ตราดชง “ธนารักษ์” เว้นค่าเช่า 3 ปี “ท่าเรือคลองใหญ่“ รุกเปิดด่านสากล

ท่าเรือคลองใหญ่

จากกรณีที่ “ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอข่าว “ปัดฝุ่นท่าเรือคลองใหญ่” หอฯตราดชงเปิดเฉพาะ “ท่องเที่ยว” ฉบับวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2566

หลังจากที่ท่าเรือคลองใหญ่สร้างเสร็จปี 2559 ด้วยงบประมาณกรมเจ้าท่า 1,295,100,000 บาท แบ่งเป็นท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ 4 ประเภท ทั้งเรือประมง เรือท่องเที่ยว เรือขนส่งสินค้า และเรือโดยสาร และวันที่ 17 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) มอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เข้ามาบริหารจัดการ แต่ถูกทิ้งร้างไว้นานกว่า 7 ปี

ล่าสุดหอการค้า จ.ตราดกระตุ้นผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เร่งให้มีผู้เข้าไปบริหารจัดการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ กทท.ลงพื้นที่ จ.ตราด เปิดรับฟังความคิดเห็นได้ข้อสรุปเป็นท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวเหมาะสมที่สุด

ตั้งด่านสากลรับเรือต่างชาติ

นายบรรพต วิถี รองประธานหอการค้า จ.ตราด ด้านการท่องเที่ยว กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่าเรือคลองใหญ่ด้วยทำเลและสภาพภูมิศาสตร์เปรียบเสมือนประตูออกจากประเทศทางทะเล และ จ.ตราดน่าจะยกระดับเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเล ควรพัฒนาเป็นท่าเรือมิกซ์ยูส 2 แบบ ให้มีการต่อยอดธุรกิจช่วยสร้างเม็ดเงินจำนวนมาก

คือ 1)ด่านสากล one stop service เพื่อให้เรือต่างประเทศ เช่น เรือยอชต์ออกไปแสตมป์และกลับเข้ามาในระยะใกล้สุด ไม่ต้องเดินทางไปสิงคโปร์ มาเลเซีย มีพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ด้านการส่งออก ผลิต และท่องเที่ยว มีการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ

เช่น จัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาใหญ่ ๆ ในกัมพูชา เวียดนาม มีจีน ฮ่องกงเข้ามาแข่งขัน ธุรกิจต่าง ๆ จะต่อยอดตามมา เป็นเส้นทางท่องเที่ยว เชื่อมกับพัทยา จันทบุรี ตราด เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เป้าหมายเป็นเรือยอชต์ที่ไม่ใช่เรือครุยส์ขนาดใหญ่ 2)การเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างประเทศ กัมพูชา เวียดนาม ไทย โดยกัมพูชา เวียดนามมีท่าเรือเชื่อมกันอยู่แล้ว

นายสัคศิษฐ์ มุ่งการ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตราด ให้ข้อมูลว่า จ.ตราด ก่อนโควิด-19 มีรายได้ 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็นจากเกาะช้าง 9,000 ล้านบาท บนฝั่ง 10,000 กว่าล้านบาท การฟื้นตัวหลังโควิด ปี 2565 รายได้ ท่องเที่ยว 9,000 กว่าล้านบาท ปี 2566 นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามา รายได้ 5 เดือนแรก 9,000 ล้านบาท

แบ่งเป็น 30% มาจากต่างประเทศ และคาดว่าไตรมาส 4 จะมีรายได้ 14,000 ล้านบาท ซึ่งการพัฒนาท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน กัมพูชา เวียดนาม บริษัท บุญศิริเรือเร็ว จำกัด เริ่มลงทุนเปิดเส้นท่องเที่ยวทางเรือเชื่อมจากชายแดนไทยไปกัมพูชา สามารถต่อไปฟูก๊วกได้ โดยลงทุนสร้างท่าเรือเอง เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับเกาะกูด เกาะหมาก เกาะช้าง

“ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่เปรียบเสมือนเครื่องมือในการใช้งาน ถ้าเป็นท่าเรือวันสต็อปเซอร์วิสจะมีประโยชน์กับการท่องเที่ยวมาก สะดวกการแจ้งเช็กอิน-เช็กเอาต์เรือ ที่เกาะช้างมีเรือยอชต์ชาวต่างประเทศเข้ามาจอดปีละประมาณ 10 ลำ ทุก 6 เดือนต้องแจ้งหน่วยงานให้มาแสตมป์ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องมาตรวจ และแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ wellness tourism ของจังหวัดตราด มีทั้งทะเลและภูเขาที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศ” นายสัคศิษฐ์กล่าว

