หมูไทยล้นฟาร์ม รายย่อยกระอัก หมูเถื่อนราคาลดแย่งตลาด

ฟาร์มหมู
ฟาร์มหมู

ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกระอักเลือด 3 บริษัทใหญ่ขยายการเลี้ยงกว่า 50% ทำหมูล้นตลาดราคาดิ่ง แถมเร่งเปิดขายปลีกบุกตลาดนัดทั่วประเทศ วาง “ตู้ขายหมูสด”ในร้านขายของชำระดับตำบล ขายส่งหมูเนื้อแดงแค่ 70 บาท/กก. ถูกกว่าหมูเถื่อน ขณะที่ผู้เลี้ยงขายหมูมีชีวิต 50 บาท/กก. เผยประชุมพิกบอร์ด 20 ก.ย.นี้ ผู้เลี้ยงรายย่อยจี้ “ปลดแม่พันธุ์หมู” 15 บริษัทใหญ่ หวังฉุดราคาขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงสุกร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะที่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้รับความเดือดร้อนหนักจากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการปศุสัตว์ขยายการเลี้ยงสุกรขึ้นมาจำนวนมาก ทดแทนรายย่อยที่ล้มหายไปจากโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) โดยมีแม่พันธุ์สุกรรวมกันประมาณ 480,000 แม่ คิดเป็นประมาณกว่า 50% ของปริมาณแม่พันธุ์สุกรทั้งประเทศที่มีประมาณ 940,000 ตัว

ตารางหมู

และหากรวมแม่พันธุ์สุกรของผู้เลี้ยงรายใหญ่ 15 รายทั่วประเทศ จะคิดเป็น 75% ของปริมาณแม่พันธุ์ทั้งระบบ ขณะที่ตัวเลขหมูขุนทั้งระบบตอนนี้มีประมาณ 16 ล้านตัว ทำให้หมูล้นตลาด ราคาตกต่ำ ประกอบกับกำลังการบริโภคที่ลดลง กระทบหนักต่อผู้เลี้ยงรายย่อย เนื่องจากต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะอาหารสัตว์สูงขึ้นมาก ทั้งนี้ ราคาที่ลดลงทำให้ผู้นำเข้าหมูเถื่อนลดการนำเข้าลง เพราะราคาไม่จูงใจ จะสังเกตได้ว่าหมูเถื่อนเริ่มหายไปจากระบบ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในวันที่ 20 กันยายน 2566 เพื่อประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) (พิกบอร์ด) จะมีการหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำ เนื่องจากปริมาณหมูในประเทศไทยล้นตลาด โดยมีข้อเสนอ 1.ผลักดันการส่งออกสุกรมีชีวิต และซากสุกรอื่น ๆ เพื่อระบายสุกรส่วนเกินออกจากระบบ 2.ลดแม่พันธุ์ เพื่อลดการผลิตลูกสุกรเข้าสู่ระบบ 3.ลดปริมาณลูกสุกรเข้าสู่ระบบ โดยการทำหมูหัน 4.ส่งเสริมการแปรรูป 5.ระงับการขยายการเลี้ยงใหม่ ควบคุมการขยายปริมาณการเลี้ยง 6.ปราบปรามสุกรเถื่อน 7.ขึ้นทะเบียนโบรกเกอร์ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรอย่างมีประสิทธิภาพ 8.ประชาสัมพันธ์กระตุ้นการบริโภค เป็นต้น

10 บริษัทยักษ์ทำราคาดิ่ง

สำหรับประเด็นการปลดแม่พันธุ์หมู เพื่อให้ลดจำนวนผู้ขุนออกสู่ระบบ ปัจจุบันคาดการณ์ว่า ผู้เลี้ยง 10 รายใหญ่มีการขยายการเลี้ยงกันจำนวนมาก คาดการณ์ปริมาณแม่พันธุ์สุกรทั้งระบบประมาณ 940,000 แม่ ประกอบด้วย 1.บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ประมาณ 2.5-2.6 แสนแม่ 2.บมจ.เบทาโกร ประมาณ 1.5 แสนแม่ 3.บมจ.ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป (TFG) ประมาณ 80,000 แม่ 4.บริษัท เอสพีเอ็มกรุ๊ป (SPM) จ.ราชบุรี ประมาณ 50,000 แม่

5.บริษัท เจริญชัยฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 40,000 แม่ 6.บริษัท พนัสโภคภัณฑ์ จำกัด จ.ชลบุรี ประมาณ 20,000 แม่ 7.บริษัท กาญจนาฟาร์ม จำกัด จ.ราชบุรี 15,000 แม่ 8.บริษัท วี.ซี.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด (VCF) จ.ราชบุรี ประมาณ 13,000 แม่ 9.บริษัท อาร์.เอ็ม.ซี. จำกัด จ.บุรีรัมย์ ประมาณ 12,000 แม่ และ 10.บริษัท ภาคใต้ค้าสัตว์ จำกัด จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 12,000 แม่

ยักษ์ใหญ่เล่นตลาดล่าง เบียดรายย่อย

นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่บริษัทผู้เลี้ยงสุกรบางรายได้ขยายการทำตลาดขายปลีกมาลงตลาดระดับล่าง แข่งกับเขียงหมูในชุมชนระดับตำบล ซึ่งเป็นตลาดของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ด้วยการมาเปิดแผงในตลาดนัดชุมชน ตั้งตู้ขายชิ้นส่วนหมูสดในร้านขายของชำในหมู่บ้านในราคาถูกมาก เช่น เนื้อแดงขายส่งในราคา 70 บาท/กก.

