“แบงก์ชาติ” ชี้เผาป่ากระทบ นักท่องเที่ยวไทยลด-ต่างชาติชะลอ

pm2.5

นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคงอำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี ครั้งที่ 9 เรื่อง “ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจภาคเหนือ : พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตโลกแห่งความท้าทาย” จัดโดยธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ต้นเหตุหมอกควันจากภาคเกษตรยังเป็นส่วนสำคัญ จากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และอ้อย ในภาคเหนือตอนล่าง แต่ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเผาเพื่อล่าสัตว์และหาของป่า ที่สำคัญคือ ฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านมีมากขึ้น ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ปัญหาหมอกควันเริ่มรุนแรง จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และชาวต่างชาติชะลอลง คาดว่ารายได้ลดลงไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท

ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งงานวิจัยขององค์การอนามัยโลกพบว่า 5% ของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด และ 3% ของการเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคหัวใจและปอด ของประชากรทั่วโลกมีสาเหตุมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่าใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีอัตราการป่วยของประชากรในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น

pm2.5

ทั้งนี้ แนวทางสำคัญคือ ควรดึงชุมชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาให้มากขึ้นในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ป่ามีการ “ลักลอบเผา” จากหลายสาเหตุ การลงพื้นที่ศึกษาปัญหาร่วมกับชาวบ้าน ทำความเข้าใจว่าต้นเหตุมาจากปัญหาปากท้อง การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทำให้เกิดการเผาป่า หรือประเด็นการเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า จะช่วยวางแนวทางแก้ไขได้ตรงจุด

ขณะเดียวกันควรสนับสนุนให้ “จัดตั้งเครือข่ายภายในชุมชน” เพื่อร่วมมือกับภาครัฐในพื้นที่ ขับเคลื่อนสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากป่า โน้มน้าวให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของปัญหา หาทางออกที่สามารถแก้ไขต้นเหตุ ร่วมกันคิดแผนการใช้ประโยชน์จากป่า และการจัดการเชื้อเพลิงตั้งแต่ระดับหมู่บ้านให้เหมาะสม โดยภาครัฐจัดสรรงบประมาณและเครื่องมือสนับสนุน และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมภาคเอกชนให้มีส่วนร่วม สนับสนุนองค์กรเอกชน วิสาหกิจชุมชน ให้ดำเนินโครงการรับซื้อเศษวัสดุการเกษตร โครงการสร้างอาชีพ ฯลฯ สนับสนุนพลัง Social Movement เพื่อสร้างความตื่นตัวในสังคม ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง