วิภา สุเนตร ประธานหอการค้าตราด ชู “SEZ ตราด” 3 หมื่นไร่ สู่ “เมืองสุขภาพ”

วิภา สุเนตร
สัมภาษณ์

ด้วยประสบการณ์ ในฐานะผู้บริหาร “บ้านปูรีสอร์ต” อ.เมือง จ.ตราด กับรางวัล “นักธุรกิจสตรีดีเด่น” หอการค้าไทย ปี 2565 และบทบาทเลขาธิการหอการค้า จ.ตราด 2 สมัย

ทำให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทพญ.วิภา สุเนตร ได้รับเลือกเป็น “ประธานหอการค้า จ.ตราด คนใหม่” (ปี 2566-2567) ถือเป็นผู้นำหญิงคนแรกของหอการค้า จ.ตราด ที่จัดตั้งมา 38 ปี “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ถึงการขับเคลื่อนองค์กรและเป้าหมายการผลักดันเศรษฐกิจ จ.ตราด

จัดองค์กรรับยุทธศาสตร์ดัน YEC

ทพญ.วิภา สุเนตร กล่าวว่า คณะกรรมการหอการค้าชุดใหม่ ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์หอการค้า จ.ตราด ปี 2566-2567 คือ “เป็นองค์กรภาคเอกชนในฐานะผู้นำที่ได้รับการยอมรับและมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” และวิสัยทัศน์ เป็นองค์กรภาคเอกชนในฐานะผู้นำ ที่ได้รับการยอมรับและมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โดยมีพันธกิจ 5 ข้อ คือ 1) สร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เข้มแข็งมั่งคั่ง และยั่งยืน 2) สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชน 3) สร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้

4) พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดตราดให้เติบโต ตามแนวทาง BCG และ 5) รับผิดชอบสังคมอย่างเหมาะสมและมีคุณธรรม ทั้งนี้ การทำงานจะเดินตามยุทธศาสตร์ 5 ปี กำหนดเป้าหมายระยะสั้น 2 ปี ระยะกลางมากกว่า 2 ปี

คณะกรรมการแบ่งการทำงานเป็น 14 คณะ เพื่อรองรับภารกิจต่าง ๆ อย่างชัดเจน สอดคล้องกับหอการค้าไทยและขับเคลื่อนงานได้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญ การบริหารองค์กรจะไม่ยึดติดกับตัวบุคคล หรือตัวประธานหอการค้า หอการค้าทำงานควบคู่ผสมผสานไปกับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) เป็นภารกิจสร้างคนรุ่นใหม่ YEC ให้เข้ามามีบทบาท มีกิจกรรมร่วมกับหอการค้า โครงการสำคัญ ๆ ที่ผ่านมาเห็นถึงความมีพลัง ความเข้มแข็ง มีไอเดียสร้างสรรค์ ช่วยให้งานสมบูรณ์ มีภาพลักษณ์ออกมาดี

Advertisment

ของบฯรัฐขับเคลื่อนหอจังหวัด

ประธานหอกล่าวว่า การทำงานร่วมกับภาครัฐ การสานต่อโครงการเก่า โครงการใหม่ บางครั้งมีปัญหางบประมาณ ทำให้โครงการดำเนินการต่อไม่ได้ เตรียมนำเสนอที่ประชุมหอการค้าภาคตะวันออกเร็ว ๆ นี้ 2 เรื่อง คือ 1) ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณหอการค้าจังหวัดผ่านหน่วยงานภาครัฐ เป็นประจำทุกปี เพื่อขับเคลื่อนองค์กร เช่น ทำกิจกรรม อบรมพัฒนาบุคลากร หรือทำการศึกษาโครงการที่จะสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่

2) เน้นการใช้แอปพลิเคชั่น Traffy Fondue เพื่อเป็นช่องทางในการรับปัญหาจากประชาชน โดยบูรณาการทุกหน่วยงานให้จัดการปัญหาได้ มีศูนย์ส่วนกลางกำกับดูแล และใช้ประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาเป็นตัวชี้วัด (KPI) ของหน่วยงานราชการ

Advertisment

นอกจากนี้ มีโครงการ หอการค้า จ.ตราด ขับเคลื่อนเสนอผ่าน กรอ.จังหวัด และหอการค้าไทย เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของ จ.ตราด ด้านการค้า การลงทุน การค้าชายแดน ด้านเกษตรและอาหาร และด้านท่องเที่ยวบริการ ที่จะเสนอในที่ประชุมภาคตะวันออก

คือ 1) การใช้ประโยชน์จากท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด 2) การใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) จังหวัดชายแดนติดประเทศกัมพูชา และ 3) การยกระดับด่านชายแดน จุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง อ.บ่อไร่ จ.ตราด เป็นจุดผ่านแดนถาวร และช่องทางธรรมชาติบ้านท่าเส้น อ.เมืองตราด จ.ตราด เป็นจุดผ่อนปรนพิเศษ และ 4) เร่งรัดโครงการขยายเส้นทางถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ระยะที่ 2 จาก จ.จันทบุรี-ตราด

ท่าเทียบเรือ

ชงใช้งานท่าเรือคลองใหญ่

ปัจจุบันท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมธนารักษ์ และอยู่ระหว่างการสรรหาผู้บริหารจัดการท่าเรือ การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้มีการทดสอบความสนใจ และรับฟังความคิดเห็นไปถึง 2 ครั้ง เห็นว่าควรใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว ต่างจากจุดประสงค์เดิมใช้ในการขนถ่ายสินค้า

