ทุเรียนตะวันออกผวาหนอนใต้ ส่งออกมึน ด่านนครพนมตีกลับตู้อีกเพียบ

ทุเรียนหนอนเจาะ

ผู้ส่งออกทุเรียนเดี้ยง ด่านตรวจพืชนครพนมสั่งตีกลับตู้คอนเทนเนอร์อีกเพียบ สกัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนก่อนส่งออกไปจีน ขณะที่สมาคมทุเรียนไทย-ชาวสวนผวาทุเรียนยะลาที่มีหนอน ถูกส่งขายราคาถูก มาเข้าโรงงานแปรรูปทำทุเรียนแช่แข็งที่ภาคตะวันออกจำนวนมาก จี้หน่วยงานรัฐเร่งควบคุมหวั่น “หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน” ลามเข้าสวนทุเรียนภาคตะวันออกฤดูกาลหน้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการที่หน่วยงานภาครัฐของไทยและด่านตรวจพืชชายแดนจังหวัดต่าง ๆ มีมาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนก่อนส่งออกไปในตลาดจีน ปรากฏว่าเปิดตู้คอนเทนเนอร์มาพบหนอนในเมล็ดทุเรียน และถูกตีกลับตู้คอนเทนเนอร์บรรจุทุเรียนจำนวนมาก

โดยเฉพาะด่านตรวจพืชนครพนม พร้อมระงับการส่งออกของผู้ประกอบการ ทำให้ทุเรียนยะลาลอตสุดท้ายประมาณ 40,000-50,000 ตัน ซึ่งจะหมดฤดูกาลประมาณวันที่ 15 กันยายน 2566 ถูกคัดออกส่งตลาดบริโภคภายในประเทศ หรือแกะเนื้อเป็นทุเรียนแช่แข็งส่งเข้าไปที่โรงงานแกะเนื้อแช่แข็งในจังหวัดจันทบุรีและตราด

นายกฤติเดช อยู่รอด เลขาธิการสมาคมทุเรียนไทยและเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีความกังวลกรณีที่มีการนำผลผลิตทุเรียนจากจังหวัดยะลาหรือจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้จำนวนมากขนส่งขึ้นมาแกะเนื้อ

เพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปทุเรียนแช่แข็ง (ห้องเย็น) ต่าง ๆ ในจังหวัดจันทบุรี เพราะอาจจะมีหนอนติดในเมล็ดทุเรียนมา และส่งผลกระทบให้เกิดการแพร่ระบาดของทุเรียนภาคตะวันออกในฤดูกาลหน้า ถ้าร้ายแรงมากอาจจะถูกแบน บล็อกไม่ให้นำเข้าทุเรียนไทย

ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วน หน่วยงานภาครัฐต้องออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดหนอนในพื้นที่ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการบริหารจัดการหลังแกะเนื้อ ต้องมีวิธีการทำลายอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้หนอนเติบโตแพร่พันธุ์ได้

ทั้งนี้สมาคมทุเรียนไทย (TDA)ได้สะท้อนปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงงานแช่แข็งกำจัดการแพร่ระบาดของหนอนในเมล็ดทุเรียนแล้ว

“ตอนนี้เจ้าหน้าที่ สวพ.6 ได้ดำเนินการตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเฝ้าระวัง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่ สวพ.6 ไม่มีอำนาจควบคุมโรงงานแปรรูปทุเรียนแช่แข็ง (ห้องเย็น) โรงเพาะชำโดยตรง ปัญหาสำคัญ คือ การป้องกันการแพร่ระบาดหนอนในเมล็ดทุเรียน ซึ่งไม่ทราบชัดเจนว่าหน่วยงานใดมีอำนาจดำเนินการแก้ปัญหา หรือควบคุม คุณภาพและแมลงศัตรูพืชโดยตรง” นายกฤติเดชกล่าว

นายธิติ เอกบุญยืน ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรจะหาทางกำจัดหนอนที่ติดมาไม่ให้โตกลายเป็นผีเสื้อและเข้าไปแพร่พันธุ์ในสวนทุเรียนต่อไป ไม่อย่างนั้นจะเกิดหนอนทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีและอาจแพร่ไปยังจังหวัดตราดได้ หากไม่ตระหนักในเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นปัญหาในฤดูหน้า ทำให้ต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันจะทำให้ต้นทุนของชาวสวนเพิ่มขึ้น

นายชลธี นุ่มหนู ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนควรเป็นวาระสำคัญในพื้นที่ การดูจากภายนอกจะไม่เห็นว่ามีหนอนอยู่ภายในจนกว่าทุเรียนผลผลิตแก่ใกล้เก็บเกี่ยว หนอนจะเจาะรูออกมาแล้วทิ้งตัวลงดิน เอาก้อนดินหุ้มตัวเป็นดักแด้

