เศรษฐาบินไปภูเก็ตพรุ่งนี้พร้อมพิจารณา “นครภูเก็ต” เป็นเขตปกครองพิเศษ เทียบอีอีซี

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

นายกฯเศรษฐาพร้อมพิจารณา “นครภูเก็ต” ยื่นเสนอเป็น “เขตปกครองพิเศษ” แต่ขอหารือทุกส่วนก่อน ด้านภูเก็ตตั้งความหวังรัฐบาลเร่งกระจายอำนาจ ยกร่างกฎหมายใหม่ขออำนาจเทียบอีอีซี

วันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 11.25 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในวันพรุ่งนี้ (19 เม.ย.)

โดยเทศมนตรีนครภูเก็ตเตรียมเรียกร้องขอให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือเมืองพิเศษ โดยนำร่องเฉพาะเขตเทศบาลนครภูเก็ตก่อน ว่ายังไม่ได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเมื่อได้รับแล้วก็จะพิจารณาและดำเนินการต่อไป ก็ต้องรวบรวมทุกความเห็นจากทุกภาคส่วนด้วย เพราะปัจจุบันนี้ตนเชื่อว่ารัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญกับจังหวัดภูเก็ตมาก เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่ในเรื่องการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางเทศบาลนครภูเก็ตได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องขอเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือ “เมืองพิเศษ” โดยขอนำร่องเฉพาะเขตเทศบาลนครภูเก็ตก่อน ไม่ได้ขอเป็นเมืองพิเศษทั้งจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากรูปแบบการปกครองปัจจุบันใช้ระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ เหมือนกันทั่วประเทศ

ขณะที่ความเป็นจริงทุกท้องถิ่นมีบริบทปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ขาดความคล่องตัว ขาดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา ขาดโอกาสในการพัฒนาเมือง เพื่อเป็นการแข่งขันกับเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ทั่วโลก ขณะที่เมืองท่องเที่ยวในหลายประเทศพัฒนาไปไกลมากแล้ว ภูเก็ตจึงเสียโอกาสในการแข่งขัน ถ้ายังใช้การบริหารราชการแบบเดิม ประกอบกับเรื่องการกระจายอำนาจถือเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเอาไว้ด้วย

การยื่นหนังสือครั้งนี้ เทศบาลนครภูเก็ตได้แนบข้อมูลที่ทำร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ทำการวิจัย โดยมีการสำรวจรวบรวมข้อมูลจากประชาชนโดยส่วนรวมแล้วมาตกผลึกเป็นแนวความคิดเดียวกันว่า ประชาชนอยากจะเห็นเทศบาลนครภูเก็ตถูกบริหารจัดการด้วยรูปแบบพิเศษ พร้อมรวบรวมประเด็นปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมดให้รัฐบาลพิจารณาเลือกแนวทางการบริหารจัดการได้

ด้วยการเสนอให้ยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา คือพระราชบัญญัติการบริหารราชการนครภูเก็ต พ.ศ. … รวม 156 มาตรา สรุปสาระสำคัญในการจัดตั้งนครภูเก็ตก็คือ เปลี่ยนเทศบาลนครภูเก็ต เป็น อปท. รูปแบบพิเศษเรียกว่า “นครภูเก็ต” มีนายกนครภูเก็ต มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

นอกจากนี้ ยังขอเพิ่มหน้าที่และอำนาจด้วยการออกกฎหมายอีก 17 ฉบับ ในการบริหารจัดการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ โดยนครภูเก็ตไม่ต้องไปขึ้นตรงหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงใด ๆ คล้ายกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. EEC) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการ EEC บริหารจัดการพื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา โดยขอ “ยกเว้น” ข้อกฎหมายบางอย่างเพื่อให้การขับเคลื่อนไม่ติดขัดข้อจำกัดของหน่วยงานอื่น

ได้แก่ 1) กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและลงทุน 2) กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว 3) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 4) กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง 5) กฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

6) กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 7) กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง 8) กฎหมายว่าด้วยโรงงาน 9) กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก 10) กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการจดทะเบียนรถยนต์ 11) กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำ

12) กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติ 13) กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการเมืองเก่า 14) กฎหมายว่าด้วยการจัดทำระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ 15) กฎหมายว่าด้วยการจัดทำจราจร 16) กฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบประชากรแฝง และ 17) กฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการใช้พื้นที่

“สาระสำคัญที่ขอยกเว้นก็คือ รูปแบบการจัดบริการสาธารณะ สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด สหการ และองค์การมหาชน เราขออำนาจในการบริหารจัดการเมืองคล้าย EEC เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาปัญหาบางเรื่องเราดำเนินการเองไม่ได้ ต้องไปผ่านหน่วยงานส่วนกลางของรัฐที่ลงมาอยู่ในพื้นที่ ทำให้ปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ต้องใช้เวลา บางครั้งปัญหาเดียวกัน ไม่ใช่จะสามารถแก้ปัญหาได้เหมือนกันทั่วประเทศ และปัญหามีหลายเรื่อง รวมถึงการกำหนดผังเมืองเอง ให้สอดคล้องกับบริบทของเมือง” นายสาโรจน์กล่าว

ส่วนที่ขอยกเว้นในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI นั้น ก็เพื่อที่จะให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับผู้ลงทุน เพื่อจูงใจ คล้าย ๆ กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แต่อาจจะไม่ต้องถึงขนาด BOI ทั้งหมด เพียงแต่ให้เรามีช่องทางในการจัดหารายได้เพิ่ม สามารถขับเคลื่อนเรื่องอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ส่วนรายได้ของ “อบจ.” ในเขตนครภูเก็ตทั้งหมด ขอให้เป็นของนครภูเก็ต

สำหรับจำนวน “คณะกรรมการกำกับนครภูเก็ต” จะมีสมาชิก 21 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้แทนกระทรวง/ทบวง/กรม หรือหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด 6 คน, ผู้แทนภาคเอกชน 7 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน มาจากคณะกรรมการสรรหา ดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี “เพื่อให้นครภูเก็ตสามารถแข่งขันกับเมืองสำคัญทั่วโลก แข่งกับเวลาที่ผ่านไป ปัจจุบันหลายประเทศพัฒนาไปไกลมากแล้ว ภูเก็ตเสียโอกาสในการแข่งขัน ถ้ายังใช้การบริหารราชการแบบเดิม ๆ” นายสาโรจน์กล่าว