ชักพระออกพรรษา ประเพณีจากบรรพบุรุษของชาวไทยพุทธในภาคใต้

ประเพณี ชักพระ
ภาพจาก เว็บไซต์ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้

แรม 1 ค่ำเดือน 11 นับเป็นวันกำหนดการ “ชักพระ” ประเพณีทำบุญในวันออกพรรษาของชาวไทยพุทธในภาคใต้ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยมีเรือพระเตรียมไว้สำหรับทำพิธีชักลาก 2 ลักษณะ คือ ลากพระทางบก กับลากพระทางน้ำ

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลสรุปได้ว่า การชักพระคือประเพณีท้องถิ่นของชาวพุทธในภาคใต้ เป็นการทำบุญในวันออกพรรษา สืบทอดมานานแต่โบราณกาล เชื่อกันว่าครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระมารดาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เมื่อครบพรรษาแล้วเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ก็เป็นวันออกพรรษา ตรงกับแรม 1 ค่ำเดือน 11 พอดี

หลังจากนั้นพุทธศาสนิกชนได้อัญเชิญพระพุทธองค์ ขึ้นประทับบนบุษบกแล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับ และเมื่อเลยพุทธกาลมาแล้วมีพระพุทธรูป พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปยกแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ ซึ่งหลายจังหวัดในภาคใต้ต่างจัดงานชักพระและมีตำนานเล่าขานแตกต่างกันไป และมีประเพณีเฉพาะถิ่นของตน แต่ยังคงคล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างเช่น

ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วน จังหวัดกระบี่ ระบุไว้ว่า การชักพระเป็นประเพณีพราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมา สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ที่นิยมนำเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา

ตามพุทธตำนานว่า หลังจากพระพุทธองค์เสด็จมาถึงในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนที่ทราบได้มารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่น พร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วยเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่โกลาหล จึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้โยนไปบ้าง ปาบ้าง แล้วต่างไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น เหตุนี้จึงเกิดประเพณี “ห่อต้ม” และ “ห่อปัด”

เทศบาลนคร สงขลา ก็จะใช้ชื่อการจัดงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว อาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือ รถ หรือล้อเลื่อน แล้วแห่แหนชักลากไปตามลำน้ำหรือตามถนนหนทาง แล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเหมาะแก่การลากประเภทใดมากกว่ากัน โดยงานบุญลากพระจะมุ่งขอฝนเพื่อทำการเกษตร จนเกิดเป็นคติความเชื่อว่าการลากพระทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม ประเพณี “ชักพระ” หรือ “ลากพระ” ยังถูกจัดขึ้นในอีกหลายจังหวัด ซึ่งได้รับความนิยมในภาคใต้ และเป็นงานบุญใหญ่ที่สำคัญและสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวต่อเนื่องไปได้ อย่างในปี 2566 นี้ จังหวัดสงขลากำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2566

จังหวัดสุราษฎร์ธานีใช้ชื่องานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า ที่อำเภอเกาะสมุย ประกวดเรือพระบก เรือพระน้ำ ตลอดจนกิจกรรมการท่องเที่ยว (เที่ยวเมืองร้อยเกาะ เลาะคลองร้อยสาย ไหว้พระร้อยวัด มหัศจรรย์วันเดียว) ในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 นี้