ทั้งนี้ การจะลดการระบาดในพื้นที่ ต้องคัดแยกสวนที่มีความเสี่ยง สวนปลอดหนอนและร่วมมือกันตัดทุเรียนแก่ เพื่อให้หนอนออกจากผล ก่อนคัดแยกส่งออก และทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพส่งออก ส่งโรงงานแกะเนื้อ แช่แข็งผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบฝังกลบเมล็ดทำลายหนอน

ทุเรียนหนอนเจาะ

นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) เปิดเผยว่า กรณีการนำทุเรียนใต้ที่แพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน มาแกะเนื้อที่จันทบุรี เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างเคร่งครัด สวพ.6 ทีมเล็บเหยี่ยว ประสานเกษตรจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจสอบผู้ประกอบการที่ทำโรงงานแปรรูปทุเรียนแช่แข็ง (ห้องเย็น) ใน จ.จันทบุรี 10 ราย พบหนอนเฉลี่ยประมาณ 20-30% บางแห่งซื้อทุเรียน เกรด AB ไม่พบเลย

ซึ่งอาคารประกอบการโรงงานทั้งหมดได้มาตรฐาน มีการเทปูนที่พื้น หากนำทุเรียนที่หนอนเจาะมากองจะพบตัวหนอนร่วงออกมา สามารถนำไปทำลายได้ และมีสถานที่จัดเก็บซากทุเรียน ทั้งเปลือก และอื่น ๆ การทำลายใช้วิธีฝังกลบและมีรับซื้อไปทำปุ๋ย ทั้งนี้ใน จ.จันทบุรีตอนนี้หมดฤดูกาลทำผลสดส่งตลาดต่างประเทศ มีเฉพาะโรงงานแปรรูปทุเรียนแช่แข็ง (ห้องเย็น) แต่ต้องเฝ้าระวังก่อนฤดูกาลหน้าของภาคตะวันออก

“เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการรับผลทุเรียนสด ที่ขนส่งมาจากพื้นที่การระบาด สวพ.6 ได้ขอความร่วมมือโรงคัดบรรจุ โรงงานแปรรูปและโรงเพาะชำ โดยโรงคัดบรรจุ ต้องตรวจเช็กคุณภาพก่อนรับเข้า ตรวจดูทุกผลพบไม่รับทุเรียนมีรูเจาะ มีหนอนออกมาด้านนอก หากพบผลมีรูเจาะให้คัดแยกออกมาทั้งลอต โรงงานแปรรูปทุเรียน (ห้องเย็น) หากพบตัวหนอนเจาะที่ผลให้ทำลายทิ้งทันที

โดยเก็บตัวหนอนใส่ขวดแก้วที่มีน้ำ ตัวหนอนจะจมน้ำตาย หรือเก็บไปเผาทำลายในที่ที่เหมาะสม หากแกะเนื้อทุเรียนแล้วพบร่องรอยให้คัดแยกเมล็ดทุเรียนที่ถูกทำลายแช่ด้วยสารเคมีก่อนนำไปกำจัดตามหลักสุขาภิบาล และโรงเพาะชำ ไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนที่มีหนอนระบาดเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้าจำเป็นควรคัดเลือกเมล็ด และแช่เมล็ดด้วยสารฆ่าแมลงก่อนการขนย้าย” นายพิทวัฒน์กล่าว

นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จ.ชุมพร (ศพก.) อุปนายกสมาคมทุเรียนใต้ กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สวนทุเรียนที่จังหวัดชุมพรมีปัญหาพบหนอนที่ติดมาจากทุเรียนของจังหวัดเพื่อนบ้านแพร่ระบาดเข้ามาในสวนจำนวนมาก

บางสวนต้องตัดผลผลิตทิ้งเกือบทั้งหมด หากไม่มีมาตรการกำจัดหนอนจะส่งผลกระทบต่อทุเรียนของจังหวัดชุมพรในอนาคต ทั้งนี้ ได้เสนอเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมของจังหวัด เพื่อให้เสนอเรื่องต่อไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเร็ว

“ทุเรียนจากยะลาลอตสุดท้ายอีก 50,000 ตันที่จะนำมาขายให้ล้งใน จ.ชุมพรที่มีมาก 200-300 ล้ง เวลาเอาทุเรียนมากอง จะมีหนอนไต่ออกมา หากไม่ทำลาย ปล่อยให้คลานไปอยู่ในดิน ปีหน้าจะมีหนอนออกมาอีก ตอนนี้เริ่มพบในมังคุดบ้างแล้ว ควรมีการแยกทำลาย ตอนนี้แจ้งหลายหน่วยงานให้เข้ามาดูแล เพราะอีก 10-15 วันจะหมดฤดูกาลของทุเรียนยะลา” นายดำรงศักดิ์กล่าว

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพรพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์เครือข่ายของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมบูรณาการตรวจโรงคัดบรรจุผลไม้สดทุเรียนในพื้นที่อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เพื่อป้องกันการส่งออกทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จำนวน 21 โรงคัดบรรจุ พบทุเรียนด้อยคุณภาพจำนวน 24 กิโลกรัม