รวมถึงการทำตลาดออนไลน์ส่งสินค้าถึงบ้านในราคาถูกมากกว่าหมูเถื่อน ทำให้หมูเถื่อนเริ่มหายไปจากตลาด เนื่องจากราคาหมูในประเทศกับหมูเถื่อนใกล้เคียงกัน และความเข้มงวดในการตรวจสอบของหน่วยราชการ

“ตอนนี้คนส่วนหนึ่งไปโทษหมูเถื่อนทำให้หมูล้นตลาด แต่ผมมองว่ากำลังการซื้อลดลง ทำให้บริษัทใหญ่หันมาเล่นตลาดชิ้นส่วนในตลาดล่าง จากปกติบริษัทใหญ่เล่นตลาดบน ขายตามห้าง ขายตลาดในเมือง 70% อีก 30% แบ่งให้ตลาดผู้เลี้ยงรายย่อยขายในชุมชน แต่ตอนนี้เท่าที่คุยกับพรรคพวกผู้เลี้ยงในภาคต่าง ๆ เจอเหมือนกันหมด ถูกบริษัทใหญ่ขยายตลาดขายปลีกในราคาถูกเข้าไปตามหมู่บ้าน เข้าไปวางตู้ขายหมูทุกพื้นที่ทั่วไทย ไม่ใช่เฉพาะอีสาน

โดยมีเซลส์มายื่นข้อเสนอติดต่อร้านขายของชำ และเมื่อบางร้านเห็นร้านอื่นมี ก็ไปติดต่อบริษัทนั้นเอาตู้มาวางขายบ้าง กองทุนหมู่บ้านก็เอาตู้มาลงขาย ยกตัวอย่าง ต.ศรีสว่าง อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ที่ผมอยู่มีตู้ขายหมูมาวางในร้านขายของชำในหมู่บ้าน

เราเคยเชิญผู้แทนบริษัทใหญ่รายหนึ่งมาคุยเรื่องนี้ ทางบริษัทชี้แจงว่า หมูที่มาขายในชุมชนแค่ 4-5% ของยอดการผลิตหมูของบริษัท หากบริษัทนั้นมีหมูขุน 300 ล้านตัวต่อปี 10% ก็เท่ากับ 30 ล้านตัว ถ้า 1% ก็เท่ากับ 3 ล้านตัว ผู้เลี้ยงรายย่อยรวมทั้งจังหวัดยังไม่ได้ 1% ของบริษัทใหญ่เลย

ที่ผ่านมาเราสู้กับหมูเถื่อนนำเข้าจากต่างประเทศ หมูเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว

นายเดือนเด่นกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงหมูรายย่อยขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มราคา 50 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 80-90 บาท/กก. เนื่องจากอาหารสัตว์ราคาแพง ขณะที่เขียงในหมู่บ้านขายราคาประมาณ 100-110 บาทก็ไม่มีคนซื้อ เพราะบริษัทใหญ่ราคาส่ง 70 บาท อย่างมากร้านขายของชำมาบวกเพิ่ม 5-10 บาท ทำให้เขียงสู้ราคาไม่ได้

ในวันที่ 20 กันยายน 2566 ชมรมเตรียมยื่นหนังสือถึงร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อธิบดีกรมปศุสัตว์, กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อขอความอนุเคราะห์แนวทางการป้องกันและแก้ไขราคาสุกรให้มีเสถียภาพ ไม่ต่ำกว่าโครงสร้างต้นทุนการผลิตให้ผู้เลี้ยงอยู่ได้

รวมถึงขอความเป็นธรรมกรณีบริษัทใหญ่ลงมาเล่นตลาดล่าง ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขข้อกฎหมายหรือข้อแข่งขันทางการค้า อาชีพเลี้ยงหมูคงไปอยู่ในมือรายใหญ่หมดเหมือนผู้เลี้ยงไก่เนื้อ หรือไปเป็นลูกเล้าผู้เลี้ยงรายใหญ่หมด

การที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเสนอปลดแม่พันธุ์และลูกสุกรขุน ถ้าทำได้จะช่วยดึงหมูออกจากตลาดได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งวิธีการนี้เคยทำกันเมื่อ 8-9 ปีก่อน ซึ่งได้ผลทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่ตอนนั้นไม่มีหมูเถื่อน