บุรีรัมย์ประชุมแผนบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ครอบคลุม 5 จังหวัด

ประชุมแผนบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง บุรีรัมย์
ภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะมูลตอนกลาง บุรีรัมย์-สุรินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง

วันที่ 14 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) มูลตอนกลาง บุรีรัมย์-สุรินทร์ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และนำเสนอการจัดทำแผนหลักในการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่เฉพาะ (Area Based) มูลตอนกลาง และพื้นที่บุรีรัมย์-สุรินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 265 ตำบล 53 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ

ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนแม่บทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ครอบคลุมทั้ง 5 ด้านนำไปสู่การบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดความเสียหายของอุทกภัยและภัยแล้ง สร้างความมั่นคงด้านน้ำภาคการผลิต การอุปโภคบริโภค การจัดการคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน รวมถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งมิติวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ มีแผนงานโครงการระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว รวมจำนวน 5,585 โครงการ

แผนบริหารจัดการเรื่องน้ำ บุรีรัมย์
ภาพจาก – สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์

สำหรับสภาพปัญหาสามารถสรุปสภาพปัญหาตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ด้าน ได้แก่

ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ประสบปัญหา 2,087,582 ไร่ มีการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตและนอกเขตบริการของ กปภ. มีหมู่บ้านที่ไม่มีระบบประปาทั้งหมด 356 หมู่บ้าน หมู่บ้านที่น้ำประปาไม่เพียงพอทั้งหมด 284 หมู่บ้าน หมู่บ้านขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด 205 หมู่บ้าน และหมู่บ้านที่ระบบประปาชำรุดไม่สามารถใช้การได้ 7 หมู่บ้าน

ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพราะประสบปัญหาปริมาณน้ำสำหรับการทำการเกษตรไม่เพียงพอในฤดูแล้ง โดยมีพื้นที่เฉพาะ (Area Based) 4,569,092 ไร่ จากการวิเคราะห์ดัชนีความขาดแคลน (WSI) พบว่ามีปริมาณน้ำขาดแคลนทั้งหมด 306 ล้าน ลบ.ม. โดยมีตำบลที่มีระดับความวิกฤตของความขาดแคลนในระดับสูง-สูงมาก 64 ตำบล มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการเกษตรสูงสุด 3,551,727 ไร่ และมีหมู่บ้านเสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรทั้งหมด 3,201 หมู่บ้าน

ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ประสบปัญหาน้ำท่วมและอุทกภัย 1,175,140 ไร่ ตำบลที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 104 ตำบล มีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากบ่อยครั้ง-เป็นประจำ 344,275 ไร่ หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงอุทกภัยทั้งหมด 2,952 หมู่บ้าน แบ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงต่ำ 1,641 หมู่บ้าน มีความเสี่ยงปานกลาง 1,084 หมู่บ้าน มีความเสี่ยงสูง 223 หมู่บ้าน และที่มีความเสี่ยงสูงมาก 4 หมู่บ้าน

ด้านที่ 4 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ มีพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ประสบปัญหา 1,303,227 ไร่ แบ่งเป็นตำบลที่ประสบปัญหาคุณภาพน้ำ 40 ตำบล มีลำน้ำที่มีปัญหาคุณภาพน้ำ 6 ลำน้ำ ได้แก่ แม่น้ำมูล ลำปลายมาศ ลำนางรอง ลำชี ห้วยจรเข้มาก และลำตะโคง

มีพื้นที่เป้าหมายในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำรวม 1,262,569 ไร่ ตำบลประสบปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม 58 ตำบล มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่ารวม 298,321 ไร่ ตำบลประสบปัญหาการพังทลายของดิน 28 ตำบล และมีพื้นที่สูญเสียดินระดับรุนแรงมาก-มากที่สุดรวม 835 ไร่

ด้านที่ 5 การบริหารจัดการ ประสบปัญหาเนื่องจากไม่สามารถประเมินปริมาณฝน ระดับน้ำ และปริมาณน้ำ เพื่อแจ้งเตือน/ประกาศอพยพให้กับประชาชน ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที นอกจากนี้พื้นที่ตำบลส่วนใหญ่พบว่ามีการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแต่ยังไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่าที่ควร