“โกลเด้นคอสเมติก” ตราด แชมพูปิดผมขาวรุกตลาดฮาลาล

Dr. Atthaphon.a
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) จำนวนมาก และไทยเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก ทุกวันนี้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ความงามที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.นพ.อัฐพล อรุณวุฒิพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเด้น คอสเมติก จำกัด จ.ตราด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอสเมติกหลากหลายภายใต้ 4 แบรนด์ “โคไซตี้ (KOCIETY) เกาเหลียน (KOREAN) โอนลี่ (ONLY) และคัลเลอร์คิวท์ (COLORCUTE) ถึงโอกาสในการขยายตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงการเปิดตลาดมุสลิม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของโลก

ชู 4 แบรนด์แยกตลาดชัดเจน

ดร.นพ.อัฐพลบอกว่า ที่ผ่านมาบริษัททำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลากหลายชนิดจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศ และส่งออกตลาดเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะเวียดนาม กัมพูชา และล่าสุดอินโดนีเซีย สัดส่วนตลาดต่างประเทศ 80% ตลาดภายในประเทศ 20% แต่ละแบรนด์จะแบ่งกลุ่มลูกค้า ตลาดจำหน่ายชัดเจน แบรนด์โคไซตี้ KOCIETY เป็นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skincare) กลุ่มลูกค้าเป้าหมายผู้หญิงอายุ 18-35 ปี วางขายในโมเดิร์นเทรด เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี และส่งออกกัมพูชา

Golden Cosmetics

มีชนิดสินค้าประมาณ 50 SKU, แบรนด์เกาเหลียน KOREAN สินค้าครีมบำรุงผิวหน้า กลุ่มลูกค้าเป็นผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ส่งออกเวียดนามเป็นหลัก มีชนิดสินค้าในแบรนด์นี้ 4 SKU แบรนด์โอนลี่ ONLY ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้า กลุ่มลูกค้าผู้หญิงอายุ 18-60 ปี ส่งออกไปกัมพูชา ชนิดสินค้ามี 2 SKU และแบรนด์คัลเลอร์คิวท์ COLORCUTE ผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว โปรดักต์แชมเปี้ยนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ชาย-หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป วางขายในโมเดิร์นเทรด เทสโก้โลตัส บิ๊กซี และส่งออกเวียดนาม และล่าสุดส่งออกไปอินโดนีเซีย ชนิดสินค้าในแบรนด์นี้มี 4 SKU

อินโดฯ OEM แชมพูปิดผมขาว

ตลาดอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่เป็นลูกค้ารายใหม่ มีการแข่งขันกันสูง โดยมีผู้ประกอบการไทย จีน เกาหลีเข้าไปทำตลาดอยู่แล้ว สินค้าจีนเน้นการทำตลาดเรื่องราคาไม่ใช่คุณภาพ ส่วนเกาหลีสินค้าคุณภาพดีเน้นกลุ่มพรีเมี่ยมราคาแพง สินค้าไทยมีข้อดี คุณภาพดีและราคาไม่แพงมากอยู่ระหว่างกึ่งกลางสินค้า จีน-เกาหลี และสินค้าไทยสร้างการรับรู้เรื่องคุณภาพจากการจัดงานแฟร์ในตลาดอาเซียนบ่อย ๆ สินค้าโปรดักต์แชมเปี้ยน ผลิตภัณฑ์ปิดผมขาวแบรนด์คัลเลอร์คิวท์ มีอัตราการเติบโตสูงกว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รับทำ OEM Haircolor ประมาณ 50-60%

ล่าสุดปลายปี 2566 ลูกค้าอินโดนีเซียสั่ง OEM สินค้าแชมพูปิดผมขาว (Color Cosmetics) มี 4 ชนิด คือ แชมพูปิดผมขาวสำหรับผู้หญิง-ผู้ชาย สีดำ-สีน้ำตาล บริษัทชูจุดเด่นสินค้าที่มีส่วนผสมจากน้ำมันอาร์แกน (Argan Oil) จากธรรมชาติที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นกับผิว มีความปลอดภัยกับเส้นผม ใช้เวลาพัฒนาสูตร 6-7 เดือนกว่าให้ลูกค้านำไปทดลองใช้และตอบรับ ทดลองส่งให้กับลูกค้าอินโดนีเซียลอตแรกไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 และมีการทำสัญญาซื้อ 3 ปี ตามเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างน้อยปีละ 4 ตู้ คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 5,760,000 บาท

Golden Cosmetics

“ตอนส่งสินค้าไปทดลองตลาดตู้แรกมีปัญหาการตรวจรับสินค้าตามมาตรฐานฮาลาล (Halal) ของอินโดนีเซีย ซึ่งต่างจากมาตรฐานของไทย รัฐบาลอินโดนีเซียจะประกาศใช้มาตรฐาน ตามพระราชบัญญัติการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล ปี 2569 ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ระหว่างนี้ยังผ่อนปรนให้ใช้ตามมาตรฐานเดิมที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2557 คาดว่าจะสามารถปรับมาตรฐานฮาลาลใหม่ตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะประกาศใช้ ได้ก่อนกำหนด