ท่าเรือคลองใหญ่

เสนอกรมธนารักษ์ปลดล็อก

ปี 2560 กรมธนารักษ์กำหนดอัตราค่าเช่าตามหลักเกณฑ์ 2 กรณีคือ 1) ถ้า อบต.คลองใหญ่บริหาร คิดค่าเช่า 3.947 ล้านบาท/ปี ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 2) ถ้าเอกชนเช่า ต้องเปิดประมูล คิดค่าเช่าปีแรก 6.579 ล้านบาท ปรับค่าเช่า 9% ทุก 3 ปี เป็นอัตราที่สูงมาก ท้องถิ่น ภาคเอกชนแบกรับไม่ไหว และท่าเรือมีข้อจำกัดในการขนถ่ายสินค้า

ดังนั้น หลายฝ่ายโฟกัสไปที่อัตราค่าเช่าของกรมธนารักษ์ ควรจะมีความยืดหยุ่น ในรูปแบบ super promotiom คือลดค่าธรรมเนียม ยกเว้นค่าเช่า ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุม MARKET SOUNDING ครั้งที่ 1 ทพญ.วิภา สุเนตร ประธานหอการค้า จ.ตราด ได้เสนอให้ปรับเพื่อการท่องเที่ยวและให้ทดลองใช้แบบ “ออร์แกนิก” ระยะหนึ่งก่อน อาจจะ 3 ปีจึงพิจารณาเก็บค่าเช่ารายปี

นางวิยะดา ซวง ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ตราด และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรม “ทะเลภูรีสอร์ท” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนสนใจจะใช้ท่าเรือคลองใหญ่ สามารถรองรับการท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่ง

และมีเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยง ไทย กัมพูชา เวียดนาม จากเกาะกง-เกาะกูด คลองใหญ่-เกาะกูด แต่อัตราค่าธรรมเนียม ค่าเช่าสูงมาก จึงยังไม่มีผู้ที่มารับบริหารจัดการ มีเรือโดยสารขนาด 300 ที่นั่ง (SUPER DONG) สามารถเข้ามาใช้ท่าเรือนี้ได้ และอนาคตอาจใช้ขนส่งสินค้าเกษตรที่ไม่ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ไปมาเลเซีย สิงคโปร์

“กรมธนารักษ์ควรปรับลดค่าเช่า ค่าธรรมเนียมแบบอัตราพิเศษ ควรยกเว้นค่าเช่า 3-5 ปี และกำหนดเงื่อนไขการบริหารจัดการให้ชัดเจน เช่น การเช่าช่วง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อหาผู้บริหารจัดการอาจจะเป็นท้องถิ่น หรือภาคเอกชน จะทำสัญญาทดลองใช้ประโยชน์ไปก่อน เพราะช่วง 1-3 ปีขาดทุนแน่”

นายเจริญ ชลาลัย รองนายก อบจ.ตราด และเจ้าของและผู้บริหารท่าเรือชลาลัย อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องเร่งหาผู้บริหารจัดการท่าเรือคลองใหญ่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ กรมธนารักษ์ต้องกำหนดอัตราค่าเช่า หรือการยกเว้นค่าเช่า 3-5 ปี

คาดว่าถ้ามีการผ่อนปรนต้องได้รับความสนใจ และควรเร่งดำเนินการ เพราะฤดูกาลท่องเที่ยว 3 เดือน กันยายน-พฤศจิกายนใกล้มาถึงแล้ว หากกรมธนารักษ์ยังยืนยันอัตราค่าตอบแทนเดิม โครงการนี้ไปต่อไม่ได้แน่

ขณะที่นายอาภากร เจริญผล นายก อบต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากท่าเรือต้องเร่งดำเนินการ ไม่ใช่เดินไปสุดทางแล้วมาให้ท้องถิ่นทำ ตอนนี้มีภาคเอกชนสนใจ อบต.ยินดีสนับสนุน ประชาชนรอที่จะใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ หากกรมธนารักษ์ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม ประกาศ ให้ชัดเจน

ท่าเรือคลองใหญ่

ถนนสีหนุวิลล์-เกาะกงเสร็จปี’68

นายสุทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหรรม จ.ตราด กล่าวว่า ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่หากพัฒนาเปิดด่านสากลทางทะเล มีบริการแบบวันสต็อปเซอร์วิสต้องเปิดให้ได้ก่อนสร้างถนน เกาะกง-สีหนุวิลล์เสร็จปี 2567-2568

ซึ่งเป็นเส้นทางมาลงเรือ จากเกาะกง-ไปเกาะกูด เกาะหมากได้สะดวก นักท่องเที่ยวที่มาเกาะกงจะใช้ทางรถยนต์มากกว่า และการเดินทางท่องเที่ยวจากสีหนุวิลล์-กทม.ทางรถยนต์ 6-8 ชั่วโมงจะสะดวกกว่าทางเรือที่ต้องใช้เวลา 2-3 วัน

กทท.มีศักยภาพเจรจาต่อรองกับกรมธนารักษ์ และมีเงินทุนที่จะพัฒนาควรเป็นผู้บริหารท่าเรือนี้ เพราะอุปสรรคคือ ค่าเช่า ค่าบริการ และความคุ้มทุนต้องใช้เวลาถึง 20 ปี