้แพลตฟอร์มนี้ จะสามารถคำนวณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จะตอบโจทย์ได้ทั้งหมดกลายเป็นภูเก็ตจะเป็นจังหวัดนำร่อง

สำนักงานได้ของบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมจะให้จังหวัดภูเก็ตเป็นโมเดล เรื่องการจัดการขยะอาหารส่วนเกินและขยะอาหารในพื้นที่จังหวัดและโมเดลนี้ออกมาแล้ว ประเทศหรือจังหวัดอื่นสามารถนำไปใช้ต่อ ประยุกต์ใช้ในเมืองของตัวเอง และท้ายที่สุดจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ จังหวัดภูเก็ตก็จะเป็นจังหวัด low carbon

ทางด้านนายวิทยา เกตุชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต กล่าวว่า ในเรื่องการจัดการขยะอาหาร เป็นส่วนหนึ่งที่จะจัดการสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม ถ้าดูผลการวิจัยเรื่องของอากาศบริสุทธิ์ออกซิเจนมีผลต่อความฉลาดของเด็ก ในต่างประเทศหลายประเทศมีเครื่องวัดออกซิเจนอยู่หน้าสถานศึกษา

“สิ่งที่ทางมูลนิธิพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน เสนอมาทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ยินดีมากในการสร้างความตระหนักของคนให้เรียนรู้ และบูรณาการให้เกิดความยั่งยืนคือความสำเร็จในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมของภูเก็ตโมเดล ที่ช่วยกันสร้างการเชื่อมโยงเป็นระบบสร้างความยั่งยืนให้กับภูเก็ต” นายวิทยากล่าว

นายทิวัตถ์ สีดอกบวบ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า อบจ.ภูเก็ต มีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ทำโรงกำจัดขยะอาหาร ปัจจุบันเดินเครื่องอยู่แล้วอยู่ที่ศูนย์จักรกลใหญ่ ที่พื้นที่ตำบลรัษฎา รับขยะอาหารและทำออกมาเป็นปุ๋ย ทำออกมาเป็นดินที่จะมาปกคลุมดินอีกครั้งหนึ่งเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรต่าง ๆ

“เรื่องโรงกำจัดขยะอาหาร อยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ตได้ศึกษา เพื่อเป็นโมเดล เพื่อให้ท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตั้งงบประมาณกำจัดขยะอาหารแต่ละพื้นที่ เพราะลดค่าขนส่ง ลดปัญหาการจราจร ลดอุบัติเหตุต่าง ๆ ลดการเกิดก๊าซคาร์บอน ที่จะต้องขนมาจากระยะไกล ๆ อบจ.ภูเก็ตให้ความร่วมมือ มีความยินดี สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน

นอกจากนี้ อบจ.ภูเก็ตตระหนักในเรื่องของการลดคาร์บอน โดยการตั้งโครงการใช้รถอีวีบริการสาธารณะ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ TOR จากนั้นจะมีการจัดซื้อ ซึ่ง อบจ.ภูเก็ตพยายามที่จะให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการลดคาร์บอนในเมืองภูเก็ต อบจ.ภูเก็ต ได้สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อชักจูงให้ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้ารถ EV เพราะว่าจะใช้ง่าย มีการชาร์จเร็ว” นายทิวัตถ์กล่าว