ตั้งวอร์รูมเกาะติดสู้รบเมียนมา รบ 8 วันค้าชายแดนสูญ 7 พันล้าน

สถานการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลทหารเมียนมา กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วย กองทัพอาระกัน (AA)-กองทัพคะฉิ่น (KIA)-กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพโกก้าง (MNDAA) ได้เปิดปฏิบัติการ 1027 ในปลายเดือนตุลาคม 2566 สู้รบกับทหารรัฐบาลเมียนมาในพื้นที่รัฐฉาน-รัฐยะไข่ ภาคใต้ของรัฐชิน และนำมาซึ่งชัยชนะด้วยการยึดเมืองที่เคยตกอยู่ในการควบคุมของทหารเมียนมากลับคืนมาได้เป็นจำนวนมาก

ล่าสุดได้เกิดการสู้รบระหว่าง ทหารเมียนมา กับฝ่ายทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีการสู้รบกันอย่างหนักในต้นสัปดาห์นี้ โดยมีรายงานข่าวเข้ามาว่า

ทหารกะเหรี่ยง KNU และ PDF สามารถบุกเข้ายึด กองบัญชาการยุทธวิธีและค่ายทหารเมียนมา 7 แห่งที่ เมืองเมียวดี ได้แล้ว ส่งผลให้สถานการณ์ชายแดนด้าน อ.แม่สอด เกิดความตึงเครียดขึ้นมาทันที และนำไปสู่การเรียกประชุมของนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ตั้งคณะทำงานติดตามใกล้ชิด

วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ในเมียนมา โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมมีมติให้ตั้ง “คณะทำงาน” ให้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบหลัก มีเลขาธิการสำนักงานความมั่นคงฯร่วมด้วย

“สถานการณ์ในเมียนมามีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก การทำงานด้านนโยบายเมียนมาก็เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของเมียนมา เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ การประชุมครั้งนี้ไทยพร้อมประสานและส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาโดยเร็วที่สุด และจะให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ และพร้อมดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ รวมถึงการค้าชายแดน” นายเศรษฐากล่าว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลกระทบการค้าชายแดนว่า ที่ผ่านมาบริเวณนี้มีความติดขัดเล็กน้อยในการขนส่งข้ามไปมา ปัญหาวันนี้ยังคงเป็นลักษณะแบบเดิม ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยประเด็นสำคัญคือ ติดขัดเรื่องรถขนส่ง ในขณะที่ภาคเอกชนยังมีการค้าขายอยู่ ได้สั่งการให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศติดตามประเมินสถานการณ์ใกล้ชิดตลอดเวลาแล้ว

ด้าน นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้รับรายงานจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (ทูตพาณิชย์เมียนมา) ว่า ด่านเมียวดี ยังเปิดให้บริการสามารถขนส่งนำเข้า-ส่งออกได้ปกติ แต่อาจมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์

หากเกิด Worst Case ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ หลายธุรกิจได้เตรียมการขนส่งผ่านด่านหรือเส้นทางอื่น ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากด่านแม่สอด-เมียวดี เช่น ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก, ด่านระนอง-เกาะสอง, ท่าเรือแหลมฉบัง หรือด่านอื่น ๆ เป็นทางเลือกเพิ่มเติมไว้ก่อนหน้านี้ด้วยแล้ว

สำหรับการค้าระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา ล่าสุดในเดือน ม.ค.-ก.พ. 67 มีมูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 3.74% และมีการนำเข้าสินค้าจากเมียนมาคิดเป็นมูลค่า 1.66 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 11.61% โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าเมียนมา 8,305 ล้านบาท

ด่านศุลกากรเมียวดียังเปิดอยู่

ด้าน นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากเกิดสถานการณ์สู้รบกันขึ้นที่เมืองเมียวดี ว่า มีการตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่งยืนยันว่า ด่านศุลกากรทางฝั่งเมียวดียังคงเปิดให้บริการ แต่รถขนส่งสินค้าบางตากว่าทุก ๆ วัน การสัญจรไป-มาระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

จะมีเพียงประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเมียวดีที่พอมีฐานะดี หรือมีญาติสนิทอยู่ที่แม่สอด บางส่วนได้มีการข้ามแม่น้ำเมยเข้ามาอาศัยอยู่ตามบ้านญาติ และบางส่วนก็มีการเริ่มเก็บทรัพย์สินสำคัญ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้เท่านั้น

มีรายงานข่าวจากเมียนมาแจ้งว่า ขณะนี้อาจจะมีการเจรจากันระหว่างกองกำลังฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา จึงยังคงมีการคุมเชิงกันอยู่และคงต้องรอดูเหตุการณ์ว่า จะมีการบานปลายต่อไปกว่านี้อีกหรือไม่

นักลงทุนหันหนี

รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในเมียนมาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี นับตั้งแต่ทหารเมียนมาได้ทำการยึดอำนาจมาจากรัฐบาล ส่งผลต่อการลงทุนภายในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนในส่วนของนักลงทุนจากชาติตะวันตกอย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป ลดลงต่อเนื่อง

ข้อมูลอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2566 จำนวนนักลงทุนที่เข้าไปมีทั้งหมด 13.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเบอร์ 1 เป็นนักลงทุนจากจีน มูลค่าลงทุน 8.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 61% รองลงมายังเป็นประเทศในเอเชียอย่าง สิงคโปร์-ไต้หวัน ส่วนนักลงทุนสหรัฐ มีสัดส่วนเพียง 4.41% คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 0.6 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