ซึ่งลูกค้าอินโดนีเซียพยายามจะดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน โดยลูกค้าอินโดนีเซียได้มาให้คำแนะนำ อบรมบุคลากร พนักงานแต่ละฝ่าย การใช้วัตถุดิบ เครื่องมือ โซนสถานที่ที่ผลิตสินค้าฮาลาล ที่ต้องแยกเฉพาะออกมา การจัดทำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องยื่นเอกสารทั้งหมดให้หน่วยงานภาครัฐประเมินรับรองมาตรฐานฮาลาล ก่อนที่จะมีการตรวจประเมินสถานที่ผลิต จึงจะได้รับการรับรองมาตรฐาน”

นอกจากนี้ ลูกค้าอินโดนีเซียมีออร์เดอร์ OEM สินค้าชิ้นต่อไป คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skincare) ครีมบำรุง และมาส์กหน้า โจทย์ที่ได้รับมาคือต้องพัฒนาให้มาตรฐานเทียบเท่าสินค้าแบรนด์ดังของประเทศฝรั่งเศส ตอนนี้อยู่ระหว่างคุยกันด้านปริมาณการผลิต ราคา และต้องมีการพัฒนาสูตร ทดลอง เก็บข้อมูล มาปรับปรุง น่าจะใช้เวลา 1-2 ปี ถ้าโปรเจ็กต์สินค้านี้สำเร็จจะทำให้ยอดขายเติบโต 2-3 หลักทีเดียว

บุกตลาดเครื่องสำอางฮาลาล

ดร.นพ.อัฐพลกล่าวว่า ตลาดแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่งออกโดยตรง 60% และการผลิต OEM ส่งออก 20% และตลาดภายในประเทศ 20% ทั้งนี้ ช่วงปี 2565-2566 ยอดขายสินค้า มูลค่า 30 ล้านบาท อัตราการเติบโตเท่าเดิม เพราะยอดส่งออกเวียดนามลดลงไป 10% และยอดส่งตัวแทนส่งออก ลาว กัมพูชาลดลง

แต่ได้ตัวเลข OEM ของอินโดนีเซียมาเพิ่มยอดได้ช่วงปลายปี 2566 ซึ่งข้อดีการทำ OEM ไม่ต้องทำตลาดเองและไม่ยุ่งยาก แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นเรื่องกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานจริง ๆ ปี 2567 อัตราการเติบโต คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% จากยอดขาย OEM ไปอินโดนีเซียที่ทำสัญญาไว้ อย่างไรก็ตามปี 2567 และปี 2568 จะมุ่งเน้นทำตลาดเครื่องสำอางในกลุ่มฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่

Golden Cosmetics

อินโดนีเซียเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจมาก ประชากรอินโดนีเซียมี 270-280 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลาม 90% เป็นตลาดค่อนข้างใหญ่มีศักยภาพ ประชากรมีกำลังซื้อ GDP ของอินโดนีเซียเติบโต 5-6% ต่อเนื่องในช่วง 10 ปีสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน เทียบกับ GDP ของไทยโต 2-3% และถ้ามองตลาดฮาลาลในโลกมุสลิมมีประชากรกว่า 2,000 ล้านคน

เฉพาะอินโดนีเซียเพียงแค่ 10% ยังมีมาเลเซีย และตะวันออกกลาง มีช่องว่างจะทำตลาดได้อีกมาก เพราะมีคู่แข่งน้อย แต่ต้องพัฒนามาตรฐานฮาลาลให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศลูกค้า หากรัฐบาลมีแผนพัฒนาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาล สร้างการรับรู้ ไทยจะเป็นฮับเครื่องสำอาง โอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะทำตลาดมุสลิมที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ได้ก่อน

“ปี 2567-2568 ยังโฟกัสเครื่องสำอางฮาลาล แต่ตลาดภายในประเทศได้พัฒนาโปรดักต์สินค้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อทำตลาด ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ปีนี้ คือ ครีมเปลี่ยนสีผมเป็นสีแฟชั่นกำลังพัฒนาสูตร ทำ OEM ให้ลูกค้ารายหนึ่งที่ตกลงซื้อขายกันแล้ว และกลางปีนี้ผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้า Skincare มาส์กหน้ากัญชง แบรนด์ Kociety จะออกวางตลาด ที่ผ่านมามาส์กหน้าตลาดตอบรับดีอยู่แล้ว

และตัวนี้มีการพัฒนาและบรรจุภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องออกวางตลาด จริง ๆ ทำมาตั้งแต่ตอนตลาดกำลังบูม ช่วงพรรคภูมิใจไทยเป็นรัฐบาล ตอนนี้กระแสตลาดเปลี่ยนไปมาก พ.ร.บ.กัญชงกัญชาของประเทศไทยยังไม่ออกมา ผู้ประกอบการที่ทำสินค้ากลุ่มนี้ชะลอดูเรื่องกฎหมายอยู่ จากนั้นต้องรอดูกระแสตอบรับ มาส์กหน้ากัญชง เป้าหมายเน้นขายในเมืองไทยและในอาเซียน แต่การส่งต่างประเทศยังมีข้อจำกัดของกฎหมาย และอย่างอินโดนีเซียเป็นข้อจำกัดทางศาสนาไม่ผ่านมาตรฐานฮาลาล”