เพื่อให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง หอการค้า จ.ตราดเสนอ 4 แนวทาง คือ 1) ใช้เป็นท่าเทียบเรืออเนกประสงค์สำหรับการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและประเทศใกล้เคียง 2) สนับสนุนการเดินเรือข้ามพรมแดน (cross-border ferry) 3) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดตราด หรือเอกชน เป็นผู้บริหารจัดการ และ 4) การยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าของกรมธนารักษ์

“ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่จังหวัดสีหนุวิลล์จนถึงจังหวัดเกาะกง ได้มีการสร้างถนนเชื่อมโยงกันใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก ท่าเรือคลองใหญ่สามารถพัฒนาเป็น hub ท่าเทียบเรือสำหรับการท่องเที่ยว เชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปเกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูดของ จ.ตราด

และหอการค้าร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตราด ได้เสนอผลักดันเป็น one stop service ที่มีทั้ง ตม. ด่านศุลกากร ยกระดับเป็นด่านท่าเรือสากลทางทะเล จะเกิดธุรกิจต่อเนื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการซ่อมบำรุงเรือ สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ธุรกิจเรือยอชต์”

ใช้บัตรประชาชนข้ามแดน

ศักยภาพของ จ.ตราด ด้านชายแดนติดกับ 3 จังหวัดของกัมพูชา เกาะกง พระตะบอง โพธิสัต แต่มีด่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ แห่งเดียว ช่วงก่อนโควิด-19 มูลค่าการค้าปีละ 30,000 กว่าล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 20,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดตราด

หอการค้าได้เสนอ 2 ประเด็น คือ 1) ขอยกระดับจุดผ่อนปรนการค้า บ้านมะม่วง อ.บ่อไร่ -อ.สำรูด จ.พระตะบอง เป็นจุดผ่านแดนถาวร และขอยกระดับจุดผ่านแดนชั่วคราว บ้านท่าเส้น อ.เมืองตราด-ต.ทะมอดา อ.เวียลเวียง จ.โพธิสัต เป็นจุดผ่อนปรนพิเศษ

และ 2) การใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว หรือใช้บัตรประชาชนใบเดียว เดินทางเข้า-ออกไทย-กัมพูชา บริเวณจุดผ่านแดนถาวร เพื่อส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนทั้ง จ.ตราด จ.จันทบุรี และ จ.สระแก้ว ซึ่งหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกได้นำเสนอหอการค้าไทยพิจารณา และ กรอ.จ.ตราดได้ส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาด้วย ส่วนการขอหนังสือผ่านแดนชั่วคราว โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว เป็นการอำนวยความสะดวก ส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว

ดัน ต.คลองใหญ่เมืองสุขภาพ

ทพญ.วิภาทิ้งท้ายในมุมมองการทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ตราด ว่า SEZ ตราด ครอบคลุมพื้นที่ อ.คลองใหญ่ 3 ตำบล คือ ต.ไม้รูด ต.คลองใหญ่ ต.หาดเล็ก พื้นที่รวม 31,375 ไร่ ที่ผ่านมามีบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ประมูลลงทุนเช่าที่ราชพัสดุ ต.ไม้รูด ปี 2599 จำนวน 895-0-44 ไร่ คิดเป็น 2.8% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น ทั้งที่พื้นที่ที่ไม่ได้ประมูลมีอีก 30,000 กว่าไร่ ใน 3 ตำบลที่มีศักยภาพพัฒนา

เทรนด์โลกชัดเจนเรื่องท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness tourism) และเป็นเป้าหมายของ จ.ตราด ถ้าเราใช้ผลพวงของ SEZ ตราด พัฒนา ต.คลองใหญ่ ภายใต้แนวคิด “คลองใหญ่เมืองสุขภาพ” ด้วยความพร้อมที่มีโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นพื้นที่ที่อากาศดี อาหารอุดมสมบูรณ์ มีการออกแบบโครงสร้าง ปรับภูมิทัศน์เมือง ให้ผู้สูงวัยได้สัญจรอย่างสะดวก

เพื่อรับนักท่องเที่ยวผู้สูงวัยภายในประเทศที่เดินทางมาเป็นครอบครัว จะเดินทางท่องเที่ยวชายแดน เกาะต่าง ๆ ผู้สูงวัยเดินทางไปไม่สะดวกจะมาพักที่นี่

โดยสิทธิประโยชน์ของ SEZ เช่น การยกเว้นภาษี สิทธิประโชน์ของนักลงทุน การอำนวยความสะดวก การส่งเสริมร้านค้าดิวตี้ฟรี เพื่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ รองรับนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ และสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไป ต.ไม้รูด ที่มีกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล และ ต.คลองใหญ่ ที่มีท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ สามารถพัฒนาเป็น hub ท่าเทียบเรือสำหรับการท่องเที่ยวและด่านท่าเรือสากลทางทะเล

การพัฒนาถ้าเริ่มต้นจุดเล็ก ๆ ต่อเป็นจิ๊กซอว์ เชื่อมโยงพื้นที่ ต.ไม้รูด ต.หาดเล็ก เป็นโอกาสที่ จ.ตราดจะใช้ SEZ ตราด ให้เกิดประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องรอให้มีการลงทุนของบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ฯ ในทางกลับกันอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้บริษัทเห็นศักยภาพของพื้นที่ อ.คลองใหญ่