และข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมียนมา ส่วนใหญ่เป็น สิงคโปร์ จีน และไทย โดยลงทุนในสาขาธุรกิจผลิตไฟฟ้า 28.50% รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 24.45% และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม 14.42%

ล่าสุดมีการถอนการลงทุนจากนักลงทุนสหรัฐ โดยบริษัท เชฟรอน ที่เข้าไปลงทุนก๊าซธรรมชาติในโครงการยาดานา ที่เมียนมา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 มีผลทำให้เหลือเพียง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ที่เป็นนักลงทุนไทยที่ยังคงถือหุ้นอยู่ 62%

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีนักลงทุนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงอยู่ อาทิ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) ผ่านบริษัท Brighter Energy (BR) ถือหุ้นเพียง 35% เน้นธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บปิโตรเลียม ห้างแม็คโครเข้าไปลงทุนเปิดสาขาในย่างกุ้ง เมื่อปี 2563 ภายใต้การบริหารของ Aro Company Limited นอกจากนี้ก็มีกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ที่เข้าไปขยายการลงทุนในเมียนมา

ผลจากการลงทุนที่ชะลอตัวลงทำให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่เคยโต 6.8% ในปี 2019 ลดลงมาเหลือ 3.2% ในปี 2020 และติดลบ 17.9% ในปี 2021 ก่อนที่จะเริ่มติดลบลดลงเหลือ 0.06% ในปี 2022 จึงคาดการณ์ว่าปี 2023 GDP เมียนมายังคงเป็นบวก 2-3%

ส่วนปีนี้รัฐบาลเมียนมาได้เร่งเครื่องการลงทุนเต็มที่ โดยในการประชุม คณะกรรมการการลงทุนเมียนมา ครั้งที่ 1/2024 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา พลเอก เมียะ ทุน อู ประธานคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา ได้อนุมัติทุนการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจการก่อสร้างและพัฒนาที่อยู่อาศัย และธุรกิจบริการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 814.4 ล้านบาท สร้างงาน 392 คน

ซึ่งหากตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์เมียนมาระบุว่า ในปีงบประมาณ 2566-2567 (เม.ย. 66-ก.พ. 67) การส่งออกสินค้าที่ผลิตในเมียนมามีมูลค่า 8.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.975 พันล้านเหรียญ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่า 10.255 พันล้านเหรียญ

รบ 8 วันค้าชายแดนสูญ 7,000 ล้านบาท

นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ในฐานะที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมาเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนว่า ได้สร้างความเสียหายต่อการค้าชายแดนไปแล้วระหว่าง 6,000-7,000 ล้านบาท ในระยะสั้นการค้าชายแดนชะงักลงเล็กน้อย ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการชะลอขนส่งสินค้าในช่วงสงกรานต์ (ระหว่างวันที่ 10-20 เมษายน 66) แต่ประชาชนในพื้นที่ยังคงใช้ชีวิตอย่างปกติ

แต่หากสถานการณ์การสู้รบยังยืดเยื้อและเกิดความรุนแรงมากขึ้นจนทำให้มีการสั่งปิดด่านชายแดนแม่สอดก็จะกระทบต่อการขนส่งสินค้า เพราะผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนเส้นผ่านทางด่านชายแดนแห่งอื่น ๆ เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี, ด่านแม่สาย จ.เชียงราย และด่านเชียงของ จ.เชียงราย ทดแทนการขนส่งสินค้าผ่านด่านแม่สอด ซึ่งทำให้เกิดความลำบากในการขนส่งสินค้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่ง “ข้าวโพด” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ที่ไทยต้องนำเข้าจากเมียนมาก็จะปรับตัวลดลง และการนำเข้าสินค้าจากฝั่งไทยทำได้ยากก็จะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ประชาชนลดการจับจ่าย ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) ลดลง 17-18%

“ช่วงเดือนที่ผ่านมา ด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา 1-2 ก็ถูกวางระเบิดทำให้ได้รับความเสียหาย สินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างและอื่น ๆ หยุดชะงัก ผู้ประกอบการบางรายต้องเลือกวิ่งขนส่งสินค้าผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณ อ.แม่สาย, จ.กาญจนบุรี, จ.ระนอง แทน เพราะเป็นเส้นทางตรงไปสู่เมืองย่างกุ้ง ใกล้ที่สุดประมาณ 400 กม.

แต่การใช้เส้นทางนี้ก็จะถูกเรียกเก็บเบี้ยบ้ายรายทางสูงเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการเองยังมองว่า เป็นเรื่องปกติที่การค้าชายแดนจะชะงักลงเล็กน้อย ประชาชนในพื้นที่ยังคงใช้ชีวิตอย่างปกติ เพียงแต่ขณะนี้ทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายกลาโหม มหาดไทย ได้เข้าดูแลรักษาความเรียบร้อยและประสานงานบริเวณชายแดนอย่างต่อเนื่อง ส่วนทางจังหวัดเองก็พร้อมรับมือหากเกิดผลกระทบกับประชาชนฝั่งไทย” นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานจากด่านศุลกากรแม่สอดพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 การค้าชายแดนมีมูลค่ารวม 86,099.21 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนรวม 224,266.84 ล้านบาท หรือลดลง 138,167.63 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสูงสุดคือ น้ำมันดีเซล 1,632.31 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ โทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ 1,484.62 ล้านบาท และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 1,386.01 ล้านบาท